วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วย Music Marketing แจ้ซ้อนมิวสิคเฟสติวัล

จำนวนผู้เข้าชม web counter

จะว่าไปแล้วงานอีเวนท์ใหญ่อย่าง แจ้ซ้อนมิวสิคเฟสติวัล คืนพระจันทร์ลำปาง ที่จัดไปเมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็จัดว่าเป็นงานสร้างกระแสได้หลายแนว ทั้งด้านบวกและลบ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนวิจารณ์

จากงานแถลงข่าว ผู้เกี่ยวข้องต่างก็พูดไปในทางเดียวกันว่า การจัดงานดนตรีครั้งนี้ได้นำศิลปินนักร้องชื่อดัง หลากหลายมาไว้ในงานเดียว ตั้งแต่นักร้องยุค 80 ‘ปุ๊อัญชลี จงคดีกิจ ตุ๊กวิยะดา โกมารกุล ณ นคร  หรือ โก้ มิสเตอร์แซกแมน ในรุ่นหลังๆ มาจนถึง ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง เจ็ตเซ็ตเตอร์ และ ศิลปินลูกทุ่ง อาภาพร  นครสวรรค์ และ หงา คาราวาน  เรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางดนตรีเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง

และงานนี้ถือเป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดให้กับสินค้าบริการท้องถิ่น แนวใหม่เรียกว่า  Music Marketing คือการเอาเพลงหรือดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงตัวแบรนด์ในมิติอื่นๆมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ในที่นี้ ก็หมายถึง ลำปางปลายทางฝัน และ แจ้ซ้อน เมืองปาน แม่แจ๋ม ให้เป็นที่รู้จักติดหู ติดใจ ในกลุ่มที่สนใจในดนตรี รวมถึงผู้มาดูชมดนตรีที่จัดขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่การนำเพลงไปใส่เนื้อหาออกมาเป็นเพลง แต่แค่ใช้เพลง ดนตรี คอนเสิร์ต มหกรรม หรือเทศกาลดนตรี มาเป็นสะพานการตลาด และการประชาสัมพันธ์ ให้รู้จักลำปางในแง่มุมของเมืองเล็กๆที่น่ารัก เมืองแห่งธรรมชาติ ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ดึงดูดผู้คนให้มาชมดนตรีท่ามกลางขุนเขา อะไรทำนองนั้น

แม้ว่าคนจากกรุงเทพ หรือต่างจังหวัด จะเข้ามาชมงานดนตรีครั้งนี้อาจจะไม่ได้เข้ามาเที่ยวมากมายอย่างที่โฆษณาไว้ แต่ก็ให้มองมุมกลับเรื่องของการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ของการจัดงานใหญ่ในชนบท เรื่องราวของการเชื่อมโยงเอาสินค้าท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวดองเป็นเรื่องเดียวกัน นั้นเขาทำกันอย่างไร

บทเรียนที่มีคุณค่า คือเรื่องสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ต่างหากที่ต้องกลับมาทบทวนการทำงานในรูปแบบของการจ้างงานจากทีมมืออาชีพ ต้องมองถึงการกระจายรายได้จากเม็ดเงินหลวงลงสู่ท้องถิ่นให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน เพราะแค่การสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์การรับรู้  ช่องทางออกร้าน ขายของหน้างานดูเหมือนจะเป็นแค่ปลายทาง แต่หากโครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 7 ล้าน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าลำปาง ในรูปแบบ แฟมทริป (Family trip/ Familiarization trip) ซึ่งหมายถึง โปรแกรมที่จัดแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว ราคาถูกกว่าทริปปกติ ให้เกิด Viral Marketing ต่อยอดจาก Music Marketing ก็คงจะสมบูรณ์แบบ ขึ้นอีกนิด นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายในชุมชน และแวะเที่ยวงานดนตรี ก็ดูจะมีสีสัน มากกว่าจะเข้าอีหรอบเดิม จัดกันเอง ดูกันเอง

อีกา..รอชม งานดนตรี อีเวนท์ที่จะถึงอีกข้างหน้า ต้องพิจารณาปรับขบวนกันอีกไหม การจะเที่ยวต้องเที่ยวอย่างมีแบบแผน ลำพังคนลำปางอีกมากที่ยังไม่รู้ว่ามีงานนี้ แล้วนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายจะรับรู้ได้หรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์กันครั้งหน้า ว่างบที่ลงไป...ไม่ใช่แค่คำน้ำพริกละลายแม่น้ำ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1194 วันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์