วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

สื่อมุสลิมในสังคมไทย รอยเท้าบนผืนทราย

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

นความหลากหลายของสื่อ ที่สังคมอาจแยกแบ่งไม่ได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ปรากฏสื่อที่เรียกว่า “สื่อบุคคล” ที่ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จำนวนมาก กับสื่อวิชาชีพ ซึ่งเติบโตขยายตัวมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิม แม้ว่าภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape จะเปลี่ยนไป

แต่ภาพในใจของสังคม ก็ยังมองเห็นภาพภูมิทัศน์สื่อ เป็นภาพเดียวไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อช่องทางสารมีความหลากหลายมากขึ้น โอกาสที่จะสร้างความเสียหาย หรือทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวก็มีมากขึ้น และเมื่อเกิดความผิดพลาด ทั้งสื่อบุคคล และสื่อวิชาชีพก็ถูกเหมารวมเป็นพวกเดียวกัน ทำให้เกิดมายาคติว่า สื่อกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ จนกระทั่งไม่สามารถจำแนกประเภทของสื่อได้ชัดเจนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในความหลากหลายของสื่อทั้งสื่อวิชาชีพที่โดยหลักการต้องเรียกว่า เป็นสื่อกระแสหลัก และสื่อบุคคลที่ควรเป็นสื่อกระแสรอง มีสื่ออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร คือสื่อมุสลิม ที่มีบทบาทในสังคมไทยมายาวนาน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อหนังสือพิมพ์ จนปัจจุบัน ครอบคลุมทุกสื่อ ตั้งแต่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม รวมทั้งสื่อออนไลน์

เราอาจไม่ได้นับว่า สื่อมุสลิมเป็นสื่อกระแสหลัก ด้วยขนาดขององค์กร วิธีการบริหารจัดการ การสร้างการรับรู้ของสังคมในวงกว้าง สังคมไทยอาจรับรู้ การมีอยู่ของสื่อมุสลิม ด้วยการได้อ่าน ได้ฟัง ได้ดูโดยผิวเผิน

และหากเขาเฝ้าสังเกตเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของสื่อมุสลิม ก็คล้ายเป็นเรื่องราวภายในเฉพาะกลุ่ม เรื่องความคิดเห็น ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อในการปฏิบัติศาสนกิจ  เรื่องการโต้แย้งกันในเชิงอุดมการณ์ การเมืองระหว่างประเทศ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นข่าวสาร ข้อมูลที่จำเป็น แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วางแผง การกระจายเสียง และภาพถูกส่งออกไป เนื้อหาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม หรือกิจการภายในเฉพาะผู้รับสารที่เป็นมุสลิมอีกต่อไป

คำถามก็คือ เมื่อสื่อมุสลิม เมื่อเนื้อหา ภาพ เรื่องราว ทัศนคติ ความคิด ความเห็น ไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้รับสาร ไม่ได้อยู่บนพื้นที่ของชุมชนมุสลิม หากแต่ปรากฏบนพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆโดยทั่วไป เราจะจัดการบริหารเนื้อหาของสื่อมุสลิม ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร สร้างการรับรู้ ความพึงพอใจในการใช้ประโยชน์จากสื่อมุสลิมของสังคมไทยอย่างไร

ยกเว้นเรื่องความขัดแย้ง การกล่าวร้ายใส่ความกัน การใช้ Hate Speech สาดซัดใส่กันแล้ว สื่อมุสลิม จะก้าวข้ามความขัดแย้งเช่นนี้ และวางตำแหน่งตนเอง เป็นสื่อที่ให้ข่าวสาร ข้อมูล ที่สามารถอ้างอิงได้ และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าสื่อตะวันตกอย่างไร

“จอกอ” มองเห็นพื้นที่ ที่สื่อมุสลิมควรจะมีบทบาทในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง แท้จริงกับสังคมไทย ที่อาจมองไม่เห็นคุณค่าข่าวบางเรื่องที่ถูกบิดเบือน หรือเข้าไม่ถึงความจริง ของข่าวโดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองในประเทศมุสลิม รวมทั้งความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม ที่ถูกอธิบายโดยสื่อตะวันตก และคนที่ไม่รู้เรื่องอิสลาม คนที่มีอคติต่อศาสนาอิสลาม

แม้จะมีการอ้างอิงอยู่บ้าง แต่สื่อกระแสหลัก ก็ยังพึ่งพาข่าวจากสื่อตะวันตกเป็นด้านหลัก ยังเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความจริง หรือให้ความสนใจน้อยกว่าที่ควรเป็น เช่น ข่าวการทำทารุณกรรมชาวโรฮิงญา ที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ทั้งที่เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่รุนแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติปัจจุบัน

“จอกอ” คาดหวังว่า ต้องมีสักหนทางหนึ่ง ที่สื่อมุสลิมจะก้าวไปได้จนถึงจุดนั้น คณะกรรมการภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 ด้านสื่อสารมวลชน ที่มี “จอกอ”เป็นประธาน ลงนามแต่งตั้งโดยท่านจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล เมื่อเร็วๆนี้ อาจเป็นพื้นที่ซึ่งตัวแทนสื่อมุสลิมในแขนงต่างๆ ลงนั่งพูดจากัน สรุปบทเรียนร่วมกันว่าทิศทางก้าวเดินของเราจะเป็นอย่างไรจากนี้

การไปถึงเป้าหมาย การสร้างการรับรู้ในการมีอยู่ของสื่อมุสลิม และการสร้างความเข้าใจในเรื่องศาสนา ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราสลัดความเป็นตัวตนออกไป และยึดถือว่านี่เป็นอามานะห์ หรือความรับผิดชอบร่วมกัน ผลสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม และความพยายามเช่นนี้ จะไม่เสมอเพียงย่ำรอยเท้าลงไปบนผืนทราย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่1145 วันที่ 8 - 14 กันยายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์