วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปลุกคนลำปางคืนถิ่น ดันจีดีพีแตะ 3 หมื่นล้าน

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เอสเอ็มอีแบงค์ไทย ปลุกกระแสคนลำปางคืนถิ่น เป็นพี่เลี้ยงกระตุ้นพลังหนุน ผู้ประกอบการใหม่รายเล็กพร้อมอัดเม็ดเงิน ตั้งเป้าดัน GDP ขยับ 3 หมื่นล้าน ประชารัฐลำปาง

ในงานสัมมนา แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดลำปาง “ก้าวอย่างไร ให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สู่ยุค 4.0” ร่วมกับ องค์กรรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรค ของ SMEs ในจังหวัดลำปาง มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงค์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในโอกาสมาร่วม ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการธนาคารและการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ส่วนหนึ่งที่พบในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการรายเล็กๆ คือการพัฒนาด้านความคิดและความรู้การเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการก่อนที่จะมองเรื่องของเงินหรือการลงทุน ซึ่งพบว่าเอสเอ็มอีบางราย มีความเข้มแข็งปรับตัวยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ บางรายก็ ล้มตายไปภายในระยะ ไม่เกิน 5- 10 ปี ขณะที่มีเอสเอ็มอีรายใหม่ๆที่ประสบความสำเร็จด้วยโครงการเล็กๆ แต่เติบโตจากแนวคิดและรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ

ทั้งนี้ได้ยกกรณีตัวอย่างธุรกิจกาแฟวาวี ที่เริ่มต้นด้วยการเปิดร้านกาแฟ และขายเรื่องราวมูลค่าของเมล็ดกาแฟ สร้างรายได้กลับสู่เกษตรกรและชุมชนผู้ปลูกกาแฟ ด้วยความคิดต่างและปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความทันสมัย เช่นเดียวกับธุรกิจ แพ 500 ไร่ เขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งเริ่มต้นจากการซื้อกิจการแพ เพียง 2 แสนบาท และกู้เงินลงทุน 1 ล้านบาท พัฒนารูปแบบของแพให้ทันสมัย ขายความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมีคุณภาพและใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการทำตลาด ขณะนี้ธุรกิจดังกล่าว เติบโตยั่งยืนและแบ่งปันแนวทางบริหารแก่เพื่อนธุรกิจเดียวกันให้โตตาม

ทั้งนี้ กรรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงค์แห่งประเทศไทยระบุว่า จากข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ลำปางมีประมาณ 30,000 ราย  ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ค่อนข้างต่ำ แต่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าลำปางมียอดเงินฝากในธนาคารมากกว่าหมื่นล้านบาท ดังนั้น หากกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือต่อยอดธุรกิจเดิมๆที่มีอยู่ให้กระเตื้องขึ้นอย่างเต็มที่ในระยะ 3 ปี หากแต่ละธุรกิจเพิ่มยอดขายได้ปีละ 1 ล้านบาท น่าจะช่วยเพิ่ม GDP ของลำปางไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบทได้ไม่ยากนัก โดยใช้จุดอ่อนที่เป็นจุดแข็งของลำปางในเรื่องของเมืองขนาดกลาง แต่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทำให้เชื่อมโยงธุรกิจการค้าได้ง่ายกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้หากกระตุ้นให้มีธุรกิจใหม่ๆ หรือยกระดับธุรกิจเดิมให้ทันสมัยขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเกิดการลงทุนใหม่ๆรวมๆกันแล้วประมาณ 1 พันล้านก็ ส่งผลให้เกิดกำไรหลักหมื่นล้านได้ในช่วง 3-5 ปี

"การจุดประกายธุรกิจที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้รายเล็กมีการลงทุนและเกิดธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้น จังหวัดลำปางต้องช่วยกันหาชุดเชื่อมระหว่างคนที่สำเร็จแล้วมาเป็นพี่เลี้ยงแนะนำให้กับกับคนที่กำลังจะทำธุรกิจรายใหม่ โดยเอาเรื่องของความภูมิใจหรือประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นมาเป็นจุดเชื่อมโยงให้คนลำปางที่ประสบความสำเร็จในต่างถิ่น กลับมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง เสือคืนถิ่น สิงห์คืนถ้ำ คล้ายกับโครงการคนกล้าคืนถิ่นที่ดึงคนรุ่นใหม่กลับไปเป็นเกษตรกร "

ในด้านของการสนับสนุนให้เกิดโครงการธุรกิจ SMEs ใหม่ๆ เอสเอ็มอีแบงค์แห่งประเทศไทย ก็มีโครงการกองทุน หนุน SMEs ตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท เพื่อจะผลักดันเศรษฐกิจในระดับฐานราก มุ่งเน้นเอสเอ็มอีภายในจังหวัด เป็นกองทุนดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นเพียงแค่ 1% ระยะเวลาคืน 7 ปี วงเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทต่อราย จนถึงโครงการใหญ่วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดเป็นประธาน รวมถึงมีผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นคณะกรรมการ และเอสเอ็มอีแบงก์เป็นเลขานุการในการพิจารณาคัดเลือก  ดังนั้นแนวทางนี้พลังของคนตัวเล็กในลำปางยังมีโอกาสอีกมากโดยเฉพาะในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปรรูปหรือเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวชุมชน ส่วนในระดับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยสนับสนุนเรื่องการประชาสัมพันธ์ปลุกกระแสธุรกิจและการท่องเที่ยวของคนท้องถิ่นใช้เครื่องมือการสื่อสารออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ควรจะมีแอพลิเคชั่นจังหวัด ให้คนที่เข้ามาติดตามช่องทางการซื้อหรือใช้บริการในธุรกิจถ้องถิ่นได้สะดวก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัดลำปาง รวมถึงองค์กรส่วนกลางอย่าง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมการค้าไทย ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจลำปางมีความเห็นตรงกันว่าลำปางขณะนี้มีแต่อุตสาหกรรมเซรามิค ไม้ และธุรกิจท้องถิ่นแบบเดิมๆเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน เกษตรและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ยังมีศักยภาพอีกมากแต่ขาดคนกล้าคิดทำและลงทุนในทิศทางที่ตรงกับความต้องการตลาดและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปมีความจำเป็นต้องช่วยกันกระจายข้อมูลปลุกกระแสการลงทุนขนาดเล็กให้เกิดขึ้นจริงเป็นงานที่ต้องช่วยกันทำทุกฝ่าย

นพดล ผดุงพงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำปาง

"ลำปางมีของดี หลายอย่าง เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ ยังมีศักยภาพอีกมาก ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ และการท่องเที่ยว ในภาคอุตสาหกรรมลำปางก็ยังทำแบบที่เคยมีเคยทำ ยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ  ในด้านเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่นสัปปะรด ในอนาคตเราคาดหวังว่า ลำปางเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ มีจุดศูนย์กลางรับซื้อผักเกษตรอินทรีย์  จุดอ่อนที่สุดคือ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ ให้คนรู้จักลำปางให้มากกว่านี้ โจทย์ใหญ่การมองกลับหัวทำในสิ่งที่คนไม่ทำ สิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไมได้ และการค้นหากุญแจเปิดประตูเมือง เปิดประตูเศรษฐกิจจากรายเล็กๆในชุมชนให้นำไปสู่กลไกลทางเศรษฐกิจของจังหวัด อาจจะต้องใช้เวลาแต่ในปีแรก(2560) ต้องทำเป็นโมเดล ศึกษา ค้นหาความต้องการของชุมชน แล้วเขาไปสนับสนุนเขาทำให้สำเร็จ"

อนุรักษ์ นภาวรรณ กรรมการบริหารอินทราเซรามิก อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง  “ผมเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาหนุนในเรื่องของทำช่องทางออนไลน์ หรือแอพลิเคชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ธุรกิจท้องถิ่น ที่ใช้งานได้จริง เพื่อเป็นช่องทางการส่งเสริมการตลาด หลังจากการคุยกันวันนี้ไปต้องทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งเพื่อให้มันมีผลต่อเนื่องไปอีก”

ขณะที่ นายสามารถ พุทธา กรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำปาง กล่าวว่า

“เรื่องที่พูดคุยกันในวงนี้ จะทำอย่างไรให้ลงไปสู่ฐานรากได้อย่างไร การจะดันอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ และมีต้นทุน การเข้าถึงแหล่งทุนที่มีอยู่นี้ได้จริง มีตัวกลางในการผลักดันการตลาด การสื่อสารในยุคที่ทันสมัย เป็นจุดอ่อนที่ต้องนำไปให้เขามีองค์ความรู้ รวมถึงการบริหารจัดการ  เช่นการเกษตรอินทรีย์ ต้องใช้ต้นทุนในการให้องค์ความรู้แก่เกษตรกร แต่การเป็นเกษตรกรเดิมเป็น สมาร์ทฟาร์ม ในระดับคนชั้นกลางต้องมองลงไปช่วย บริษัทประชารัฐต้องช่วยสร้างตลาดกลาง ระบบขนส่งรองรับ เช่นผัก งานวิจัยของพาณิชย์จังหวัดลำปาง การซื้อขายผักมูลค่าวันละ 9 แสนบาท แต่ผักทั้งหมดมาจากต่างจังหวัด เป็นผักอาบสารเคมี การสร้างโอกาสลงไปถึงระดับชุมชน ตำบล จะช่วยให้การขยับเศรษฐกิจฐานรากและเกิดผู้ประกอบการรายน้อยได้”

สุนทร คุณชัยมัง  ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ในฐานะคนลำปางด้วยเช่นกันผมมองว่า ผลงานที่ชาวบ้านระดับชุมชน ลุกขึ้นมาทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน เริ่มต้นจากเงินทุนกู้ยืม มาสร้างเสน่ห์ แล้วเอาความใหม่พลังโซเชียลมีเดียมาทำตลาดการท่องเที่ยวที่ขายความเป็นบ้านๆ ประสบความสำเร็จมาแล้ว ที่ราศรีสไล ก็ทำลักษณะเช่นเดียวกัน ลำปางมีคนเก่งเยอะมาก ก็มีของดี มีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวและวิถีเรียบง่าย ลำปงเป็นศูนย์กลางที่เดินทางเข้าถึงได้ง่าย มีประวัติศาสตร์ของความเป็นเมืองศูนย์กลาง ถ้ายุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 กำหนดให้เราเป็นศูนย์กลางก็เดินตามไปแต่ถ้า เราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ตรงไหน ทำอะไรในความเป็นเมืองศูนย์กลางเราก็หมดโอกาสที่จะก้าวไปกับยุค 4.0”

อิศรา ดิสรเตติวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเอสเอ็มอีไทย 


"ในฐานะคนลำปาง มองว่า ลำปางยังมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งที่ต้องกลับมาสร้างให้จุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็ง ด้วยการรวมเอาคนลำปางที่เก่งและประสบความสำเร็จแล้ว มาระดมสมอง แบ่งปันและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการพัฒนา ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความกล้าที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ เกิดธุรกิจใหม่ๆที่เติบโตไปพร้อมกับยุคดิจิทัล ใช้ความทันสมัยให้เกิดประโยชน์ในการสร้างพลังเศรษฐกิจในท้องถิ่น "


       (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1122 วันที่ 24-30 มีนาคม 2560)
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 มิถุนายน, 2566 09:20

    ที่ได้อ่านดูบทความนะครับการเกษตรมันทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คนคิด คอขวดมันอยู่ที่รัฐที่ดินไม่มีน้ำไม่มีจะให้ทำแต่เกษตรทั้งที่ทรัพยกรของคนลำปางมีมูลค่ามากมายกลับมาจริงจังส่งเสริมแค่เกษตรมันน้ำเน่ามากบอกให้

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์