วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หนังสือเช่าสู้ออนไลน์ เชื่อคนไม่ทิ้งกระดาษ

จำนวนผู้เข้าชม free hits

ด้วยความรักในการอ่านเป็นทุนเดิม วันหนึ่งที่ต้องเริ่มธุรกิจของตนเอง ชาญวิทย์ ประชันกิจพัฒนา หนอนหนังสือตัวยง จึงลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ เดินทางกลับสู่บ้านเกิดที่จังหวัดลำปาง และเลือกที่จะเปิดร้านหนังสือ “ดรีมบุ๊ค ศูนย์หนังสือเช่า” ในปี พ.ศ. 2548 ร้านหนังสือเช่าที่เดินตามความฝันและให้ความสำคัญกับจินตนาการ

กว่าจะเปิดร้านหนังสือเช่าสักร้าน ชาญวิทย์ต้องไหว้วานเพื่อนฝูงและน้องสาวช่วยกันไปหาซื้อหนังสือตามแหล่งใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ อย่างสวนจตุจักร สะพานควาย หรือไม่ก็เดินทางไปกรุงเทพฯ ด้วยตนเองเพื่อไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงเดือนตุลาคมเมื่อบวกรวมกับหนังสือสะสมของตนเองอีกราว ๆ 30 เปอร์เซ็นต์ ดรีมบุ๊ค ศูนย์หนังสือเช่า ก็เปิดตัวในตึกแถวย่านไปรษณีย์

ช่วง 6 เดือนแรกของร้านหนังสือเช่าน้องใหม่ยังคงดูเนิบๆ แต่ชาญวิทย์อาศัยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือของตนเองในการตอบคำถามของลูกค้าได้อย่างคนรู้จริง เขารู้จักหนังสือมากมาย ร้านของเขาจัดวางหนังสืออย่างเป็นระบบระเบียบ เมื่อบวกรวมเข้ากับอัธยาศัยไมตรี ไม่นานหลังจากนั้นจำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้น

12 ปีที่แล้ว ร้านหนังสือเช่าอันดับหนึ่งในลำปางต้องยกให้ร้านลูกน้ำครับ รองลงมาก็ร้านสวนหนังสือแถวตลาดอัศวินและร้านกรกิจ” หนุ่มใหญ่วัย 42 ปีเท้าความ

“ตอนเปิดแรกๆ ลูกค้าที่ร้านของผมส่วนใหญ่คือเด็กมัธยมปลาย เด็กมหาวิทยาลัย และวัยทำงาน ซึ่งนิยมอ่านนิตยสารและนิยายของสำนักพิมพ์แจ่มใสพวกพ็อกเกตบุกก็บูมมากครับยุคนั้น ผมก็พยายามเสาะหาพ็อกเกตบุกใหม่ๆ จากสวนจตุจักรมาวางที่ร้าน นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านของเราดีขึ้นเรื่อยๆ”

กิจการดรีมบุ๊คฯ ไปได้ดี กระทั่งเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

ชาญวิทย์เริ่มจับสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยดีนักของสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อร้านขายหนังสือเจ้าประจำบอกให้เขาสต็อกหนังสือไว้ หนังสือที่เคยได้หลายเล่มก็ถูกลดเหลือเพียงเล่มเดียว ด้านนิตยสารทยอยปิดตัวลง อันเป็นผลมาจากโลกอินเตอร์เน็ต

หลังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ชาญวิทย์ไม่ได้ตื่นตระหนก หากแต่เข้าใจถึงความเป็นไปในโลกธุรกิจว่าย่อมมีขึ้นมีลง อีกทั้งยังมองว่าเทคโนโลยีเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ช่วงนี้เป็นขาลงของธุรกิจหนังสือเช่าก็ต้องรับสภาพให้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังต้องเดินคู่ไปกับความก้าวหน้าของโลกปัจจุบัน

“ผมเองยังอัพเดตหนังสือทางสื่อออนไลน์เลยครับ และบ่อยครั้งก็ต้องเข้าไปอ่านรีวิวหนังสือ เพื่อเตรียมตอบคำถามของลูกค้า” เขายอมรับพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ทุกวันนี้หนังสือเช่าของดรีมบุ๊คฯ มีหลายแสนเล่ม เรามองดูหนังสือบนชั้นที่สูงท่วมหัว ครั้นเลื่อนชั้นทางด้านหน้า ด้านหลังก็ยังเผยให้เห็นชั้นหนังสืออีก แม้แต่บนชั้นลอยก็ยังมีกล่องเก็บหนังสือการ์ตูนจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าทยอยมาคืนหนังสือ-ยืมหนังสือ ถามถึงเล่มนั้นเล่มนี้ ซึ่งชาญวิทย์ก็ตอบได้ทุกครั้งไป ท่ามกลางกำแพงหนังสือยาวเหยียดเขาเดินไปหยิบหนังสืออย่างชำนาญราวกับบรรณารักษ์ที่รู้จักหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด เล่มไหนมาแล้ว เล่มไหนยังไม่มา คำถามของลูกค้ามีทุกรูปแบบ

นอกจากไม่ฟูมฟายกับชะตากรรมของหนังสือ ร้านเล็กๆ แห่งนี้ยังปรับตัวเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง

“ตอนนี้หนังสือที่ร้านมีแต่เล่มดังๆ ครับ กับเล่มที่ลูกค้าถามถึงบ่อยๆ คือเราต้องคอยสังเกตว่าลูกค้าถามถึงเล่มไหนจึงจะสั่งมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการ์ตูนและนิยาย ส่วนนิตยสารก็ลดจำนวนลงเหลือหัวละ 1 เล่มเท่านั้น และถ้าเช่าหลายเล่มก็จะลดราคาให้ หนังสือที่หายากจากที่อื่น ผมก็พยายามหามาลงที่ร้านเพื่อเอาใจลูกค้า”

ชาญวิทย์สังเกตว่า ลูกค้าตอนนี้คือคนวัยทำงานอายุประมาณ 30 กว่าๆ ซึ่งสนใจหนังสือประเภทวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความรู้รอบตัวกันมากขึ้น ส่วนพวกเด็กๆจะสนใจหนังสือในเครือนานมี ซึ่งมักนำเรื่องรอบตัวมาย่อยให้นักอ่านรุ่นเยาว์เข้าใจง่ายขึ้น ประกอบกับจัดวางรูปแบบได้อย่างน่าสนใจ หนังสือพวกนี้ช่วยประคับประคองดรีมบุ๊คฯ ได้มาก นอกจากนี้ การมีคอนเน็กชันกับร้านนายอินทร์ ซี-เอ็ด และบีทูเอส ซึ่งจะให้เครดิต 30 วันกับร้านหนังสือเช่า ก็ทำให้เขาไม่ลำบากจนเกินไปนัก

เราถามถึงขั้นตอนในการสมัครเป็นสมาชิกของดรีมบุ๊คฯ ชาญวิทย์บอกว่า ขั้นแรกขอบัตรประชาชนเพื่อกรอกข้อมูลเก็บไว้ ขั้นที่สองจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิก 30 บาท ยกเว้นคนต่างจังหวัด หรือนักเรียน นักศึกษาที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลำปาง ไม่ต้องสมัครสมาชิกก็ได้ แต่ขอให้วางบัตรประชาชนไว้เท่านั้น และเสียค่าเช่ารายวัน ได้แก่ การ์ตูนและนิตยสารคิดราคา 10 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก ส่วนนิยายและพ็อกเกตบุกคิดราคา 40-60 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก

“พยายามอยู่ให้ได้ครับ” ชาญวิทย์โคลงศีรษะเมื่อเราถามว่ามองอนาคตร้านหนังสือเช่าอย่างไร“ผมยึดหลักว่าต้องอัพเดตหนังสือใหม่ตลอดเวลาและตอบคำถามลูกค้าให้ได้” เขายิ้มขณะสแกนบาร์โค้ดหนังสือตรงหน้า “ยังไงกระดาษก็ไม่หมดไปจากโลกนี้หรอกครับ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ และผมยังคงหวังว่า สักวันคนอาจจะเบื่อเทคโนโลยี แล้วหันกลับมาหาความเรียบง่ายอย่างหนังสือก็เป็นได้”

เรายังคงตระเวนดูร้านหนังสือเช่าในย่านตัวเมือง ดาริณีบุ๊ค คือร้านหนังสือเช่าย่านตลาดรอบเวียง ซึ่งยังคงยืนหยัดท้าทายกระแสที่ดิ่งลงของสื่อสิ่งพิมพ์ เจ้าของร้านผู้บุกเบิกร้านนี้คือดาริณี ดาระสวัสดิ์ หากแต่วันนี้ ลูกชายและลูกสะใภ้คือคนดูแลร้านเป็นหลัก

ลูกค้าส่วนใหญ่ของดาริณีบุ๊คคือนักเรียนโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ซึ่งไม่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก การ์ตูนและนิยายคือรายได้หลักของร้านพิมพ์กมล ดาระสวัสดิ์ ว่าอย่างนั้น เธอบอกตรงกับชาญวิทย์แห่งดรีมบุ๊คฯ ว่า ลูกค้าเริ่มน้อยลงเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือช่วงเวลาที่สื่อออนไลน์สร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการหนังสือ เริ่มเข้าสู่ยุคที่ใครๆ ก็หันมาอ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ขณะเดียวกัน พิมพ์กมลมองว่า เด็กนักเรียนลำปางหันไปใช้เวลาว่างในสถาบันกวดวิชากันมากขึ้น

“หนังสือในร้านส่วนใหญ่เป็นนิยายจีน นิยายไทย โดยเฉพาะนิยายที่ถูกนำมาทำเป็นละครทีวีจะได้รับความนิยมมากค่ะ” พิมพ์กมล ซึ่งวันนี้อยู่โยงเฝ้าร้านแทนสามีเล่าให้ฟัง และด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน จึงมีบ้างที่ดาริณีบุ๊คจะโดนผู้ปกครองมาต่อว่า ด้วยข้อหาที่ทำให้ลูกหลานพวกเขาติดหนังสือ !?

ธุรกิจร้านหนังสือเช่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน พิมพ์กมลมองว่า “ก็คงไปเรื่อยๆเอื่อยๆอย่างนี้ล่ะค่ะ” เธอยิ้ม “อยู่ที่ว่า เราจะรับได้ไหมกับสถานการณ์แบบนี้ ที่ร้านใช้วิธีประเมินเดือนต่อเดือน แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่ยังมีคนเขียนนิยาย ก็ต้องมีคนอ่านค่ะ”

ทว่าบนถนนทิพย์ช้าง ร้านหนังสือเช่าอย่าง “แสตมป์บุ๊ค” กำลังจะปิดตัวลงในไม่ช้า ร้านเล็กๆ ในห้องแถว 1 คูหาแม้วันนี้จะยังมีลูกค้ายืนเลือกหนังสืออยู่ แต่ก็ดูเหมือนว่า เจ้าของร้านที่ทำธุรกิจนี้มา 11 ปีจะถอดใจเสียแล้ว “ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้วค่ะ” เธอพูดอย่างยอมจำนน

เรานึกถึงคำพูดของชาญวิทย์ที่บอกว่า เสน่ห์ของหนังสือคือการเปิดโอกาสให้คนอ่านได้จินตนาการ คิด และวิเคราะห์ อีกอย่างหนึ่ง แต่ละหน้าที่กำลังจะพลิกอ่านนั้นไม่อาจคาดเดาได้เลย น่าตื่นเต้นน้อยอยู่เมื่อไหร่ มันทำให้เรารู้สึกว่า ยังมีคนหลงใหลในสัมผัสแห่งกระดาษ และพร้อมที่จะกระโจนลงไปในสวนอักษรอย่างไม่รู้เบื่อ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1128 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์