วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ละลายกองทุนซื้อหมูซื้อไก่ ซ่อมถนน-ประปา อวงค์กรท้องถิ่นทำชาวบ้านงง

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

ลานนาโพสต์ยังคงติดตามประเด็นการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555-2560  ซึ่งการสรุปโครงการแผนงานประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. รวม 6 ปี มีการอนุมัติโครงการ เป็นเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท 

จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการ 3  ปีย้อนหลัง ในปีงบประมาณ 2557-2559   รวม 3 ปี มีการอนุมัติงบประมาณ 1,097 ล้านบาทเศษ  3 อันดับแรก เป็นโครงการสาธารณูปโภคถึง 50 เปอร์เซ็นต์ งบประมาณ 554 ล้านบาท  ส่วนใหญ่เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนคอนกรีต ถนนลูกรัง  การจัดทำระบบประปาหมู่บ้าน  การสร้างฝาย เป็นต้น  อันดับ 2 เป็นโครงการเลี้ยงสัตว์ คือการจัดซื้อหมู ซื้อไก่ ใช้งบประมาณมากถึง 108 ล้านบาทเศษ  อันดับ 3 โครงการด้านการศึกษา งบประมาณ 101 ล้านบาท  รองลงมาจะเป็นโครงการด้านศาสนา สุขภาวะ งบประมาณอยู่ที่ 80-90 ล้านบาท   ด้านการเกษตร  63 ล้านบาท ด้านกีฬาและอาชีพอยู่ที่  30-40 ล้านบาท  ด้านกิจกรรมประเพณีอยู่ที่ 10-15 ล้านบาท

หากแยกเป็นรายปี พบว่า 5 อันดับแรกในการใช้จ่ายเงินกองทุนของปี 2557 จากงบประมาณทั้งหมด 421 ล้านบาทเศษ  มีการใช้จ่ายเงินด้านสาธารณูปโภค ประมาณ 230 ล้านบาท  รองลงมาคือโครงการเลี้ยงสัตว์ 38.5 ล้านบาท  ศาสนา 31.7 ล้านบาท  การเกษตร 29 ล้านบาท และการศึกษา 28.4 ล้านบาท  

ปี 2558 งบประมาณทั้งหมด 339 ล้านบาทเศษ เป็นการจ่ายเงินด้านสาธารณูปโภค 196 ล้านบาทเศษ  รองลงมาคือด้านการศึกษา 38 ล้านบาท   โครงการเลี้ยงสัตว์  31.7 ล้านบาท  ด้านศาสนา 24.6 ล้านบาท  และด้านสุขภาพวะ 19 ล้านบาท  และปี 2559 งบประมาณทั้งหมด 335 ล้านบาทเศษ  ด้านสาธารณูปโภคยังคงมาอันดับแรก 128 ล้านบาท  ด้านสุขภาวะ 46 ล้านบาท โครงการเลี้ยงสัตว์  38 ล้านบาท ด้านการศึกษา 34 ล้านบาท    และศาสนา 33 ล้านบาท

ทั้งนี้ ลานนาโพสต์มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.) กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.60 ที่ผ่านมา โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะรองประธานกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นประธาน  โดยในที่ประชุมได้มีเรื่องเพื่อพิจารณาในหลายประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่พบปัญหาคือ องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว ได้ขอเปลี่ยนหน่วยงานดำเนินการ ขอคืนโครงการและขอยกเลิกโครงการหลายโครงการ

โครงการก่อสร้างโบสถ์คริสจักรอุดมพร หมู่ 4 บ้านจำปุย ต.บ้านดง  อ.แม่เมาะ งบประมาณ 1.5 ล้านบาท  ได้รับอนุมัติปีงบประมาณ 2560  ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลงให้ อบต.บ้านดง เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.60 ที่ผ่านมา  ต่อมาทาง อบต.บ้านดง ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มี.ค.60 ขอยกเลิกการเป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการก่อสร้างโบสถ์คริสจักรอุดมพร  เนื่องจากได้ตรวจสอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถเป็นหน่วยดำเนินการได้ และ  อบต. บ้านดงขอให้ กองทุนฯดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของกองทุนฯ

โครงการชุมชนที่ อบต. จางเหนือรับเป็นหน่วยดำเนินการ จำนวน 2  โครงการ  โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.60  อบต.จางเหนือได้มีหนังสือแจ้งมายังคณะกรรมการกองทุนฯ ขอคืนโครงการจำนวน 2 โครงการ ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลงไปแล้ว  คือ โครงการก่อสร้างเมรุเผาศพ บ้านทาน ม.4  ต.จางเหนือ งบประมาณ 1.2 ล้านบาท กกพ.อนุมัติในปีงบประมาณ 2559           และโครงการก่อสร้างเมรุเผาศพ บ้านนาสันติราษฎร์ ม.6 ต.จางเหนือ งบประมาณ 1.2 ล้านบาท อนุมัติในปีงบประมาณ 2559 เช่นกัน  เนื่องจาก อบต.จางเหนือไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด  ดังนั้นจึงขอยกเลิกโครงการชุมชนและนำเงินไปสมสบในงบหมู่บ้านปีต่อไป  โดยในที่ประชุมมีมติส่งเรื่องกลับไปให้ทาง กกพ.พิจารณา ทุกโครงการที่ยื่นของยกเลิกมา

อีกโครงการที่แจ้งยกเลิกเนื่องจากติดพื้นที่ป่าคือ โครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนสายนาแช่-ช้างกลิ้ง ต.จางเหนือ  งบประมาณ 1.7 ล้านบาท  ปีงบประมาณ 2559   ผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนสายนาแช่-ช้างกลิ้ง ต.จางเหนือ มีหนังสือแจ้งเมื่อวันที่  15 พ.ค.60  ขอยกเลิกโครงการเนื่องจากโครงการดังกล่าวติดปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในการดำเนินการ เพราะตรวจสอบจากสำนักป่าไม้ที่ 3พบว่าอยู่ในพื้นที่ป่า
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  ในปี 61 ได้กำหนดระเบียบใหม่แล้วว่า หากทำบันทึกข้อตกลงกันแล้ว และภายใน 3 เดือนไม่ดำเนินการจะยกเลิกโครงการและเรียกเงินคืน  ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดเช่นนี้ จึงทำให้โครงการหลายแห่งค้างคาอยู่ ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการ

การเบิกจ่ายเงินกองทุนในการดำเนินการต่างๆ เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว กรณีที่เป็นส่วนราชการดำเนินการ จะต้องทำบันทึกข้อตกลง และจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ผู้รับจ้างให้เรียบร้อยก่อน จึงจะโอนเงินให้ กรณีที่เป็นชาวบ้านดำเนินการเองต้องทำให้เสร็จจนถึงกระบวนการซื้อขายรับของและนำหลักฐานมาจึงจะมีการเบิกจ่ายให้ 

การคืนงบโครงการเข้ามา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กองทุน แต่อยู่ที่ อปท. ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการไปแล้วเกือบทั้งปีแต่ทำไม่โครงการ แต่กลับทิ้งเงินไปเฉยๆ  ในขณะที่ชุมชนทราบว่าได้รับการอนุมัติโครงการเข้ามา และสอบถามมาตลอดว่าเมื่อไรจะเข้าทำโครงการให้ ในฐานะที่คณะกรรมการกองทุน เป็นตัวแทนชาวบ้านก็ต้องทำหนังสือไปยัง อบต.ว่าจะดำเนินการเมื่อไร  ซึ่งชาวบ้านไม่เคยทราบว่า อบต.คืนโครงการกลับมา แต่เข้าใจไปว่ากองทุนไม่ดำเนินการให้

รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า  โครงการเกือบทุกโครงการ ต้องผ่าน กกพ. ซึ่งมติของ กกพ.อนุมัติโครงการมาแต่มีเงื่อนไขว่าให้ส่วนราชการ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการ  ส่วนราชการบางส่วนมีหน้าที่โดยตรง แต่ไม่กล้าดำเนินการ เช่น กองทุนเคยมีการรวบรวมโครงการทั้งหมด 10 กว่าล้านบาท ให้ปศุสัตว์จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการจัดซื้อสัตว์ แต่เขาไม่รับโดยให้เหตุผลว่าต้องจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้  แต่เงินส่วนนี้ให้เป็นเงินอุดหนุนไม่ได้ สุดท้ายต้องขออนุมัติไปที่ กกพ.ใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนดำเนินการเอง ซึ่งใช้เวลาเกือบปี ในเรื่องนี้ทางปศุสัตว์กับ กกพ.ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด อยากให้มีการตั้งสหกรณ์ปศุสัตว์ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางจัดซื้อสัตว์ ส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวบ้าน อ.แม่เมาะ เลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ซื้อมาขายไปเหมือนที่ผ่านมา  อยู่ระหว่างปรึกษาหารือกันอยู่

ส่วนกรณีปัญหาพื้นที่ป่าจึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้  นายสมชัย  กล่าวว่า  หากโครงการไหนติดพื้นที่ป่าต้องทำการยกเลิกแน่นอน ซึ่งมีการตรวจสอบพิกัดจากสำนักงานป่าไม้ โดยก่อนจะเริ่มโครงการจะส่งไปให้ทางป่าไม้ตรวจสอบพื้นที่ก่อน บางโครงการคณะกรรมการไม่ดันทุรังที่จะทำ เพราะทำไปก็เสี่ยงอันตราย วันนี้แม่เมาะโมเดลสร้างความมอบช้ำให้กับอำเภอแม่เมาะ ทั้งที่โครงการหลายโครงการมีประโยชน์แต่ก็ยังใช้งานไม่ได้

ขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนแม่บทเรื่องน้ำออกมาแล้วทั้ง 5 ตำบล โดยจะมีการแยกโครงการว่าโครงการใดอยู่ในพื้นที่ป่า โครงการใดอยู่ในพื้นที่ชุมชน เบื้องต้นได้มีตัวแทนเข้าพูดคุยกับทาง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หาแผนแม่บทเสร็จในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะนำทีมคณะกรรมการกองทุนฯ ไปพูดคุยในเรื่องนี้ร่วมกับ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอความกรุณาว่าถ้าในกรณีที่มีแผนงานโครงการของ อ.แม่เมาะ  ขอให้พิจารณาอนุมัติเร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอนานหลายปีเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้  จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.60 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชัน 2 ของกองทุน ด้านหลังที่ทำการอำเภอแม่เมาะ โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมาเป็นประธาน  โดยเชิญสื่อมวลชน กำนัน และนายก อปท. ในพื้นที่ 5 ตำบล มาร่วมด้วย

ซึ่งในการประชุมได้มีการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทุกส่วนที่มาร่วมได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจคือตัวแทนจากเทศบาลแม่เมาะกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจน ในการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นสัดส่วน เป็นการป้องกันปัญหาการทำงานก้าวก่ายกัน และแสดงถึงข้อมูลว่าใครเข้าถึงงบประมาณได้ไปเท่าไร นอกจากนั้นจากการประชุมร่วมแกนนำทุกภาคส่วนในพื้นที่ในครั้งนี้  พบว่าปัญหาที่สำคัญของพื้นที่อำเภอแม่เมาะคือที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน ไม่สามารถนำงบประมาณไปดำเนินการใดๆได้ทั้งสิ้น เกรงว่าจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ดังนั้นจึงมีงบประมาณถูกนำมาคืนให้กองทุนฯ ประมาณ 19 ล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการนั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่นการสร้างโบสถ์ ซ่อมถนน สร้างฝายเก็บน้ำหรือขุดลอกอ่างเก็บน้ำ  สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นต้น  โครงการสำคัญๆเหล่านี้มีประมาณ 80 แห่งที่ยังรอการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตามก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะไม่มีใครกล้าตัดสินใจอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าเหล่านี้ เนื่องจากเคยมีกรณีตัวอย่างการสร้างฝายเก็บน้ำในพื้นที่และถูกร้องเรียนจนผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางลงมาพร้อมเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีมาแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์