วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

อาถรรพ์เมืองเขลางค์

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

ถึงวันนี้ การก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ยังคงเป็นพิมพ์เขียว ที่ยังมองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาว่าเป็นอย่างไร ถ้าโทษว่าเป็นอาถรรพ์ของพื้นที่ที่เดิมเป็นป้าช้าเก่า จนทำให้ไม่สามารถสร้างได้สำเร็จ ก็เป็นเหตุผลที่ดี ไม่ต้องมาถกเถียงกันให้ยาวความ

แต่ถ้าจะถามความรับผิดชอบ นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร ที่อยู่ในตำแหน่งมาตลอดระยะเวลาก่อสร้าง ควรต้องรับผิดชอบในความล่าช้า และการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลที่ต้องไปจ่ายค่าเช่าอาคารนานนับสิบปีหรือไม่

ปัญหาการยกเลิกสัญญา หาผู้รับเหมาใหม่ ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการประมูลงานทั่วไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แก้ปัญหาได้ ตัดสินใจได้ที่จะตัดตอน เร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาช่วงรายใด

แต่คล้ายไม่มีการบริหารจัดการ ปัญหาก็วนไปวนมา เหมือนเดินขึ้นเขาวงกต จนแทบจะพูดได้ว่าในขนาดของงานก่อสร้างเช่นนี้ คงไม่มีที่ใดอีกแล้วในประเทศไทย ที่จะใช้จ่ายเวลาสิ้นเปลืองขนาดนี้ ยกเว้นสถานที่ที่มีการทุจริต คอรัปชั่น จนมองไม่เห็นฝั่งว่าจะเริ่มต้น ลงท้ายอย่างไร เช่น กรณีการสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง และอีก 6 จังหวัด

“ม้าสีหมอก” เคยไปเยือนอิตาลี ที่นั่นมีหอเอนเมืองปิซา หรือ Learing tower of Pisa 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หอเอนปิซา ใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวม 177 ปี ถ้าเทศบาลเขลางค์ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ปล่อยให้การก่อสร้างอาคารสำนักงานเดินไปเรื่อยๆตามธรรมชาติ เวลาก็อาจถอยๆไปเรื่อยๆ ตามแรงเฉื่อยชาของผู้บริหารเทศบาล ในที่สุดเราอาจมีอาคารเทศบาล 200 ปี ทำลายสถิติโลก เป็นที่เชิดหน้าชูตาคนลำปาง อีกเรื่องหนึ่งก็ได้

น่าเสียดาย ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอุ้มผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นไว้ ไม่มีการเลือกตั้ง ผู้บริหารชุดเก่าก็ตีตั๋วต่อ เป็นกำไรชีวิต แต่เทศบาลเขลางค์ขาดทุน ที่สูญเสียโอกาสเลือกคนดี มีความสามารถ เข้ามาแก้ปัญหาอาคารสำนักงานเรื้อรัง

 “ลานนาโพสต์” ได้ติดตามข่าวการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่เทศบาลเมืองเขลางค์นครอย่างต่อเนื่องปี 2560 นี้ ได้เข้าสู่ปีที่ 9 ของการดำเนินการตั้งแต่การจัดซื้อที่ดินจนไปถึงการก่อสร้างอาคารสำนักงานในปัจจุบัน พูดง่ายๆว่าเกือบทศวรรษจัดเป็นมหากาพย์ได้เลย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การก่อสร้างสำนักงานแห่งนี้ผ่านอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องผู้รับชุดแรกที่ลงเสาเข็มไม่ถูกสเปค ก็เป็นเรื่องเป็นราวฟ้องร้องกันไป พอมาถึงผู้รับเหมาชุดต่อมามีคนงานเข้ามาทำการก่อสร้าง ดูท่าทีว่าน่าจะดีแต่การก่อสร้างก็คืบหน้าน้อยมาจนสุดท้ายแรงงานก็มีประท้วงว่าไม่ได้ค่าแรง ทั้งที่เทศบาลก็เบิกจ่ายกันเป็นงวดๆ และหลังจากนั้นการก่อสร้างก็หยุดชะงักไปอีกครา

นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเมืองเขลางค์ฯ เคยบอกว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าช้าเก่า แต่เจ้าหน้าที่ ผู้รับเหมาก็ได้ทำพิธีต่างๆตามความเชื่อไปทุกอย่างแล้ว เพื่อให้การทำงานสงบราบรื่น  ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรถึงมีอุปสรรคเกิดขึ้นโดยตลอด สงสัยเจ้าที่จะแรง

ถึงขนาดบวงสรวง เซ่นไหว้ บอกกล่าวเจ้าที่ขนาดนี้แล้ว เจ้าที่ยังไม่ช่วย ก็ต้องเลิกเล่นของ แล้วกลับมานั่งทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง ที่ทำงานง่ายๆ งานที่ผู้คนให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเช่นนี้ไม่เป็นผล

ปล่อยทิ้งร้างไปแล้ว ตั้งศาลเพียงตาขึ้นศาลหนึ่ง ไหว้เช้า ไหว้เย็น อ้วนวอนเจ้าที่ให้เห็นใจ ขณะที่ผู้บริหารก็ต้องคิดให้เป็น พวกเขาเป็นคนที่ประชาชนเลือกมา เมื่องานเท่านี้ทำไม่สำเร็จ ก็สมควรทำอัตวินิบาตกรรมหมู่ให้รู้แล้วรู้รอดไป ไม่ต้องอับอายใคร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1126 วันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์