วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

สรุปมาตรการใช้รถใช้ถนน แบบไม่งงเด้...ไม่งงเด้ (1)

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ผมสรุปสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวมาให้เข้าใจกันง่ายๆ ดังต่อไปนี้ครับ

* ให้ตำรวจมีอำนาจในการเคลื่อนย้ายรถ การจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด

นอกจากฝ่าฝืนกฎหมายจราจรแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เป็นเหตุให้รถติด เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งข้อกฎหมายใหม่นี้มีความเข้มงวดและจริงจังมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เครื่องมือไม่ให้รถคันดังกล่าวไม่ให้รถเคลื่อนย้ายได้ อาจใช้วิธีการล็อคล้อ หรือวิธีการอื่นที่ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด รวมถึงมีอำนาจเคลื่อนย้ายรถไปยังพื้นที่ที่ควบคุมดูแลใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ  

มาตรการดังกล่าว นับเป็นข้อดีที่ช่วยให้การจราจรมีระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายรถที่อาจขัดขวางการเดินรถทำให้การจราจรติดขัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่หากกระทำผิดต้องเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย ที่รถถูกเคลื่อนย้าย หรือใช้เครื่องมือไม่ให้รถเคลื่อนที่ (ล็อคล้อ) ตลอดจนค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน อีกทั้งเจ้าพนักงานจราจร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากความจงใจ หรือประมาท 

สรุป ถ้าเราจอดรถขวางการจราจร ในที่ห้ามจอด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเคลื่อนย้ายรถ หรือล็อคไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้ทุกเมื่อ และเจ้าของรถต้องไปเสียค่าปรับ ค่ายกรถ รวมถึงค่าดูแลรักษาด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่รับความผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จงใจหรือประมาท

* คนขับและผู้โดยสารทุกตำแหน่ง ต้องรัดเข็มขัด

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2557) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้มีความปลอดภัย ลดการสูญเสียได้มากที่สุด   โดยมาตรการใหม่นี้ได้ระบุไว้ว่า สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง (ตามตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งในรถคันดังกล่าว) ไม่ว่าจะเป็นคนขับ หรือผู้โดยสาร   หากเป็นรถโดยสารสารธารณะ รถตู้ รถแท็กซี หรือรถทัวร์ ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วยเช่นกัน โดยคนขับต้องแจ้งให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยก่อนออกรถ หรือจะต้องติดป้ายแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง   หากคนขับรถได้แจ้งไปแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตาม หรือปลดออกระหว่างทาง ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ ต้องถูกปรับทั้งคนขับและผู้โดยสาร ยกเว้นคนขับได้ยืนยันว่าบอกให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยไปแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ยอมคาด ทางคนขับจะไม่ถูกปรับ และปรับเฉพาะผู้โดยสาร   โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูที่เจตนาเป็นหลัก

ส่วนรถกระบะที่ติดตั้งหลังคาด้านหลังเพิ่มเติม ให้ดูว่ามีการจดทะเบียนไว้แบบใด มีกี่ที่นั่ง ก็ให้คาดเข็มขัดตามจำนวนที่นั่งที่ระบุไว้ ส่วนรถสองแถว ตามโครงสร้างรถไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ แต่จะใช้มาตรการอื่นควบคุมดูแลกันต่อไป   สำหรับค่าปรับ หากเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกตรวจพบ ผู้ประกอบการถูกปรับ 50,000 บาท คนขับและผู้โดยสารปรับ 5,000 บาท แต่หากเป็นกฎหมายตาม พรบ. จราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนจับกุม รถโดยสารสาธารณะจะถูกปรับ 1,000 บาท ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลปรับ 500 บาท 

สรุป คนขับและผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดทุกที่นั่ง ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสาร เช่น รถตู้ โดยดูที่หนังสือจดทะเบียนรถเป็นหลัก ถ้านั่ง 5 คน ก็ต้องรัด 5 ที่นั่ง ตามมาตรฐานการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยของรถรุ่นนั้นๆ เว้นแต่รถสองแถว ต้องใช้มาตรการอื่นดูแล

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1126 วันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์