วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566

กฟผ. ห่วงใยประชาชน ชวนระดมทุนสู้ไฟป่า สาเหตุสำคัญ PM2.5 และใช้แอปพลิเคชัน Sensor for All ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน

กฟผ. ห่วงใยประชาชน เดินหน้าแก้ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 อย่างตรงจุด พัฒนาแอปพลิเคชันวิเคราะห์หาสาเหตุ ระงับไฟป่าได้อย่างแม่นยำ ตรวจวัดค่าฝุ่นได้แบบเรียลไทม์ วางแผนการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเชิญชวนร่วมระดมทุนผ่านมูลนิธิเขื่อนยันฮี สนับสนุนจิตอาสาดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สาเหตุสำคัญมาจากความแห้งแล้งตามฤดูกาลทำให้เกิดไฟป่า  รวมถึงการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กฟผ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวในเชิงรุก โดยจัดตั้งทีมจิตอาสาช่วยป้องกันและดับไฟป่าในพื้นที่รอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ลาดตระเวน เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อต่อสู้กับไฟป่า โดยประชาชนมีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญนี้ได้ ผ่านมูลนิธิเขื่อนยันฮี กฟผ. ซึ่งเปิดระดมทุนเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานของจิตอาสาดังกล่าว อาทิ เครื่องเป่าลมเพื่อกำจัดเชื้อเพลิง รองเท้าเดินป่า ถุงมือกันไฟ รวมถึงปัจจัยและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับเจ้าดับไฟป่า เช่น อาหารและน้ำ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเขื่อนยันฮี  https://yanheefoundation.or.th/ ภายในวันที่ 30 เมษายน นี้




ทั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจาก PM2.5 กฟผ. ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Dust Boy มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ พร้อมรายงานผลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางแอปพลิเคชัน Sensor for All ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่ติดตั้งบริเวณโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดรวมกว่า 1,200 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ 





นอกจากนี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับ คณะผู้วิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบต้นแบบสำหรับตรวจวัดและจำแนก PM2.5 แอปพลิเคชัน Air Detector เพื่อหาแหล่งกำเนิดและจำแนกเอกลักษณ์ฝุ่นว่ามาจากการเผาไหม้ หรือฝุ่นละอองประเภทใด โดยทดลองในพื้นที่รอบชุมชน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อีกทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์และดาวเทียม เพื่อตรวจจับจุดความร้อน ที่เกิดจากการเผาป่าในพื้นที่จังหวัดลำปางให้มีความแม่นยำ รายงานความเสี่ยงผ่านเว็บไซต์ เป็นฐานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าสามารถเข้าระงับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศสามารถนำแอปพลิเคชันดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ โดยในอนาคต จะพัฒนาให้อยู่ใน City Da-ta Platform ของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่เป็นข้อมูลในการพัฒนาเมืองต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น