วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผู้ว่าฯสตง.ลั่น สนามกีฬาส่อทุจริต 7 จว.

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

หลังจากที่ลานนาโพสต์นำเสนอข่าวการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง บนพื้นที่ราชพัสดุ ด้านหลังองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง   ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ทำข้อตกลงกับกรมทางหลวง วันที่ 18 มิ.ย.57  ให้ก่อสร้างสนามกีฬา 7 แห่ง โดยกรมทางหลวงมอบให้ศูนย์สร้างทางลำปางรับผิดชอบ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ จ.ลำปาง พบความผิดปกติในหลายประเด็น จากงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 107,944,000 บาท  กกท. โอนให้แล้ว 70,450,000 บาท  ซึ่งศูนย์สร้างทางลำปางเบิกไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท แต่มีปริมาณงานเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนั้น สตง.ยังได้มีการเข้าตรวจสอบสนามกีฬา จ.สกลนคร  เป็นอีกหนึ่งแห่งที่รับผิดชอบโดยศูนย์สร้างทางลำปาง และพบพิรุธจำนวนมาก  ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเหล็กเส้นที่สนามกีฬา จ.ลำปางอ้างว่านำมาฝากไว้ที่ จ.สกลนคร  เจ้าหน้าที่โยธาศูนย์สร้างทางลำปางกรมทางหลวง ยอมรับกับผู้ว่า สตง. ว่าได้นำไปก่อสร้างสระว่ายน้ำที่สนามกีฬา จ.สกลนคร   ขณะที่ สตง.พบหลักฐานการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2555-2558 รวมกว่า 150 ล้านบาท โดยศูนย์สร้างทางลำปางเบิกค่าจ้างจนถึงวันที่ 14 ธ.ค.59 เหลือเพียงกว่า 2 แสนบาทเท่านั้น  โดยมีค่าจัดซื้อวัสดุก่อสร้างกว่า 114 ล้านบาท แต่ปริมาณงานขณะนี้พบว่ามีค่าวัสดุรวมแค่ 25 ล้านบาท เป็นสาเหตุทำให้ส่งมอบสนามกีฬาแห่งนี้ไม่ทันวันที่ 30 ก.ย.58 ตามข้อตกลงที่การกีฬาแห่งประเทศไทย จ้างกรมทางหลวงก่อสร้างสนามกีฬา

นอกจากนั้นยังพบพิรุธจากค่างานถมดิน 17 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสนามเทนนิสและสระว่ายน้ำ มีผลทดสอบดินจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ว่าดินที่ใช้คล้ายกับดินจากบ่อน้ำที่อยู่ในบริเวณการก่อสร้าง ขณะเดียวกันวิศวกรที่ปรึกษาของการกีฬาแห่งประเทศไทย ยอมรับกับเคยเห็นมีการขุดดินจากบ่อน้ำแห่งนี้   อีกประเด็นคือ ค่าจ้างแรงงาน 345 คน เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาสกลนคร รวมกว่า 35 ล้านบาท สตง.สุ่มตรวจสอบแรงงาน 37 คน ตามรายชื่อที่เบิกจ่ายเงิน พบว่าทั้ง 37 คน ไม่เคยทำงานและได้รับเงินตามที่ถูกแอบอ้างชื่อ
           
ลานนาโพสต์ได้สอบถาม นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬา 7 แห่ง ที่รับผิดชอบโดยศูนย์สร้างทางลำปาง  ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า  เราได้ตรวจสอบไปทุกจังหวัดที่ศูนย์สร้างทางลำปางเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างสนามกีฬา ไม่ว่าจะเป็น นราธิวาส  สกลนคร  สระบุรี สระแก้ว  ได้ขยายผลออกไปหมด เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าทางหลวงชนบทรับทำงานนี้จริงหรือไม่   จากการตรวจสอบพบความผิดปกติทุกเรื่อง มีเหตุอันควรให้เชื่อว่าศูนย์สร้างทางลำปาง ไมได้สร้างสนามกีฬาด้วยตนเอง จากหลักฐานการจัดซื้อ ค่าแรง การเงินไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และยังมีข้อพิรุธอีกมากมาย เช่น จ่ายเงินไปจดหมด อ้างว่านำไปซื้อของ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วตอบไม่ได้ว่าของหายไปไหน  ซึ่งการจะดำเนินการเอาผิดนั้นตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน ซึ่งต้องรอเวลาระยะหนึ่ง

นายพิศิษฐ์  กล่าวต่อไปว่า  ส่วนที่ จ.ลำปาง พบความผิดปกติจากร้านค้าที่ซื้อ ต้องตรวจสอบว่ามีตัวตนหรือไม่ มีการซื้อหินซื้อทรายมาจาก จ.เชียงใหม่ ทั้งที่ จ.ลำปางก็มีขาย คนปกติคงไม่ทำอย่างนั้น นี่คือข้อพิรุธประเด็นหนึ่งที่เราตรวจพบ เมื่อตรวจสอบจังหวัดสองจังหวัดแล้วมีปัญหาเรื่องหลักฐานการเงินที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องขยายผลตรวจไปทุกแห่ง ซึ่งพบความเสียหายเกือบทุกแห่ง คืองานยังไม่เสร็จแต่เงินจ่ายครบ เหลือแค่เศษเงินนิดหน่อย  การก่อสร้างก็ยังทำแบบกะปริดกะปรอยไปเรื่อยๆ  ลองคิดดูว่าตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันนี้ มีจังหวัดไหนที่สนามกีฬาที่สร้างโดยศูนย์สร้างทางลำปางใช้ได้บ้างก็ยังไม่มี ถือว่าเป็นการสร้างสนามกีฬามาราธอน

“พอเข้าตรวจสอบของก็เริ่มโผล่ออกมา ตอนนี้ไม่มีการจ่ายเงินแล้ว เขาก็ต้องชดใช้โดยการทำให้ครบ ส่วนความผิดก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน เพราะไม่ใช่แค่จังหวัดเดียว  หากมองตามความเป็นจริงจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ศูนย์สร้างทางแห่งเดียวไปสร้างสนามกีฬาถึง 7 จังหวัด  อยู่ลำปางไปสร้างถึงสกลนคร นราธิวาส  สมุทรปราการ” ผู้ว่าการ สตง.กล่าว  

เมื่อสอบถามถึงเรื่องที่กรมทางหลวงแจ้งเหตุผลว่าทำไมถึงให้ศูนย์สร้างทางลำปางเป็นผู้ดำเนินการ    ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า  ทางกรมทางหลวงก็อาจจะมีการชี้แจงกับสังคมว่าศูนย์สร้างทางลำปางเก่ง มีเครื่องมือ มีคนงาน มีความสามารถมากมาย   ต้องถามกลับว่าทำไมไม่เอาเครื่องมือพวกนี้ไปทำถนน เอาถนนไปจ้างให้คนอื่นทำทำไม แต่ไปรับอาสาการกีฬามาทำสนามกีฬา ไปแย่งอาชีพผู้รับเหมาคนอื่นๆทำไม ทั้งที่หน้าที่หลักคือการก่อสร้างถนนหนทาง  แค่นี้ก็เห็นอยู่ว่ามีการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้บริหารระดับสูง จะมีเส้นสายนักการเมืองหรือไม่ทาง สตง.ต้องขอเจาะลึกก่อนว่าการกีฬากับกรมทางหลวงมาเจอกันได้อย่างไร กลายเป็นนวัตกรรมการการก่อสร้างสนามกีฬา เป็นสนามกีฬาทางหลวงไปแล้ว


สำหรับการก่อสร้างสนามกีฬา ในความรับผิดชอบของศูนย์สร้างทางลำปาง รวม  7 แห่ง ประกอบด้วย  สนามกีฬาจังหวัดลำปาง วงเงิน 107.9 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างได้ 9 เปอร์เซ็นต์  สนามกีฬาสกลนคร 150.9 ล้านบาทเศษ ก่อสร้างได้ 60.6 เปอร์เซ็นต์   สนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ 151.8 ล้านบาท ก่อสร้างแล้ว 78.9 เปอร์เซ็นต์  สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาส  177 ล้านบาท  ก่อสร้างแล้ว 48 เปอร์เซ็นต์ ศูนย์ฝึกกีฬาจังหวัดสระบุรี 161.8 ล้านบาทเศษ  และศูนย์ฝึกกีฬากอล์ฟสระบุรี 100 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 965 ล้านบาท  ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 847 ล้านบาท 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1121 วันที่ 17-23 มีนาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์