วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ปลูกสาละให้ได้สาระ

จำนวนผู้เข้าชม free hits

บ่อยครั้งที่เราเข้าวัดในเมืองลำปางแล้วเห็นดอกไม้สีชมพูรูปทรงแปลกตา ส่งกลิ่นหอมแรง พร้อมป้ายกำกับว่า ดอกสาละ บางแห่งบอกละเอียดขึ้นมาอีกนิดว่า ดอกสาละลังกา ทว่าก็ยังมีความกำกวมอย่างไรชอบกล

เรื่องนี้นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ต่างพากันส่งสัญญาณให้แต่ละวัดพิจารณาดำเนินการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นสาละแก่ประชาชนมานานแล้ว แต่ก็อย่างที่รู้ ๆ กัน ความรู้ทางวิชาการกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนนั้น มันช่างสวนทางกันอยู่ร่ำไป

ต้นสาละคือไม้ในพุทธประวัติที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ 2 ตอน นั่นคือ ในคราวที่พระนางสิริมหามายามีพระประสูติการเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางประทับอยู่ใต้ต้นสาละ และเมื่อคราวเสด็จปรินิพพาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ประทับอยู่ใต้ต้นสาละเช่นเดียวกัน

บุญรอด อินทวารี อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554 ว่า ต้นสาละ (จริง ๆ) เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในแถบอินเดียเหนือ ลำต้นสูงราว 20-30 เมตร ลักษณะคล้ายกับต้นรัง มีดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลเป็นเปลือกแข็ง มีปีกรูปใบพาย 5 ปีกห้อยลงมา ต้นสาละนี้ไม่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงเจริญเติบโตได้ไม่ดีนักในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีความสับสนระหว่างต้นสาละจริง ๆ กับต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่เรียกชื่อคล้ายกันว่า ต้นสาละลังกา ต้นไม้ชนิดนี้มีจุดเด่นตรงดอกช่อใหญ่ออกมาจากลำต้น ปลายโน้มลง ผลเป็นลูกกลมใหญ่คล้ายลูกปืนใหญ่สมัยโบราณ บุญรอดอธิบายว่า ต้นสาละลังกาเดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ ต่อมาได้มีผู้นำมาปลูกในลังกา (บางท่านระบุว่า ผู้นำมาปลูกในลังกานั้น ก็คือสวนพฤกษศาสตร์ลังกานั่นเอง) จนกระทั่งได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วลังกา โดยคนลังกาเรียกว่า “ซาล” หรือ “สาละ” และยังเชื่ออีกด้วยว่า ดอกของต้นไม้ชนิดนี้ เปรียบได้กับแท่นที่ประทับของพระพุทธองค์ในคราวเสด็จปรินิพพาน ส่วนเกสรคล้ายกับสาวกที่รอบล้อมอยู่ นอกจากนี้ คนลังกายังนิยมนำมาบูชาพระด้วย เข้าใจว่า ต้นสาละลังกานี้คงถูกนำมาปลูกในประเทศไทยราว 50 ปีก่อน จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่ว และด้วยความที่ชื่อเรียกคล้าย ๆ กัน จึงทำให้เกิดความสับสนจนทุกวันนี้

ต้นสาละลังกา หรือต้นลูกปืนใหญ่ (Cannon Ball Tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupitaguianensisเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนต้นสาละ (Sal Tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorearobustaเป็นไม้ในวงศ์ยาง ซึ่งเป็นไม้ในพุทธประวัติจริง ๆทั้ง 2 ชนิดนี้ ต่างวงศ์ ต่างสกุล และต่างถิ่นกำเนิด

Been Aiyakool”ซึ่งศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์ ได้ตั้งประเด็นนี้ขึ้นมาในเฟสบุกของเขา จากการตระเวนดูงานจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวในพุทธประวัติตามวัดต่าง ๆ แล้วพบว่า ในภาพจิตรกรรมตอนพุทธปรินิพพานที่เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวังหน้า กรุงเทพฯ ต้นสาละนั้น ดูไม่ได้ออกดอกตามลำต้น กิ่งใบก็ไม่ได้คล้ายต้นลูกปืนใหญ่แต่อย่างใด แต่ดูคล้ายต้นสาละจริง ๆ มากกว่า นอกจากนี้ งานจิตรกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร ที่คาดว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังวาดผลสาละเป็นผล 3 ปีก (ผลต้นสาละจริง ๆ มี 5 ปีก ปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก) ซึ่งก็นับว่าใกล้เคียงกับต้นสาละจริง ๆ เขาจึงสรุปจากหลักฐานดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า คนในอดีตอย่างน้อยก็สมัยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ยังมีความรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นสาละจริง ๆ

เรื่องนี้นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์คงต้องรณรงค์กันอีกยาว ๆ กับวัดทั่วประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องระหว่างต้นลูกปืนใหญ่ว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพุทธประวัติแม้แต่น้อย กับต้นสาละ (จริง ๆ)ทางวัดอาจหามาปลูกภายในบริเวณเดียวกันก็ได้ เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ สำหรับคนลำปาง หากอยากเห็นต้นสาละจริง ๆ ได้ข่าวว่ามีปลูกไว้ที่สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ห้วยทาก อำเภองาวค่ะ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1128 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)

            
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์