ก่อนการแสดงของช้างในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะสิ้นสุดลง หลายคนคงจำได้ว่า ควาญช้างจะให้ช้างแสดงการวาดภาพต่อหน้าผู้ชม แล้วหลังจากนั้นใครจะซื้อภาพก็นำเงินเข้าศูนย์ฯ หรือไม่ก็เก็บไว้ขายในร้านค้าต่อไป
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2538
ศิลปินชาวรัสเซีย Komar and Melamid
ได้เปิดการแสดงอันน่าทึ่ง ด้วยการวาดรูปกับช้างในสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 พวกเขาเดินทางมาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
จังหวัดลำปาง แล้วช้างของเราก็ได้เรียนรู้การวาดภาพตั้งแต่นั้น
ช้างวาดภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงช้าง ที่สำคัญ
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยยังเป็นปางช้างแห่งแรกในประเทศไทยที่ฝึกให้ช้างวาดภาพได้
ภาพที่วาดโดยช้างมีการนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ
ทั้งยังได้รับการนำเสนอตามสื่อต่าง ๆ โดยมีทั้งที่วาดตามจินตนาการของช้างเอง และย่อมมีบ้างที่ควาญช้างจะเป็นผู้จับงวงช้างในการจับพู่กันเพื่อวาดภาพจึงไม่แปลกหากภาพวาดของช้างจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์หรือไม่
การนิยามความหมายของศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
แต่หลายคนยอมรับว่า งานศิลปะ คือ งานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์ใช้จินตนาการ
ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดสิ่งที่สะท้อนความคิด จิตใจ
จิตวิญญาณของตนเองออกมาเป็นผลงาน
อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบว่า
ช้างมีความสุขและเพลิดเพลินกับการละเล่นเช่นเดียวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม
การเต้นรำ หรือศิลปะ ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะไม่ถูกบังคับให้วาดภาพ
เชือกไหนชอบวาดก็ให้วาด เชือกไหนไม่ชอบก็ไม่บังคับกัน
งวงของช้างมีความยาวและอ่อนนุ่มตรงปลาย
ช่วยให้ช้างสามารถหยิบจับวัตถุที่ต้องการได้ โดยครูฝึกจะสอนให้ช้างจับพู่กันโดยใช้งวงพันรอบพู่กัน
ในขณะที่บางคนสอนให้วางแปรงลงในรูจมูกในส่วนของปลายงวง เพื่อให้ช้างควบคุมฝีแปรงได้มากขึ้น
ทั้งนี้ส่วนใหญ่ครูฝึกจะคอยช่วยเหลือช้างในขั้นตอนการวาดภาพ
บางคนช่วยแนะให้พอเป็นแนวทาง
ในขณะที่บางคนก็ปล่อยให้ช้างสร้างผลงานของเขาด้วยตัวเอง
จะช่วยเหลือก็เพียงจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ เช่น ตั้งขาตั้งสำหรับวางกรอบผ้าใบ
จัดสีและแปรงไว้ เราจึงได้เห็นผลงานศิลปะแบบนามธรรม หรือ Abstract
แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลงานภาพวาดของช้างก็เทียบได้กับการวาดภาพโดยเด็กอายุ
8 ขวบเท่านั้น ต่างกันแค่ผลงานของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ
ถือเป็นงานศิลปะ แต่ผลงานของช้างหลายคนว่ายังไม่น่าจะใช่
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1105 วันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น