
กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
จู่ ๆ ก็นึกสงสัยว่า เมืองลำปางของเรามีงานหัตถศิลป์ล้านนาใดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์บ้าง นี่ก็ใกล้จะถึงงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 9-13 เมษายนนี้ เลยอยากรู้ว่าบ้านเรานั้น มีสล่าทำเครื่องเงินอยู่หรือไม่ ทว่าคำตอบก็ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม
สลุงหลวงของเมืองลำปางทำด้วยเงินหนัก 38 กิโลกรัม หรือ 2,533 บาท มีความกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ซึ่งชาวเมืองลำปางได้ร่วมกันบริจาคเงินรวม 432,398 บาท เพื่อจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 จารึกภาษาล้านนาบนขอบด้านนอกของสลุงหลวงมีข้อความว่า
“สลุงแก่นนี้ จาวเมืองลำปางแป๋งต๋านไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อย สระสรงองค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าเวียงละกอนในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนา ฮอดเติงห้าปันวรรษา”
เป็นความจริงที่ว่า สลุงเงินของคนพื้นถิ่นเหนือกลายเป็นของใช้ในเทศกาลสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว สลุงมักถูกเก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอมในตู้โชว์ เมื่อความถี่ในการใช้ลดน้อยถอยลง บวกกับความประณีตบรรจงที่ต้องอาศัยการสืบทอดอย่างเคร่งครัดจากสล่ารุ่นเก่า ปัจจุบันจึงหาสล่าเครื่องเงินที่ทำสลุงได้อย่างวิจิตรยากเต็มที หรือหากมีก็ไม่ค่อยทำสลุงกันแล้ว หันมาทำเครื่องเงินในเชิงพาณิชย์ศิลป์เสียมากกว่า

เพราะนี่คือบ้านของช่างฝีมือคนดังอย่างบุญช่วย หิรัญวิทย์ ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์) ประจำปี พ.ศ. 2557 ลุงบุญช่วยเป็นช่างทำเงินที่อาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นสุดท้ายของบ้านประตูปล่อง ทั้ง ๆ ที่ในอดีตย่านนี้เคยเป็นชุมชนคนทำเครื่องเงินของเมืองน่าน ทุกบ้านเคยทำเครื่องเงินไว้ใช้ในครัวเรือน ฝ่ายชายตีเงินเพื่อทำสลุง (ขัน) ขัน (พาน) จอก (ขันใบเล็ก ๆ สำหรับใส่น้ำจากน้ำต้น) ขันหมาก (เชี่ยนหมาก) และพานบุหรี่ ขณะที่ฝ่ายหญิง ประดิดประดอยเครื่องประดับอย่างแหวน กำไล สำหรับสวมใส่อย่างภาคภูมิ
วันวัยที่ล่วงเลยมาถึงปีที่ 80 กว่าของชีวิต ลุงบุญช่วยนั่งลงเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการฝึกทำเครื่องเงินขณะอายุ 17 ปี ถ่ายทอดความอดทนและความเพียรของคนในชุมชนที่เดินเท้าไปขายเครื่องเงินถึงอำเภอปัว อำเภอทุ่งช้าง

ด้วยสายตากับกำลังวังชาที่ลดน้อยถอยลง หากแต่ไม่ได้ตกหล่นในแง่ของความงาม เสน่ห์เครื่องเงินฝีมือลุงบุญช่วยอยู่ที่ลวดลายโบราณอันประณีต เช่น ลายดอกกระถิน ซึ่งเป็นลายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ลาย 12 นักษัตร ลายเทพนม ลายกลีบบัว ฯลฯ อีกทั้งการทำลวดลายจากด้านในออกมาด้านนอก ก็ทำให้เครื่องเงินแต่ละชิ้นมีร่องรอยการเคาะด้วยค้อนอยู่ด้านใน และนี่คือเสน่ห์ของงานทำมือที่หาได้ยาก ยากพอ ๆ กับการหาสล่าเครื่องเงินที่จะสืบสานงานหัตถศิลป์ล้านนาให้คงอยู่ ไม่ว่าที่ไหน น่าน เชียงใหม่ หรือลำปาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1074 วันที่ 8 - 21 เมษายน 2559)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น