วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ย่างพระบาทที่ยาตรา คืนคุณค่า ฟื้นชีวิตชาวปงดอน ชีวิต...พี่พ่อให้

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

“ฮักในหลวง ฮักอย่างที่สุด จะบอกกับเปิ่นว่า ถ้าแลกได้พ่อจะต๋ายแทน”  (มีคลิป)
เลา สัตย์มาก ชาวบ้านบ้านปงดอน

ถ้าไม่มีพระองค์ชาวบ้านคงลำบากมาก ไร่นาเขียวชอุ่มได้ทุกวันนี้เพราะพระองค์ เสียงจากชาวบ้าน ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาตรวจเยี่ยมฝายแม่มอน และไปเยี่ยมเยือนราษฎรชาว ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๙ โดยพ่อกำนันวัง ไปเร็ว ได้ยื่นฎีกาขอสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อฟื้นฟูด้านการเกษตรในพื้นที่เนื่องจากประสบปัญหาแห้งแล้งมานาน กระทั่งปี ๒๕๒๒ มีพระราชดำริให้ดำเนินการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำแม่แมะ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้มาจนถึงปัจจุบัน
  •  ความลำบากของชาวปงดอน
พิเดช สัตย์มาก  กำนัน ต.ปงดอน  อายุ ๔๗ ปี  บอกว่า สภาพพื้นที่ของ ต.ปงดอน ช่วงเวลานั้นเป็นหมู่บ้านแห้งแล้ง อดอยากปากแห้ง โดยส่วนใหญ่คนที่มีเงินมีทอง สามารถซื้อที่ดินที่อื่นได้ก็จะย้ายไป คนที่ไม่มีเงินจะอยู่ในพื้นที่เดิม คนที่ทนไม่ได้ก็ทิ้งบ้านเกิดหนีไปทำมาหากินที่อื่น เพราะบางวันก็ไม่มีกิน ต้องเลี้ยงลูกด้วยหัวมันหัวกลอย สมัยนั้นเขาอายุยังไม่ถึงสิบขวบแต่ก็รับรู้ถึงความลำบาก กระทั่งในหลวงรัชกาลที่๙ เสด็จฝายแม่มอนในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๒ กำนันวังได้ทำถวายถวายในหลวงรัชกาลที่๙ หลังจากนั้นไม่นานพระองค์จึงส่งคนมาออกแบบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แมะ

มูล ปลุกเสก อายุ ๖๙ ปี เล่าว่า เดิมที่ดินแถบนี้ถ้าไม่มีฝนตกลงมาจะทำนาไม่ได้เลย น้ำในลำห้วยก็ไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ชาวบ้านจะลำบากมาก เพราะพื้นที่มีความแห้งแล้ง ถนนหนทางจะไปบ้านหมู่ 3 ต้องไปตามคันนา ต้องใช้เท้าเดินเท่านั้น เกวียนหรือรถจักรยานยนต์ก็ยังเข้าไปไม่ได้ 
  •  พูดถึงพ่อกำนันวัง
“พ่อกำนันวังได้ถวายฎีกาที่ฝายแม่มอน พอปี ๒๕๒๒ ก็มีข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่๙ จะมาสร้างอ่างเก็บน้ำให้ชาวบ้านต่างดีใจ แต่ก็ประสบปัญหาคือถ้าสร้างอ่างแม่แมะจะดึงน้ำมาได้อย่างไร เพราะต้องข้ามแม่น้ำวัง  ในหลวงทรงอัจฉริยภาพมาก พระองค์มีแนวคิดว่าจะต้องสร้างลอดใต้แม่น้ำวังขึ้นมาให้บ้าน หมู่ ๒ หมู่ ๗  หมู่ ๓  ต.ปงดอน จะได้รับประโยชน์  เมื่อได้อ่างเก็บน้ำนี้มาก็พยายามหางบประมาณสร้างรางริน ส่งน้ำมาใช้กันจนถึงปัจจุบันนี้”  บางคำของมูล

ร.ต.ท.สมหวัง  ไปเร็ว  ปัจจุบันประจำอยู่ที่สภ.แจ้ห่ม  ซึ่งเป็นลูกชายของกำนันวัง ผู้ถวายฎีกาเล่าว่า  สมัยนั้นในหมู่บ้านกันดารมากต้องใช้ล้อใช้เกวียนในการเดินทาง ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำการเกษตร แต่น้ำก็ไม่ค่อยมี ต้องรอน้ำจากฝนเท่านั้น กำนันวัง บิดาของจึงแก้ปัญหาโดยสร้างฝาย นำกระสอบไปกั้นน้ำไว้เป็นจุด ให้มีน้ำขังเป็นห้วยเล็กๆ จากนั้นก็พยายามยื่นถวายฎีกาขอสร้างอ่างเก็บน้ำลำห้วยแม่แมะ เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จมาที่ฝายแม่มอน  ก่อนหน้านั้นมีอุปสรรคมากมาย ถวายครั้งแรกทางอำเภอได้เอาฎีกาไปไม่ให้เข้าใกล้ ครั้งที่ ๒ ก็มีเจ้าหน้าที่กันไว้  กระทั่งครั้งที่ ๓ พ่อกำนันได้นำฎีกาใส่มะขามหวานถวายให้กับพระหัตถ์ของพระองค์  จากนั้นไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ และเริ่มดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แมะ

เลา สัตย์มาก อายุ ๗๔ ปี  ชาวบ้านไฮ หมู่ ๓ ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม  เล่าถึงกำนันวังด้วยท่าทีจริงจังว่า กำนันเป็นนักพัฒนา วิ่งเต้นช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด  พอทราบว่าในหลวงรัชกาลที่๙จะเสด็จมา กำนันวังทำโครงการเพื่อถวายฎีกา  หลังจากนั้น ๑๕ วัน ก็มีเจ้าหน้าที่มาสำรวจการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แมะ  ตอนนั้นก็มีการมาขอคนงานไปช่วยบอกว่าไปทำแต่ไม่ได้เงิน  เขาก็ยอมเข้าไปทำและได้เป็นหัวหน้าคุมคนงาน

มูล ใยสำลี อายุ ๗๖ ปี  พูดถึงพ่อกำนันวังว่า เป็นผู้นำหมู่บ้าน เป็นคนขยัน ถนนหนทางเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ พ่อกำนันก็ผลักดันให้มีการทำถนน ทำสะพาน สร้างอ่างเก็บน้ำ มีการพัฒนาวัดวาอาราม  ทำฝายก็ไม่ได้ง่าย ต้องตัดไม้ไผ่และไปตอกกั้นเป็นฝาย เมื่อก่อนก็ต้องเอาเหล็กขุดลอกเพื่อนำน้ำเข้ามาในนา 

  •  วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๓ ในหลวงรัชกาลที่๙ เสด็จอ่างเก็บน้ำแม่แมะ
   พิเดช สัตย์มาก  กำนัน ต.ปงดอน  เล่าว่าตอนนั้นอายุได้สิบขวบ ได้ติดตามแม่ไปรอรับเสด็จ  เป็นความตื้นตันของชาว ต.ปงดอน และ ตำบลใกล้เคียง ตอนนั้นจำความได้มาก เพราะประทับใจที่มีโอกาสได้มารับเสด็จ  แม่จะคอยบอกตลอดว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาบ้านเรา ขอให้ไปเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ชาวบ้านพากันเดินเป็นแถวเป็นแนวไปรับเสด็จที่อ่างแม่แมะ อยู่ห่างหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร เดินเท้าไปนั่งรอแต่เช้า ไม่มีใครบ่นใครพูด จนกระทั่งบ่ายได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ก็รู้ว่าพระองค์เสด็จมาแล้ว ชาวบ้านต่างนั่งรออย่างใจจดใจจ่อ เพราะกว่าพระองค์จะเสด็จมาถึงประรำพิธี ต้องเดินประมาณ ๑ กิโลเมตร  พอพระองค์ข้ามสะพานไม้แม่น้ำวัง ทุกคนพร้อมใจกันก้มลงกราบก้มหน้าลงไม่กล้าเงยหน้าขึ้นมอง ด้วยความเป็นเด็กก็แอบเงยหน้ามอง เห็นพระองค์ก็คิดว่าพระองค์รูปงามมาก  เป็นความภาคภูมิใจของชาวปงดอนที่พระองค์ได้มาเหยียบแผ่นดินนี้

ขณะที่ลุงเลา บอกว่า  ได้เห็นในหลวง ภูมิใจมากที่สุด  ตอนนั้นทำหน้าที่ถ่อแพอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ๕ ลำ  พระองค์มาทอดพระเนตรตอนที่ถ่อแพผ่านในหลวงไปที่ตัวอ่าง และรอรับเสด็จ พระองค์ได้เสด็จไปที่ประตูน้ำพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย  ก็เดินตามไปด้วยไปรวมกับกลุ่มชาวบ้านที่รอรับเสด็จอยู่ มีชาวบ้านมาเฝ้ารออย่างล้นหลาม  ในหลวงเดินไปดูทุกจุดที่สำคัญของอ่างเก็บน้ำ ใช้เวลาอยู่นานเกือบทั้งวัน ประมาณ ๑ ทุ่มก็เสด็จกลับโดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์
  •  สิ่งที่พ่อให้
ชาวบ้าน ต.ปงดอน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนทำพิธีเปิดอ่างเก็บน้ำแม่แมะ ชาวบ้านต่างมากันไปเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ชาวบ้านได้ทำการเกษตรทั่วถึง ชาวบ้านดีใจมาก  เมื่อปลูกข้าวออกรวงออกเม็ดก็จะนำมาแบ่งปันกันเพื่อเป็นการขอบคุณในหลวงส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านก็ปลูกผัก เลี้ยงปลาขึ้นมา มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก  ถ้าไม่มีพระองค์ชาวบ้านจะลำบากมาก ทำไร่นาคงไม่ได้ แต่ตอนนี้ไร่นาเขียวชอุ่มได้เพราะพระองค์ จากวันนั้นถึงวันนี้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นเรื่อยๆ  ทำการเกษตรได้ ปัจจุบันนี้ยิ่งดีขึ้นมากเพราะมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเกิดขึ้นในพื้นที่ น้ำอุดมสมบูรณ์มาก 
  •   ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันที่พ่อไม่อยู่
ลุงเลา กลั่นหัวใจพูดว่า คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ในหลวงจะมาใกล้ชิดกับราษฎรขนาดนี้ เกิดมาชาติใดก็ขอให้พบพระองค์ตลอด จะทำตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่๙ตลอดไป

  “ภูมิใจที่สุดที่พระองค์มาทำความเจริญให้กับชาวบ้าน จะไม่ทิ้งคำสอนของพระองค์  วันที่ได้ข่าวร้าย ถึงกับน้ำตาไหลว่าพ่อของเราไปแล้ว ทุกวันนี้ถ้าคิดถึงก็จะน้ำตาซึม  รักในหลวงรักอย่างที่สุด  ถ้าแลกได้จะขอตายแทน”

มูล  กล่าวว่า คิดถึงอยู่ทุกลมหายใจ ขอให้พ่อหลวงไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า ไม่ต้องห่วงราษฎรอีกแล้ว จะจำคำพ่อสั่งสอนตลอดไป

“ จะทดแทนความดีของพระองค์ที่ให้ทุ่มเทให้กับราษฎร จะเดินตามรอยพ่อ สร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน เป็นต้นแบบให้ ต.ปงดอน และชาวบ้านใกล้เคียง จะทำให้สุดกายสุดใจ “

 พิเดช ให้คำมั่นสัญญาจะเดินตามรอยพ่อ

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1152 วันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2560) 
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์