วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

กดหัวหรือ คุ้มครองสื่อ คิดต่างอย่างเข้าใจ?

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ระเด็นโต้แย้ง เรื่องร่างพระราชบัญญัติ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่คุกรุ่นกันมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะในขณะที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสื่อ มีหลักประกัน มีสวัสดิการมีสวัสดิภาพ เป็นกฎหมายที่ช่วยดูแล สนับสนุนการทำงาน แต่ขณะเดียวกัน องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกว่า กฎหมายกดหัวสื่อ

ความหมายก็คือ การที่รัฐพยายามจะใช้กฎหมายที่มีลักษณะ “ควบคุมบังคับ” อันมีเนื้อหาเช่นเดียวกับกฎหมายยุคเผด็จการที่ยกเลิกไปแล้ว เช่น พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ปร.42) มากำกับการทำงานของสื่อ ซึ่งไม่มีประเทศเสรีประชาธิปไตย ประเทศไหน ที่ใช้กฎหมายลักษณะเช่นนี้

ความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้าน หรือสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดชัดเจน มีข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน  และเข้าใจพัฒนาการของกฎหมายฉบับนี้อย่างเพียงพอเลย ฝ่ายสนับสนุนก็อิงกับหลักคิดเชิงอุปถัมภ์ คือ ความเชื่อว่าเมื่อมีกลไกรัฐสนับสนุนการทำงานทั้งในแง่ของการใช้อำนาจ และเงินทองสนับสนุนจากรัฐ จะเป็นแรงจูงใจให้สื่อเห็นด้วย รวมทั้งมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ในเวลาที่ฝ่ายคัดค้านกฎหมาย ก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีเจตจำนงในการกำกับ ดูแลสื่อโดยอำนาจรัฐ แต่ก็ละเลยที่จะฟังเสียงสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบขององค์กรสื่อ ซึ่งด้านหนึ่งกลับมีเสียงสนับสนุนให้มีกฎหมายคุมสื่ออย่างเคร่งครัด และเห็นว่าการที่สื่อคัดค้าน เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ในอาชีพของตัวเอง

ผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อบางคน  ทุกครั้งที่อธิบายเรื่อง ร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อ ด้วยความที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ บริบท สภาพแวดล้อมของกฎหมาย ก็มักจะมีข้อสังเกตว่า เป็นกฎหมายที่พยายามซ่อนอำนาจการกำกับดูแลสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ คล้ายเป็นกฎหมายของรัฐที่ริเริ่มและต้องการคุม ต้องการกดหัวสื่อ โดยใช้ชื่อว่าการคุ้มครอง ทั้งที่เป็นการควบคุมสื่อ

ต้องเรียนรู้ และเข้าใจพัฒนาการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีทั้งหมด 6  ร่าง โดยที่ร่างแรก ซึ่งเป็น “สารตั้งต้น” ของทุกร่างที่ปรากฏต่อสังคมหรือที่ยังแอบซ่อนไว้ล้วนเป็นร่างที่ก่อเกิดมาจาก คณะทำงานยกร่างที่มาจากตัวแทน องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งสิ้น

ทั้ง 7 ร่าง ประกอบด้วย

1. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จัดทำโดยคณะกรรมการยกร่าง มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน

2. ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฏหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน ในคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เป็นประธาน
3. ร่างพระราชบัญญัติชื่อเดียวกับข้อ 2. ของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เป็นประธาน

4.ร่างพระราชบัญญัติชื่อเดียวกับข้อ 2.และ 3. ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน อันมีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน

5.ร่างพระราชบัญญัติชื่อเดียวกับข้อ 1. เสนอโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

6.ร่างพระราชบัญญัติสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีพล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง เป็นประธาน

ทั้ง 6 ร่างนี้ มีทั้งเนื้อหาที่ตรงและแตกต่างกัน  แต่เฉพาะฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับเจ้าปัญหา ที่ต้องว่ากันโดยละเอียดอีกตอนหนึ่ง 

     (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1122 วันที่ 24-30 มีนาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์