วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ช่วยกันต้านการซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

นับตั้งแต่โลกออนไลน์แผ่ขยายอิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้า เราต่างเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย แน่นอนว่าย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีมากมายตกไปถึงคนค้าขายแบบเต็ม ๆ ทว่ามันก็เป็นช่องโหว่ที่ไม่สามารถอุดได้โดยง่ายสำหรับรูปแบบการค้าที่ผิดกฎหมาย

อย่างกรณีการซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์ ที่สบช่องหลบหลีกจากการซื้อขายกันบนดิน มาอาศัยความสะดวก รวดเร็วจากโลกออนไลน์ ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง จึงพบว่าขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
เฟสบุกกลุ่ม “ซื้อ-ขายสัตว์แปลก ๆ น่ารัก ๆ” มีจำนวนสมาชิก 50,000 กว่าคน ซื้อขายกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ลักษณะการซื้อขายจะโพสต์บัตรประชาชนคู่กับสินค้า หรือบัญชีธนาคาร เพื่อยืนยันว่าตนเองนั้น มีตัวตนจริง ๆ

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลจากเดือนธันวาคม 2558 จนถึงเดือนเมษายน 2559 ระยะเวลา 5 เดือนพบการซื้อขายสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ทั้งสัตว์ป่าไทยและสัตว์ป่านำเข้าจากต่างประเทศ สัตว์ที่พบ ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น ลิ่น หมีควาย เสือลายเมฆ แมวดาว สุนัขจิ้งจอก ลิงลม นางอาย ส่วนจำพวกนกพบเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนกใกล้สูญพันธุ์อย่างแร้งเทาหลังขาว ที่นำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา นกกก นกหกใหญ่ นกเงือกหัวแรด นกเค้าจุด เหยี่ยวแดง เหยี่ยวขาว นกแสก นกแขกเต้า นกเค้ากู่ นกฮูก นกแก้วหัวแพร เหยี่ยวสีน้ำตาลท้องขาว และนกชนหิน รวมมูลค่าซื้อขายหลายหมื่นบาท

ไม่เพียงแต่พ่อแม่นกเท่านั้น ลูกนกชนิดต่าง ๆ ก็อยู่ในกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน หลังพบถูกนำมาขายในตลาดช่วงฤดูร้อนจำนวนมาก ซึ่งเป็นฤดูที่นกทำรังวางไข่ ชนิดที่พบมากที่สุด คือ ลูกนกเค้าแมว เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ป่าเชื่อว่า หากเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก ๆ สัตว์จะเชื่อง

ด้านนกชนหิน ซึ่งในระดับโลกถูกยกให้เป็นนกชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เฉพาะทางตะวันตกของรัฐกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย พบนกชนหินถูกล่ามากถึง 500 ตัว ต่อเดือน หรือราว 6,000 ตัว ต่อปี ส่วนประเทศไทยพบถูกล่าที่ป่าฮาลา-บาลา และแถบเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จากข้อมูลของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่เฝ้าติดตามการฟื้นฟูประชากรนกชนหินมาตลอด 30 ปีพบว่า นกชนหินฟื้นฟูตัวเองได้น้อย ตอนนี้ป่าฮาลา-บาลามีนกชนหินไม่ถึง 100 ตัว !

ทั้งนี้ มาจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าในประเทศจีน ที่ต้องการนำโหนกนกชนหินไปแปรรูปเป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ส่งผลให้ผู้ขายในประเทศไทยมีการโพสต์ขายจำนวนมาก ทั้งแบบเป็นตัวและเฉพาะส่วนหัว ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 พบซากหัวนกชนหินที่ถูกจับและยึดได้มีมากกว่า 2,000 หัว ทำให้สถานภาพนกชนหินถูกปรับแบบก้าวกระโดดจากใกล้ถูกคุกคาม เป็นใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับรวมพวกนกปรอดหัวโขน เหยี่ยวขาว เหยี่ยวนกเขาหงอน นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล นกเงือกหัวแรด นกปรอดแม่ทะ เหยี่ยวดำ นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา นกเขียวก้านตองใหญ่ นกกางเขนดง และอื่น ๆ นอกจากนี้ ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนายังระบุด้วยว่า จำนวนนกปรอดหัวโขนที่สำรวจพบระหว่างงานนับนกดอยอินทนนท์นั้น จากที่เคยพบเป็นร้อย ๆ ตัว เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบเพียง 7 ตัวเท่านั้น !

ผลสรุปจากการเก็บข้อมูลของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยทั้งหมด คือ 1. พบสัตว์ป่าถูกโพสต์ขายจำนวน 711 ครั้ง แบ่งเป็น 105 ชนิด จำนวน 1,396 ตัว 2. กลุ่มนก 74 ชนิด 3. กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25 ชนิด 4. กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 6 ชนิด 5. สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายอีกจำนวนหลายชนิด

ใช่เพียงเท่านี้ ยังมีกรณีเฟสบุกของคนนั้นคนนี้โพสต์ภาพสัตว์ป่าที่ล่าได้มาอวดกันอย่างภาคภูมิ ในการนี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว โดยระบุว่า การกระทำผิดดังกล่าวเป็นไปตามความผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จึงได้แจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก. ปทส.) และจะดำเนินการติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป


สำหรับใครก็ตามที่กำลังท่องโลกออนไลน์แล้วบังเอิญพบเห็นการซื้อขายสัตว์ป่า สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมอุทยานฯ 1362 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วน บก. ปทส. 1136 หรือทางเว็บไซต์ www.dnp.go.th และwww.nepolice.go.th/ช่องทางแจ้งเหตุ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1123 วันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์