วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Beeple น้ำผึ้งสวนผสม สานต่อ 'ศาสตร์พระราชา'

จำนวนผู้เข้าชม

ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมืองลำปาง หากมองเผินๆ พื้นที่ที่เรากำลังดุ่มเดินอยู่นี้ ก็คือป่ารกริมทางทั่วไป แต่หากพินิจอย่างถ้วนถี่จะพบว่ามีอะไรมากกว่านั้น โน่นกล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะม่วง ฝรั่งขี้นก ต้นหว้า นี่ผักเชียงดาขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง ถัดไปเราเห็นนาข้าวหอมมะลิแดงลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได ใบข้าวสีเขียวอ่อนกำลังโอนเอนตามแรงลมต้นฤดูหนาว ล่างสุดคือสระน้ำที่มีปลานิลแหวกว่ายหลายสิบตัวน้ำในสระใส เพราะผู้เป็นเจ้าของเลือกที่จะปล่อยพืชคลุมดินไว้ ไม่ให้น้ำชะล้างหน้าดินลงมาจนหมด

ใช่เพียงป่ารกชัฏ แต่นี่คือรูปแบบเกษตรผสมผสานที่  ธวัชสิทธิ์ งามพันธ์เวชชะกุล  เกษตรกรหนุ่มวัย 33 ปี เรียนรู้มาจากอาจารย์ยักษ์ หรือ ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ศูนย์การเรียนรู้ที่สานต่อศาสตร์พระราชาให้เป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล

หลังลาออกจากโรงงานผลิตยางรถยนต์ชื่อดัง เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของคนงาน บัณฑิตหนุ่มจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ  คณะวิศวกรรมศาสตร์(หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ หวังเก็บเงินซื้อที่ดินต่างจังหวัดทำการเกษตรอย่างใจฝัน ครั้นเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ธวัชสิทธิ์ก็กลับเมืองไทยแล้วมุ่งหน้าไปอบรมด้านการเกษตรกับอาจารย์ยักษ์ ผู้ทำงานใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน อาจารย์ยักษ์อยากให้ทุกคนรู้ว่า ทฤษฎีนี้ทำได้จริงและเห็นผล จึงก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องให้ประชาชนทั่วไปได้สมัครเข้าอบรมด้านการเกษตร นั่นรวมถึงธวัชสิทธิ์ที่ซึมซับศาสตร์ของพระราชามาอย่างเต็มเปี่ยม  เขาตระเวนหาซื้อที่ดินทั่วจังหวัดลำปาง ก่อนจะมาถูกใจที่ดินในตำบลนิคมพัฒนาจึงร่วมกับเพื่อนซื้อที่ดิน 24 ไร่ผืนนี้ ฤดูกาลผ่านผัน เขาลงมือเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในทุกด้าน เพื่อนำมาใช้ออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ผมชอบเกษตรผสมผสาน ตรงที่มันเกื้อกูลตนเองและผู้อื่นครับ” ธวัชสิทธิ์เปรย เรานั่งคุยกันในศาลาพักร้อนหลังเล็กๆ มองเห็นผืนนา 2 ไร่ ที่ให้ข้าวสำหรับ 4 คนกินได้พอดีตลอด 1 ปี สระน้ำ กับต้นไม้เขียวขจีรายรอบ

หลังลงต้นไม้ตามหลักการที่ได้เรียนรู้มา ธวัชสิทธิ์อยากเลี้ยงสัตว์สักชนิด เขาคิดถึงการเลี้ยงผึ้ง เพราะนอกจากไม่ต้องเหนื่อยมากแล้ว ผึ้งยังช่วยผสมเกสรให้พรรณไม้ต่างๆในที่ดินอีกด้วย เขาจึงไปอบรมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ และเริ่มเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในปี 2559

“ก่อนตัดสินใจเลี้ยงผึ้ง อันดับแรกเลยคือ ต้องดูว่าเราแพ้พิษผึ้งหรือเปล่าครับ” ธวัชสิทธิ์พูดพลางหัวเราะ “หลังจากนั้นค่อยดูว่ามีแหล่งอาหารเพียงพอสำหรับเขาไหม ในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ผึ้งบินหากินนั้น มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือเปล่า เพราะผึ้งอ่อนไหวกับสารพิษมาก และในละแวกใกล้เคียงมีชุมชนไหนเปิดไฟสว่างไสวในช่วงเย็นหรือไม่ (ช่วงเย็นคือเวลาที่ผึ้งบินกลับรัง หากมีแสงไฟผึ้งจะแวะเล่นไฟจนมืดค่ำและกลับรังไม่ถูก) ข้อสุดท้าย ต้องมีร่มไม้รำไรที่แสงแดดส่องถึงสำหรับตั้งรังผึ้ง จริงๆ ผึ้งไม่ชอบฝน ภายในรังต้องมีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และเราจะต้องหันหน้ารังผึ้งไปทางทิศตะวันออกเสมอ” ปีที่แล้วธวัชสิทธิ์นำผึ้งมาเลี้ยง 5 กล่อง ทุกวันนี้เขามีรังผึ้ง11 กล่องแล้ว นั่นหมายความว่า การเลี้ยงผึ้งกำลังไปได้สวย

ด้วยจำนวนผึ้งเพียงเท่านี้ หากจะมองในแง่อุตสาหกรรมยังดูเล็กจ้อย แต่สำหรับธวัชสิทธิ์ดูเหมือนเขาจะพอใจ เพราะน้ำผึ้งอันเป็นผลผลิตจากประชากรผึ้งของเขานั้น เต็มไปด้วยคุณสมบัติของน้ำผึ้งแท้ มันคือน้ำผึ้งที่ไม่ผ่านกระบวนการไล่ความชื้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้ความร้อนสูง จึงทำให้จุลินทรีย์ เอนไซม์ และวิตามินเสียไป น้ำผึ้งของธวัชสิทธิ์จะว่าไปก็คือน้ำผึ้งแฮนด์เมด เขาใช้วิธีรอให้ผึ้งปิดฝารวงก่อน ซึ่งก็คือรอให้น้ำผึ้งสุกดี น้ำผึ้งที่สุกดีแล้วไม่จำเป็นต้องไล่ความชื้น แต่ก็อีกนั่นแหละ กว่าจะปิดฝารวงต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ตรงนี้นี่เองที่ฟาร์มผึ้งใหญ่ๆรอไม่ได้ และจะเก็บรังผึ้งไปโดยเอาไปผ่านกระบวนการไล่ความชื้น เพื่อไม่ให้น้ำผึ้งเน่าเสีย ทว่าน้ำผึ้งเหล่านั้นก็สูญเสียประโยชน์ที่แท้จริงไปด้วยอย่างน่าเสียดาย สำหรับธวัชสิทธิ์ น้ำผึ้งที่ดีควรค่าแก่การรอคอย เมื่อเห็นว่าผึ้งปิดฝารวงแล้ว เขาจึงจะยกคอนที่มีแต่รังนำไปตัดเป็นชิ้นๆ ใช้มือบีบน้ำผึ้งให้ไหลลงตัวกรอง จากนั้นบรรจุขวด น้ำผึ้งของเขาเก็บได้มากกว่า 3 ปีไม่เพียงเท่านั้น น้ำผึ้งบางส่วนยังถูกแบ่งไปทำสบู่ขมิ้นชันและกล้วยอบน้ำผึ้ง ส่วนขี้ผึ้งที่เหลือเขามีแผนที่จะนำไปทำลิปบาล์ม ยาหม่อง และเทียนหอมในอนาคต

ธวัชสิทธิ์พาเราเดินไปยังรังผึ้งที่เขาตั้งไว้ใต้ร่มเงาต้นมะม่วงใหญ่ มองเห็นกล่องสีขาวเรียงรายสงบนิ่ง หากเข้าไปดูใกล้ๆ เราจะได้ยินเสียงหึ่งๆอยู่ด้านใน และผึ้งงานที่ทำหน้าที่ปกป้องรังก็ออกันอยู่ตรงทางเข้า-ออก  ผึ้งงานมีวงจรชีวิต 60 วัน ผึ้งตัวผู้มีอายุ 40-50 วัน ส่วนผึ้งนางพญาอาจอยู่ได้ถึง 3 ปี ชีวิตของพวกมันช่างแสนสั้น แต่ทว่าระหว่างนั้น มันได้ทำประโยชน์ให้โลกใบนี้อย่างมหาศาล

ผึ้งจะออกหากินตั้งแต่แสงแรกยามเช้า ไปจนถึงก่อนพลบค่ำ ระหว่างวันพวกมันจะเก็บเกสรดอกไม้และน้ำหวานมาไว้ที่รัง น้ำผึ้งของธวัชสิทธิ์หมุนเวียนไปตามฤดูกาลของดอกไม้ ช่วงไหนดอกลำไยบาน เขาจะได้น้ำผึ้งดอกลำไย ช่วงไหนดอกไม้ในสวนบาน เช่น ดอกสาบเสือ ดอกปืนนกไส้ (ดอกหญ้าไต้หวัน) ดอกกระถินเทพา ดอกไมยราบ ฯลฯ ก็จะเป็นน้ำผึ้งสวนผสม ซึ่งลูกค้าชื่นชอบและไม่ค่อยพบเห็นจากที่อื่น

ทุกวันเสาร์ธวัชสิทธิ์จะวางมือจากงานในสวน เพื่อมาตรวจรังผึ้งทั้ง 11 รัง โดยอาจใช้เวลาตั้งแต่เช้าจดเย็นเขามักนำกล้วยติดมือมาฝากผึ้งด้วย หากยกคอนขึ้นแล้วพบไร ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของผึ้ง เขาจะใช้กรดฟอร์มิก ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่สลายตัวในอากาศ ไม่ตกค้าง เพื่อฆ่าไร หากเก็บน้ำผึ้งได้ก็จะเก็บ แต่หากยังไม่มีออเดอร์และเป็นช่วงฤดูฝน เขาจะไม่รบกวนผึ้ง เพราะฤดูฝนเป็นช่วงที่ผึ้งออกหากินไม่ได้เต็มที่นัก การเก็บน้ำผึ้งช่วงนี้จะทำให้รังผึ้งทรุด

ทุกวันนี้ น้ำผึ้งจากสวนของธวัชสิทธิ์ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Beeple ล้อกับคำว่า “People” ในความหมายก็คือ ประชากรผึ้งนั่นเอง มีวางจำหน่ายที่ตลาด We Market พื้นที่สำหรับคนรักสุขภาพ ทุกวันอาทิตย์แรกและวันอาทิตย์ที่สามของเดือน หากลูกค้านำขวดเปล่ามาคืนจะได้รับส่วนลด 5 บาทอีกด้วย

เราถอดหมวก ซึ่งคลุมด้วยตาข่ายสำหรับกันผึ้ง บรรจงวางกล้วยน้ำว้าปอกเปลือกลงในรังของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสนเปราะบาง หากเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ผึ้งจะไม่ตื่น มันไม่น่ากลัวอย่างที่เราคิดสักนิด ธวัชสิทธิ์บอกว่า ผึ้งจำหน้าคนเลี้ยงได้ด้วยซ้ำ

จากจุดที่วางรังผึ้ง เราเดินสำรวจสวนผสมกันต่อ เหมือนเดินอยู่ในป่า แต่เป็นป่าที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความหวัง ท่ามกลางไม้ผลนานาชนิด ชายร่างสูงเดินนำหน้า แม้เขาจะไม่ได้ตัดถนนเข้าสวนอย่างทั่วถึง แต่ดูเหมือนว่า เกษตรกรรุ่นใหม่คนนี้มีรอยทางที่ชัดเจนสำหรับเดินตาม

เป็นรอยทางที่พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งได้ทรงบุกเบิกไว้เมื่อนานมาแล้ว

 กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1151 วันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์