วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คนสื่อใน สึนามิ

จำนวนผู้เข้าชม

ขาว่ากันว่า วิกฤติสื่อครั้งนี้ ปานคลื่นยักษ์ถาโถมเข้ามา หนักกว่าคราวฟองสบู่แตก เมื่อปี 2540 หลายเท่า ตอนนั้น พวกเขายังผันตัวเองไปทำมาหากินในสื่ออื่นๆ ยังไปรวมตัวกันตั้งบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ได้ แต่คราวนี้คนข่าว ที่ไม่ได้อยู่ในระดับดารา หรือมีค่าตัว เหมือนนักฟุตบอลอังกฤษ ต่างละทิ้งอาชีพสื่อไปประกอบอาชีพอื่น โดยเฉพาะกิจการร้านอาหารสารพัดชนิดกันเป็นส่วนใหญ่

แต่คนที่ยังหลงเสน่ห์ความเป็นคนข่าว หรือเสพติดอาชีพสื่อ เช่น “จอกอ” ก็ยังเลือกที่จะมาทำหนังสือพิมพ์ ในเมืองเล็กๆ ตอบรับความฝันที่มีมาเนิ่นนานของตัวเอง ที่ต้องการทำหนังสือพิมพ์ชุมชน และต่อยอดไปสู่ช่องทาง และประเภทของสื่อที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่า การทำสื่อครบวงจร ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความใหญ่โต มีชื่อเสียงของสื่อ หากอยู่ที่การศึกษา และเอาจริงเอาจังกับมัน

วันนี้ เราจึงมีช่องทางสื่อครบทุกด้าน และความฝันยังเตลิดต่อไป  ว่าเราจะต้องทำหนังสือพิมพ์ให้มีชีวิต ด้วยแอฟพลิเคชั่น เช่นเดียวกับสื่อในเมืองใหญ่ทำ  สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่รู้ว่าคิดแล้ว ต้องทำให้ได้

นั่นเป็นชีวิตหนึ่งของ คนข่าวในคลื่นสึนามิ

ยังมีอีกหลายชีวิต ที่ไม่ต้องการเริ่มต้นสั่งสมประสบการณ์ใหม่ ในอาชีพใหม่ ในเรื่องราวใหม่ๆ พวกเขาจึงยังคงอยู่ในอาชีพสื่อ ด้วยโมเดลที่แตกต่างกันไป

ภาวะ “ผึ้งแตกรัง” ไม่ได้ทำให้หันหางเรือไปทิศทางอื่น คนทำสื่อส่วนหนึ่งที่อาจเคยอยู่ในองค์กรสื่อใหญ่ ยังวนเวียนอยู่ในอาชีพนี้  หลายคนรวมตัวกัน สร้าง “เว็บไซต์ข่าว” ที่เชื่อมโยงไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ เพราะนี่คือการลงทุนที่ใช้ทุนไม่มากนัก และเป็นเรื่องไม่ยาก ด้วยประสบการณ์ที่มีกันมายาวนาน

มองในแง่ดี เมื่อคนข่าวซึ่งมีพื้นฐานความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ หรือมีประสบการณ์ในวิชาชีพนี้มามากพอ เข้าใจหลักการทำงานและความรับผิดชอบต่อสังคม เขาก็อาจเป็น “น้ำดี” มาไล่ “น้ำเสีย” เช่น กลุ่มคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสื่อ แต่สร้างเวป สร้างเพจขึ้นมา ทำมาหากิน สร้างยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดวิว ด้วยวิธีการแบบ Clickbait หรือหัวข่าวลวง  คนเหล่านี้ก็อาจล้มหายตายจากไป เมื่อตัวจริงลงมาเล่นเอง

ผลดีอีกข้อหนึ่ง ก็คือ ถ้าคนข่าวอาชีพ ลงมาเล่นในตลาดออนไลน์  ก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของคนทำสื่อในกลุ่มออนไลน์มากขึ้น

แต่ถ้ามองในทางตรงกันข้าม ก็มีข้อสังเกตว่า โดยธรรมชาติของคนข่าวอาชีพ ขาดประสบการณ์ และไม่ค่อยคุ้นเคยกับการหาเงินในแบบธุรกิจ เพราะในสื่อออนไลน์นั้น อาจแยกแบ่งฝ่ายตลาด กับฝ่ายกองบรรณาธิการไม่ได้ชัดเจน ดังนั้นคนทำเนื้อหาก็ต้องสร้างหลักประกันความอยู่รอดในทางธุรกิจด้วย

นั่นแปลว่า ในระยะเริ่มต้น พวกเขาก็อาจจำเป็นต้องอาศัย คอนเนคชั่น หรือบุญเก่าที่เคยสั่งสมไว้   เป็นช่องทางในการหาเงิน ซึ่งไม่ยั่งยืนเหมือนการจัดการในแบบธุรกิจ โดยใช้คุณภาพของเนื้อหา เป็นหลักสำคัญ

 และก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดจริยธรรม

จึงมีข้อเสนอในการจัดการบริหารแบบธุรกิจ และกำหนดบทบาทกันให้ชัดเจน  เพราะถึงอย่างไร ฝ่ายจัดการ ฝ่ายหาเงิน ก็จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือฝ่ายผลิตเนื้อหา ถ้าเนื้อหาดี มีความรับผิดชอบ มีความน่าสนใจ ธุรกิจก็รอด และที่สำคัญที่สุดจะต้องให้คนติดตามข่าวสาร ได้เข้าใจว่าในโลกออนไลน์นั้นไม่ได้มีแต่ข่าวขยะ ข่าวลือ ข่าวเลื่อนลอยไม่มีที่มา หากยังมีข่าวคุณภาพที่น่าเชื่อถือด้วย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1151 วันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์