วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สายพระเนตรทอดยาวไกล พลังงานไทยยั่งยืน พลังงาน...ที่พ่อให้

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

“พระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญของพลังงานอย่างมาก จึงได้เสด็จมาในพื้นที่ด้วยพระองค์เอง   จะสังเกตได้ว่าสถานที่ของโรงไฟฟ้าทั้งหลายทั้งปวง จะพระราชทานเป็นชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์” บรรพต ธีระวาส (มีคลิป)

“พูดไม่ออก เรานั่งร้องไห้ ถ้าพูดถึงพระองค์ท่าน จะกี่ปีก็ยังรู้สึกเช่นนี้”
กิตติกิจ เศวตเศรนี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ (กฟผ.แม่เมาะ) ถือกำเนิดเมื่อปี ๒๔๖๔ ๒๔๖๖ มีการว่าจ้างชาวฝรั่งเศสและชาวอเมริกันสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นนำมาใช้แทนฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำของรถไฟ ผลการสำรวจพบว่ามีถ่านหินลิกไนต์ที่บริเวณแม่เมาะ จ.ลำปาง และที่คลองขนาน จ.กระบี่

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ และห้ามมิให้ประทานบัตรการทำเหมืองแก่เอกชนอื่นใดอีกและได้เริ่มเปิดเหมืองแม่เมาะในปี ๒๔๙๗  ส่งลิกไนต์ไปยังหลายจังหวัด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๕ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน ๓ หน่วย ขนาดหน่วยละ ๗๕,๐๐๐ กิโลวัตต์ พร้อมกับงานขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน

ต่อมาวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่๙ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงเปิดโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำแม่เมาะ หน่วยที่ ๔ และ๕  พร้อมทอดพระเนตรห้องควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องกังหันไอน้ำ และงานก่อสร้างอาคารหม้อน้ำ ชั้น ๘ ทอดพระเนตรลานกองถ่านหินลิกไนต์ บริเวณที่ขุดถ่านหินลิกไนต์ บริเวณลานกองถ่านหินลิกไนต์ บริเวณลานโปรยดิน และกิจกรรมต่างๆ บริเวณเหมืองแม่เมาะ  ซึ่งในครั้งนั้นสร้างความปลาบปลื้มปิติให้กับชาว กฟผ.แม่เมาะ และราษฎรชาวแม่เมาะที่รอรับเสด็จเป็นอันมาก

 บรรพต ธีระวาส  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ  บอกว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากล้นเกล้า รัชกาลที่ ๗ มีพระบรมราชโองการสงวนแหล่งถ่านหินที่แม่เมาะ ตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ สายพระเนตรพระองค์ยาวไกลมา ได้มองเห็นเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชาติ

ต่อมาเป็นล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙ พระองค์เสด็จมาสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ ๑๔ มี.ค.๒๕๐๑  ตั้งแต่เป็นเหมืองลิกไนต์ ส่งถ่านหินไปใช้ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๒๘  รัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าหน่วยที่ ๔ และ ๕  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง พระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญของพลังงานอย่างมาก จึงได้เสด็จมาในพื้นที่ด้วยพระองค์เอง

และจะสังเกตได้ว่าสถานที่ของโรงไฟฟ้าทั้งหลายจะเป็นชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์  ครั้งที่พระองค์เสด็จ เขาทำงานเป็นพนักงานคนหนึ่ง ได้ร่วมรับเสด็จอยู่ด้วย

“ รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต จำได้ว่าเป็นบรรยากาศในวันนั้นทุกคนมีความสุขมาก ซึ่ง กฟผ.แม่เมาะ ได้ระลึกถึงพระองค์ทุกปี โดยการจัดวันครบรอบรัฐพิธีในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ของทุกปี”

เจด็จ ทองปัญญา วิศวกร ระดับ ๘ หัวหน้าแผนกประสิทธิภาพ๑ ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ซึ่งเคยรับเสด็จอยู่ใกล้ชิดในหลวง รัชกาลที่๙ เล่าถึงช่วงเวลาแห่งความทรงจำว่า  ได้รับการคัดเลือกจากหัวหน้าให้มาประจำการที่ห้องควบคุม เพราะเคยอยู่หน้าบอร์ดมาแล้ว ๔ ปี โดยทราบล่วงหน้าก่อนเพียง ๒ วันว่าจะได้มาทำหน้าที่นี้

 “ในตอนนั้นนอนไม่หลับเลย กลัวจะทำผิดพลาด  พอถึงช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่๙จะเสด็จมาถึง ก็จะได้ยินเสียงจากทางวิทยุสื่อสารแจ้งตลอดว่าในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จมาแล้วอยู่ตรงจุดไหน  พระองค์เสด็จมาพร้อมกับผู้ว่าการ กฟผ.ในขณะนั้น มายืนอยู่ด้านหน้าบอร์ด ผมเองก็ยืนตัวเกร็งไม่สามารถหันหน้าไปมองพระองค์ได้  รู้สึกหายใจติดขัด ประหม่ามาก สมัยนั้นใครจะใกล้พระเจ้าอยู่หัวได้ จะต้องมีการจัดสรรมาอย่างดี เป็นความปลาบปลื้มที่สุดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตที่เคยอยู่ใกล้กับพระองค์”

เจด็จ พูดพลางยืนตรงถวายความเคารพต่อหน้าบอร์ด ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยรับเสด็จ และถวายงานใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่นี่

ในครั้งนั้น คนที่ทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชนเมื่อครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จรัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้า คือ ศราวุธ ศิริธร หัวหน้าหมวดต้อนรับ สื่อโสตทัศน์ แผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ  บอกว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นอยู่ในความทรงจำตลอด ๓๒ ปีที่ผ่านมา  ในวันนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลสื่อมวลชน จ.ลำปาง  ก็รู้แล้วว่าจะได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ท่านแน่นอน เป็นความฝันอยากจะได้รับเสด็จใกล้ชิดพระองค์สักครั้งหนึ่ง  กระทั่งในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จมาที่พลับพลาที่ประทับ บริเวณโรงไฟฟ้า ได้เพียงแค่เห็นพระองค์ทรงพระราชดำเนินผ่าน สายตามองจ้องไปที่พระพักตร์ มีความรู้สึกขาสั่น และหัวใจเต้นแรงมาก  พอไปคุยกับคุณพ่อว่าทำไมเรามีอาการเช่นนี้  คุณพ่อก็บอกว่านี่แหละคือบารมีของพระองค์ท่าน

เช่นเดียวกับ กิตติกิจ เศวตเศรนี ช่างระดับ ๘ แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ  ที่ได้รอรับเสด็จ  กล่าวว่า ได้เห็นพระองค์ท่านเสด็จลงจากเฮลิคอปเตอร์ รู้สึกตื่นเต้น และมองดูพระองค์ทั้งตอนเสด็จมาถึงและเสด็จกลับ ซึ่งได้รับทราบจากการบอกเล่ากันมาว่าขณะพระองค์ประทับอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ มองจากมุมสูงลงมาเห็นพื้นที่ทิ้งดินและบ่อเหมือง จึงมีพระราชดำริว่าสถานที่ทิ้งดินควรนำมาฟื้นฟูปลูกป่าคืนให้กับราษฎรในพื้นที่ ส่วนบ่อเหมืองเมื่อเสร็จภารกิจของ กฟผ.แล้ว น่าจะเป็นแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต กฟผ.จึงได้จัดทำแผนรองรับไว้แล้ว

นพณภัสสร  ถาวรอธิวาสน์  หัวหน้ากองชุมชนสัมพันธ์  เป็นอีกหนึ่งคนที่เฝ้ารอรับเสด็จ ซึ่งขณะนั้น ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับ เล่าว่า พอทราบว่าในหลวงรัชกาลที่๙จะเสด็จมาที่ กฟผ.แม่เมาะ รู้สึกตื่นเต้นมาก มีโอกาสได้เห็นพระองค์ท่านน้ำตาจะไหล ไม่เคยได้ใกล้ชิดขนาดนั้น เป็นบุญมากที่ได้รับเสด็จอย่างที่ประชาชนหลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นพระองค์ครั้งหนึ่งในชีวิต 

ปุ๊ ขัดทะเสมา อายุ ๖๔ ปี  ราษฎรที่มารอรับเสด็จเมื่อปี ๒๕๐๑ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่๙เสด็จมาลงรถไฟที่สถานีรถไฟแม่เมาะ ตอนนั้นอายุ ๔ ขวบ พ่อบอกว่าวันนี้พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาบ้านเราเลยบอกกับพ่อว่าอยากเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พ่อเลยพาไป ตอนที่ได้เห็นในหลวงรัชกาลที่๙ รู้สึกดีใจมาก ก้มกราบแผ่นดิน กราบรอยเท้าที่พระองค์เหยียบ และบอกว่าวันข้างหน้าถ้ามีลูกหลานก็ขอให้ลูกเจริญรอยตามพระองค์
  •  การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
การเสด็จสวรรคต วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ได้สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับปวงชนชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับชาว กฟผ.แม่เมาะ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ ๙

บรรพต ธีระวาส กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า ทุกคนช็อคกับข่าวที่ได้รับทราบ ต่างคนต่างร้องไห้  รู้สึกเคว้งคว้าง การมีพ่อที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้หาได้ยาก หันไปทางไหนก็เห็นทุกคนมีความรู้สึกเดียวกัน อยากจะบอกว่าคนไทยทุกคนซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้มอบให้กับประเทศไทย เป็นสิ่งที่ล้ำค่าของปวงชนชาวไทย

ไม่ต่างจากความรู้สึกของ กิตติกิจ เขาบอกว่า วันนั้นเป็นวันที่พวกเราสูญเสียมาก ถึงจะเตรียมใจไว้แล้วแต่ก็ยังทำใจไม่ได้  ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวทหาร เราจงรักภักดีมาตลอด พูดไม่ออกเรานั่งร้องไห้  ถ้าพูดถึงพระองค์ท่าน จะกี่ปีก็จะยังรู้สึกเช่นนี้

ศราวุธ ได้เล่าว่า วันนั้นได้ฟังข่าวทางโทรทัศน์ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จไปที่โรงพยาบาลศิริราช  ก็เริ่มรู้สึกไม่ดีตั้งแต่ตอนนั้น พอออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ตอนนั้นนั่งอยู่กับคุณแม่ ท่านก็ยกมือท่วมศีรษะและน้ำตาไหลไปด้วยกัน เราได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักของประชาชนชาวไทย

และสิ่งหนึ่งที่ชาว กฟผ.แม่เมาะ ได้ระลึกถึงพระองค์ท่านคือ การนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และสืบสานต่อไปสู่ชาวบ้าน 


 บรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ย้ำคำว่า กฟผ.ได้น้อมนำเรื่องความพอเพียง ความสมถะ ของพระองค์ท่านมาใช้ ทำให้มีความสุขกับชีวิตและครอบครัวในปัจจุบัน  รวมทั้ง กฟผ.แม่เมาะ ได้นำศาสตร์ของพระราชามาใช้กับงานมวลชนสัมพันธ์โดยตรง การพอเพียง การอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ทุกสิ่งที่ กฟผ.นำมาปฏิบัติเป็นแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านทั้งสิ้น  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1152 วันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์