วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แดนสนธยา กสทช.

จำนวนผู้เข้าชม website counter

นกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล  ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สังคมพูดถึงอย่างบางเบามาก  อย่าว่าแต่สังคมภายนอกเลย

หากภายใน กสทช.ก็เงียบงันยิ่ง

คล้ายการล้มหลักการความเป็นองค์กรอิสระ อันเป็นต้นกระแสธารแห่งการปฏิรูปสื่อนี้ เป็นเรื่องที่ สมปรารถนาแล้ว สำหรับคนบางกลุ่มใน กสทช. สำหรับกลุ่มทหาร ที่ต้องการคลื่นของกองทัพกลับไปครอบครอง ภายใต้ข้ออ้างความมั่นคง

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 51 ก็ยังเขียนยืนยันความเป็นองค์กรอิสระ ของ กสทช.โดย “ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (กิจการโทรคมนาคม และกิจการสารสนเทศ) (ในวงเล็บเป็นส่วนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอแก้ไข) โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส การศึกษา วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น...”

นี่เป็น 1 ใน 5 เรื่องหลัก ที่จะไปตราเป็นกฎหมายลูก และไม่ได้ใส่ไว้ในส่วนการปฏิรูปสื่อของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นที่มาของความเข้าใจผิดว่า มีการล้มกระดานการปฏิรูปสื่อ

น่าสนใจว่า ขณะที่กระบวนการปฏิรูปสื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.มอบให้ สปช. 1 ในแม่น้ำ 5 สาย เป็นฝ่ายที่จัดทำและรับผิดชอบ แต่นอก สปช.กลับมีกระบวนการนอกสายทาง ช่วงชิงการปฏิรูป กสทช. คัดง้างกับหลักการในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ล้มกระดานความเป็นองค์กรอิสระ โดยให้ไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง โดย กสทช.จะต้องเสนอแผนแม่บทให้คณะกรรมการชุดนี้เห็นชอบก่อนดำเนินการ

ความเป็นอิสระสิ้นไปตรงนี้ เหตุผลอื่นไม่ใช่ประเด็น

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป อันประกอบด้วย 4 องค์กรสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งวงเสวนากันวันนี้ เพื่อระดมความเห็น มองอนาคตของ กสทช.ยุคปฏิรูปสื่อ โดยตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ กสทช. เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด สำหรับ การทำงานของ กสทช.โดยยืนยันความเป็นองค์กรอิสระอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

แนวทางหนึ่งที่เราศึกษา นอกจากการยืนยันความเป็นองค์กรอิสระแล้ว คือกระบวนการสรรหา กสทช.ควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อกำหนดคุณลักษณะของผู้ที่สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการร่วมกันของคณะกรรมการสรรหาทั้งสองชุด โดยวิธีการสรรหา และวิธีการคัดเลือกกันเองก่อนว่า คุณลักษณะใดจึงจะถือว่า “ผู้มีผลงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านต่างๆ” ได้อย่างแท้จริง

เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาทั้งสองชุดอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน มีความโปร่งใส เป็นธรรม และได้บุคคลที่มีคุณลักษณะตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังมีวิธีการกำกับ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาออกใบอนุญาต การกำกับดูแลการครอบงำ การครองสิทธิข้ามสื่อ และการป้องกันการผูกขาด การรับฟังความเห็นสาธารณะ กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของ กสทช.ซึ่งการกำกับภายใต้ “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน” หรือ กตป.นับว่าล้มเหลว เมื่อ กตป.ยังคงอยู่ใต้อำนาจ กสทช. การตรวจสอบความโปร่งใสและการมีธรรมาภิบาล รวมทั้งความเชื่อมโยงกับรัฐบาล

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความพยายามในการฉุดดึงมิให้ งานของ กสทช.กลับไปอยู่ภายใต้รัฐ ที่กำกับไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ หรือความเป็นแดนสนธยาอีกครั้งหนึ่ง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์