วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

40ปีในวงการ สู่การสร้างแบรนด์ไม้จามจุรี

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ยุคสมัยและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ หากแต่ผู้คนยังโหยหาความเป็นธรรมชาติให้ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวัน สวนทางโลกาภิวัตน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม้จามจุรีจึงตอบโจทย์ความต้องการในแง่ของการใช้ประโยชน์ด้านตกแต่งที่อยู่อาศัย จึงทำให้งานผลิตเครื่องใช้ไม้สอยของตกแต่งบ้านจากไม้ยังสดใสอยู่ไม่น้อย

เบื้องหลังเส้นทางต้นน้ำของอุตสาหกรรมไม้ในลำปาง หนึ่งในนั้นมีไม้จามจุรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า" ไม้ฉำฉา" ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญที่เข้ามาทดแทนอุตสาหกรรมไม้เนื้อแข็ง อย่างไม้สักหรือไม้ประดู่ เต็งรัง ในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้แปรรูปเป็น เฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่ง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไม้ในครัวเรือน ส่งออก ซึ่งจังหวัดลำปางถือว่าขึ้นชื่อในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป และมีโรงงานผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดใหญ่หลายแห่ง มีอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ผลิตโต๊ะเก้าอี้ ของใช้ในบ้าน ครัวเรือนในเขตอำเภอห้างฉัตร เกาะคา แม่ทะ

ลุงบุญเรียบ  ทิพย์ประเสริฐ  ผู้ประกอบการไม้จาจุรีย์ในนาม  หจก.ป.ทิพย์ประเสริฐ  ตั้งอยู่ที่บ้านจู้ด อ.เกาะคา จ.ลำปาง ผู้คร่ำหวอดในวงการการผลิตไม้แปรรูป กับการเรียนรู้วิถีแห่งการเฟ้นหาไม้จามจุรีคุณภาพดี เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไม้มานานกว่า 40 ปี เล่าให้ ลานนาBizweek  ฟังว่า อุตสาหกรรมไม้แต่ตั้งเดิม นิยมใช้ไม้สักมาปลูกสร้างบ้านและทำเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆเพราะสวยงามและมีความคงทนใช้ได้นานหลายสิบปี  แต่ติดอยู่ตรงที่ผลิตภัณฑ์จากไม้สักนั้นมีราคาแพงและหายากในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีกฎหมายคุ้มครอง ในวงการอุตสาหกรรมไม้แปรรูปจึงหันมาใช้ไม้จามจุรีทดแทน เพราะเป็นไม้ที่โตเร็ว มีลักษณะเนื้อไม้ที่มีลวดลายสวยงาม แก่นสีดำคล้ำคล้ายไม้มะม่วงป่าหรือไม้วอลนัท เมื่อนำมาขัดตกแต่งจะขึ้นเงาสวยงาม ส่งผลให้จามจุรีกลายเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีความต้องการตลาดสูงทั้งในและต่างประเทศ

ลุงบุญเรียบ เล่าว่า จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ทำอาชีพนี้เริ่มต้นจากคนติดตามพ่อค้าไปหาซื้อต้นไม้จากเจ้าของที่ดินมามากมาย พบว่าเนื้อไม้ที่ดีต้องมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นต้นที่เจ้าของปลูกไว้อาศัยลำต้นเป็นอาหารเลี้ยงครั่ง  เมื่อไม้แก่มาก ครั่งไม่เกาะ เจ้าของก็มักจะโค่นใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือขายเข้าสู่อุตสาหกรรมไม้เป็นรายได้ ดังนั้นจึงเกิดอาชีพรับจ้างตัดต้นจาจุรี มีอาชีพซื้อขายว่ากันไปเป็นต้นๆ ผมเองก็เริ่มต้นจากการซื้อไม้ทั้งต้น ตัดเอง ขนเอง ไม้ทั้งต้นทิ้งแต่ใบ ไม้กิ่งเอาไปขายเป็นเชื้อเพลิง กิ่งแขนงขนาดใหญ่ เอามาแปรรูปเป็นพาเลทไม้ใช้ในการขนส่งสินค้า บางทีก็ขายให้กับคนทำโต๊ะ เก้าอี้ ส่วนลำต้นขนาดใหญ่ก็ขายเป็นท่อน หรือเป็นแผ่นใหญ่สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ แบบใช้ไม้ชิ้นเดียวซึ่งมีราคาแพงขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากนั้นก็ก่อตั้งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็กๆ เป็นต้นน้ำสร้างเศรษฐกิจและรายได้ในชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้

“ไม้จามจุรีหรือฉำฉา ถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีความต้องการทางตลาดสูง ในลำปางถือเป็นแหล่งสำคัญของอุตสาหกรรมไม้ที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ธุรกิจซื้อขายไม้ทั้งที่ยังเป็นต้น ก่อนจะไปสู่ธุรกิจบริการตัดลาก ป้อนเข้าสู่การแปรรูปเป็นไม้ท่อน ไม้แผ่น และเป็นผลิตภัณฑ์ เกิดวงจรรายได้และแรงงานหลากหลาย ในแถบอำเภอเกาะคา ห้างฉัตร มีธุรกิจต้นน้ำกับการทำไม้จามจุรี ไม่น้อยกว่า 30-40 ราย ที่เชื่อมโยงกับผมซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการที่มีใบเลื่อยขนาดใหญ่ตามกฎหมาย และจะรับซื้อต้นจามจุรีในที่ดินโฉนด เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาบุกรุกป่า เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญต่อความยั่งยืนทางธุรกิจ”

อย่างไรก็ตามลุงบุญเรียบย้ำว่า เส้นทางธุรกิจไม้ฉำฉา นับว่าเป็นต้นน้ำที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงกลไกเล็กๆมีต้นทุนไม่สูงมากนัก หากแต่ประสบการณ์ในการคัดสรรไม้เนื้อดีจากแหล่งดินที่ดี มีผลต่อรูปทรง ขนาดและคุณภาพไม้ที่แตกต่างกันออกไป นั่นหมายถึง"ราคา" ที่ขายจาก "คุณค่าและความแตกต่าง แต่ประเด็นที่น่าสนใจธุรกิจต้นน้ำไม้จามจุรี อาจตกที่นั่งลำบากหรืออาจพ่ายต่อการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นการพัฒนาไปสู่การเปิดช่องทางเข้าถึงตลาดและการพัฒนาไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากกว่าแค่ขายวัตถุดิบ และการก้าวไปแตะขอบของการสร้างแบรนด์สู่ช่องทางตลาดหลายช่องทางเป็นโจทย์ที่น่าท้าทาย

"หากเรายังไม่อยากหยุดอยู่กับที่แค่ขายวัตถุดิบต้นน้ำ จากนี้ไปเราต้องกลับมาพัฒนาตัวเองไปสู่การใช้นวัตกรรม และการออกแบบมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างแต่ยังคงเน้นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหญ่ที่มีคู่แข่งน้อย เช่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในที่มีดีไซน์ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าไม้เนื้อแข็งเป็นจุดขาย งานถัดไปคือสร้างฐานและช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้สอดรับกับทิศทางที่เราจะพัฒนาตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ ในแบรนด์ของเราเอง ส่งต่อให้รุ่นลูกหลานทำ" ลุงบุญเรียบกล่าวถึงในทิศทางของการพัฒนาส่งต่อเจนเนอเรชั่นใหม่อย่างมีความหวัง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1133 วันที่ 16 -22 มิถุนายน 2560)
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอเบอร์ลุงด้วยครับเพื่อติดต่อเรื่องไม้เยอร์ผม 088-4349340

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์