วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เปิดเทอม ฤดูกาลทุกข์ระทม

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

พ่อแม่ไม่มี เงินทอง จะกองให้                   จงตั้งใจ พากเพียร เรียนหนังสือ
หาวิชา ความรู้ เป็นคู่มือ                           เพื่อยึดถือ เอาไว้ ใช้เลี้ยงกาย
พ่อกับแม่ มีแต่ จะแก่เฒ่า                          จะเลี้ยงเจ้า เรื่อยไป นั้นอย่าหมาย
ใช้วิชา ช่วยตน ไปจนตาย                        เจ้าสบาย แม่กับพ่อ ก็ชื่นใจ

คำกลอนสอนใจที่ได้ยินได้อ่านมาตั้งแต่เป็นเด็กๆเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่สมัยนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กรุ่นใหม่จะเคยได้ยินและเข้าใจเนื้อหาความหมายของกลอนบทนี้หรือไม่

หากนับย้อนเวลาไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ประเทศไทยยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ สมัยที่ไฟฟ้ายังไปไม่ถึงในพื้นที่ห่างไกล ถนนหนทางไม่สะดวกสบาย โทรทัศน์ประจำบ้านเป็นเรื่องของคนทีฐานนะเท่านั้น โทรศัพท์มือถือยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีให้เห็นเกลื่อนกลาดมีคนทุกคนเหมือนอย่างสมัยนี้ และเมื่อพูดถึงอาชีพการงาน สมัยก่อนคนไทยส่วนใหญ่มีอาชะทำไร่ทำนาทำสวน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว สมัยนั้นอาชีพทำนาทำสวนนั้นถูกคนเขาตีตราว่าเป็น “คนจน” หลายคนจึงต้องการส่งเสียให้ลูกเรียนจบสูงๆเพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องมาเป็นชาวไร่ชาวนาทำงานเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด

สมัยก่อนไม่ได้มีนโยบายเรียนฟรีเหมือนอย่างสมัยนี้ พ่อแม่ต้องจ่ายเองหมดทั้งค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าชุด ใครที่เป็นข้าราชการก็ดีหน่อยที่ยังพอเบิกค่าเทอมบุตรได้บ้าง  ใครที่พ่อแม่ส่งไหวก็ได้เรียนหนังสือ

จนกลายเป็นว่า “โอกาสทางการศึกษา” ที่ไม่เท่ากันทำให้หลายคนเข้าไม่ถึง คนไทยสมัยนั้นยังได้รับการศึกษาไม่มาก ในที่สุดก็มีพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และมีนโยบายเรียนฟรี12 ปี (ตอนนี้มีแนวคิดจะผลักดันให้เรียนฟรี15ปี)  เริ่มจากฟรีค่าเทอม ต่อมามีการต่อยอดเป็นนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด เช่น ฟรีค่า เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหาร ค่าหนังสือ ฯลฯ

แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าโรงเรียนเลี่ยงบาลีด้วยการมีค่าบำรุง ค่าคอมพิวเตอร์และสารพัดค่า จิปาถะที่ผู้ปกครองต้องยอมจ่ายเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในสถาบันการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ตามมาด้วยสารพัดการสอบวัดมาตรฐานการเรียนรู้ที่ผลสอบดูจะไม่น่าโสภา เพราะมันบ่งบอกว่าเด็กนักเรียนสอบผ่านมีเพียงครึ่งเดียว จนเด็กนักเรียนต้องแห่ไปเรียนพิเศษ และจำนวนมากไปเรียนกับครูที่สอนในห้องเรียน

และสิ่งที่เราจะเห็นทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ใกล้ถึงเวลาเปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมเงินสำหรับชุด ค่าอุปกรณ์การเรียน ถ้าลูกเรียนโรงเรียนเอกชนค่าเทอมก็แพงหูฉี่ ยิ่งในเมืองหลวงเมืองกรุงหัวเมืองใหญ่ๆพ่อแม่หลายคนยอมจ่ายค่าเทอมเฉียดแสน ขอเน้นว่าแค่เทอมเดียว บางแห่งยิ่งต้องจองล่วงหน้าเพื่อให้ลูกหลานได้มีที่เรียนดีๆ โรงเรียนเอกชนบางแห่งออกโปรโมชั่นจ่ายล่วงหน้า 6 ปี เห็นพ่อแม่ถอนเงินหลักล้านไปจ่ายเงินค่าเทอมล่วงหน้าให้ลูก2คน

แน่นอนว่าหากมองในแง่เศรษฐศาสตร์เม็ดเงินจากสิ้นค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการศึกษาย่อมสะพัดแน่นอน กระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาได้บ้าง ช่วงนี้จึงเห็นห้างร้านที่เกี่ยวกับการศึกษาจะมีผู้คนหนาแน่นเข้าไปซื้อเสื้อผ้าชุดนักเรียน จนที่จอดรถแทบไม่มี

แต่ในมุมของพ่อแม่แล้ว ช่วงนี้จัดได้ว่าเป็นช่วงทุกข์ที่พ่อแม่พูดไม่ได้

ในวัยกำลังกินกำลังนอน เด็กๆตัวโตขึ้นใหญ่ขึ้นในช่วงปิดเทอม ชุดนักเรียนเก่าที่เคยใส่ได้ ก็กลายเป็นคับ อย่างน้อยเด็กนักเรียน 1 คน จ้องมีชุดนัดเรียนอย่างน้อย 2 ชุด ชุดลูกเสือ-เนตรนารี 1 ชุด ชุดพละ 1 ชุด รองเท้านักเรียนและรองเท้ากีฬาอย่างละ 1 คู่ แถมกระเป๋านักเรียนที่บางโรงเรียนบังคับต้องใช้กระเป๋าเป้ของโรงเรียนเท่านั้น  ทั้งหมดนี้คือเงินที่พ่อแม่ต้องหามาจ่าย ถ้าบ้านไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคนค่าใช้จ่ายก็ทวีคูณขึ้นไป

ยิ่งสภาวะฝืดเคือง ข้าวของเครื่องใช้ขึ้นราคา หลายคนต้องหลายต้องรูดบัตรเครดิต หลายคนต้องไปหยิบยืมญาติพี่น้อง หลายคนต้องกู้หนี้ยืมสิน ที่หนักสุดก็คือหนี้นอกระบบเสียดอกเบี้ยแพงก็ต้องยอม อย่างน้อยก็หวังให้พอหมุนเงินให้ผ่านพ้นช่วงเปิดเทอมวิปโยคนี้ไป

หนักแค่ไหนพ่อแม่ก็ยอม เพราะมรดกที่มีค่ามากที่สุดที่พ่อแม่ให้ลูกได้นั่นคือการศึกษา 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 -11 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์