วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มายาคติ คนข่าว 4.0

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

มื่อเรียกกันว่า เป็นยุค 4.0 ในทางการสื่อสารที่มีช่องทางมากขึ้น คนผลิตเนื้อหาก็ต้องพัฒนาคุณภาพของข้อมูล ข่าวสาร ให้มีมูลค่ามากขึ้น น่าซื้อ น่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะในทางทฤษฏีเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็น่าจะเป็นโอกาสในการเลือกได้มาก แต่ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นหรือไม่
           
ความเป็นจริงที่ คนในโลกเสมือน ขุดหลุมดักควาย ให้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เช่น เดลินิวส์ ไปคว้าเอาข่าวเซ็กส์ทางเลือก ฟาร์มสุนัข จากเฟสบุ๊คมาขึ้นหน้า 1 ตามด้วยช่อง 9 อสมท และเครือข่ายสื่อที่พยายามแสดงราคาความเป็น “ตัวจริง” เหนือสื่ออื่นๆ ที่แพร่กระจายข่าวกระเป๋าสีรุ้งแฟชั่นที่เป็นเท็จ  หรือแม้แต่ผู้บริหารข่าวเครือเดียวกัน  ที่ไม่เข้าใจแม้แต่หลักการพื้นฐานในการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือของแหล่งข่าวก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ
           
ข่าวในทำนองคนร้ายฉุดนักเรียนหญิงขึ้นรถปาเจโรสีดำ ที่ต่อมาพบว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างครูหนุ่มกับนักเรียนสาว เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ตกตื่นง่าย เชื่อง่าย โดยเฉพาะคนข่าวอาชีพ ที่ดักจับข้อมูล ข่าวสารเอาจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลงลืมหลักการสำคัญคือการเสนอข่าวที่ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน
           
แนวปฏิบัติด้านจริยธรรมบางข้อที่ผมเขียนไว้ เช่น การรายงานข่าวต้องเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน  รอบด้าน และต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำเสนอ โดยเฉพาะการอ้างอิงสื่อออนไลน์ จะต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะคนที่ใช้สื่อออนไลน์นั้น มีความหลากหลาย ทั้งสื่ออาชีพ และสื่อบุคคลที่อาจไม่ได้มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับสื่ออาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบ เป็นตัวกำกับการทำงาน
           
ในยุค 4.0 ที่ข่าวสารวิ่งมาชนเราตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับสื่อยุคก่อนที่ต้องเสาะหาข่าวด้วยความยากเย็น ด้านบวกในปรากฏการณ์นี้ คือมันสามารถตอบสนองความต้องการเชิงปริมาณของสื่อในยุคอุตสาหกรรม  หากแต่ในด้านลบ มันสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่าภาวะข้อมูลท่วมท้น  หรือ Information Overload ที่ผู้คนจะยุ่งยาก สับสนมากขึ้นในการเข้าใจประเด็น เลือกและตัดสินใจ
           
อัลวิน ทอฟเลอร์ เจ้าของงานเขียน Future Shock  เขียนไว้ก่อนที่อินเทอร์เนต จะเกิดขึ้นในโลก เขาอธิบายว่าในยุคนี้ คนจะเลือกข้อมูล  ข่าวสาร ด้วยความรู้สึกที่มากเกินไป
           
แปลว่ามิใช่เลือกที่คุณค่า หรือความจริง แต่เลือกเพราะข้อมูล ข่าวสารนั้นตอบสนองอารมณ์ ความรู้สึก รัก ชอบ เกลียดชัง หรือทัศนคติที่เขามีแต่คนๆนั้น หรือสิ่งนั้น  จึงไม่แปลกที่คนทั่วไป เข้าใจได้ในทันทีว่า นี่คือการสนองตอบอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อของตัวเอง
           
ความน่ากลัวของยุค 4.0 อยู่ตรงนี้
           
เป็นความน่ากลัว คล้ายแม่ปูกับลูกปู ที่บอกให้ลูกเดินตรงทาง แต่ตัวเองเดินไม่ตรงทาง
           
นักข่าวยุค 4.0 มีเครื่องไม้ เครื่องมือในการสื่อสารทันสมัย ที่สามารถสืบค้น สังเคราะห์ ส่งข่าวและภาพได้อย่างฉับพลัน  ทักษะในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้รับการฝึกฝน ฝึกปรือ เพื่อความสามารถในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา แต่ความสำนึกรับผิดชอบต่อคนอ่าน คนดู คนฟัง บางเบา และไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้  หากผู้นำองค์กรไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องนี้อย่างแท้จริง
           
บางองค์กรสื่อ ขาดทุนนับร้อยล้าน และมีแนวโน้มจะขาดทุนมากขึ้น นั่นก็เป็นเพราะความสามารถในเชิงธุรกิจ หรือความสำคัญผิดในความเป็น “ตัวจริง” ที่ไม่ได้มีอยู่จริง เรื่องแบบนี้เข้าใจกันได้ ในสภาพการแข่งขันคนเก่งกว่า ฉลาดกว่าย่อมต้องชนะ
           
แต่ในเชิงอุดมการณ์แล้ว การทำสื่อมิใช่การแพ้ ชนะ หรือกำไร ขาดทุนแต่ประการเดียว หากคือความสามารถในความเป็นมนุษย์ที่คิดเป็น เข้าใจได้  เข้าถึงความรู้สึกของผู้คน เคารพและไม่หมิ่นแคลนคนอื่นๆ จนกลายเป็นมายาคติหลอกตัวเองไปวันๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1093 วันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น