วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567

นายอำเภอแม่เมาะ มอบโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้านตกค้าง 8 ราย ต.แม่เมาะ


        นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานส่งมอบโฉนดที่ดินให้กับราษฎร 4 หมู่บ้าน ในตำบลแม่เมาะ คือ บ้านนาแขม หมู่ 7 บ้านเมาะหลวง หมู่ 8 บ้านเวียงสวรรค์ หมู่ 9 และบ้านนาแขมพัฒนา หมู่ 11 จำนวน 8 ราย ที่ตกค้าง ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543




        โดยมีนายอเนก แก้วกำพล นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ตัวแทน กฟผ.แม่เมาะ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.67




        การมอบเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรดังกล่าว เป็นการมอบเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรจากการอพยพราษฎร ครั้งที่ 1-4 ชุดสุดท้ายจากจำนวนราษฎรตามบัญชีรายชื่อผู้ได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับที่จัดสรรทั้งหมด 2,382 ราย 2,616 แปลง โดย กฟผ. สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนเงิน 7,705,190.- บาท ซึ่งเป็นการปิดงานการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง




Share:

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567

คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค(กตป.) จัดประชุมติดตามตรวจสอบการดำเนินการของ กสทช. เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เท่าเทียม

 


วันที่ 9 ต.ค.67 นางอารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (กตป.)  เป็นประธานการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ครั้งที่ 2 จังหวัดลำปาง  รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการ และการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2567  โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย  รศ. (พิเศษ) พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ หัวหน้าโครงการจ้างที่ปรึกษาฯ อาจารย์จตุรงค์ เพิ่มรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย  ดร.ธชะนัน วงศ์ปัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ  และ ดร.ณิช วงศ์ส่องจ้า ผู้ดำเนินรายการเสวนา   ที่โรงแรมทรีธารา ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง

นางอารีวรรณ จตุทอง คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (กตป.)  กล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานฯ มีอำนาจหน้าที่ คือ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. และให้ กสทช. นำรายงานดังกล่าวให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช.  รวมทั้งมีมิติในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีกลุ่มเป้าหมายต้องดูแลเป็นพิเศษคือกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ คุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่สามารถใช้ประกอบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย



การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ จึงขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมประเมินผล โดยนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามารวมกันพูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยใช้เวทีในการสื่อสารเพื่อรับรู้และเข้าใจประเด็นปัญหา และช่วยกันผลักดันให้เกิดข้อสรุปเป็นแนวทางในการแก้ไขประเด็นปัญหานั้นๆ และสานพลังในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ กสทช. และสิ่งสำคัญที่สุดในปี 2567 ของ กสทช. ที่จะต้องดำเนินการ อย่างเร่งด่วน คือ การให้ประชาชนได้เท่าทันในเรื่องใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมเพื่อ ไม่ให้เป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวง

ซึ่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ติดตามตรวจสอบดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. โดยรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ ประเมินผล สรุปผลการศึกษาความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2567  รวมทั้งจัดทำรายงานประกอบการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฎิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่สามารถใช้ประกอบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลต่าง ๆ  ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งประชาชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ

Share:

ปรับเกณฑ์จ่ายเงินช่วยเหลือแบบเหมาจ่าย อัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท


        น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยเปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม.17 ก.ย.2567 ที่อนุมัติไว้แล้ว วงเงิน 3,045 ล้านบาท 

        จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งกรณี (1) ที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่งไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ (2) ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับเงินช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท

        ส่วนผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ไปแล้วบางครัวเรือนจะได้รับ5,000 บาท หรือ7,000 บาทบ้าง จะ จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป

        ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค.นี้ พบว่า มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ แล้ว ในพื้นที่ 50 จังหวัด รวม 67,296 ครัวเรือน จากพื้นที่อุทกภัยในฤดูฝนปี 2567 ทั้งหมด 57 จังหวัด

        ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีบางส่วนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือ ไปให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่เชียงราย และเชียงใหม่ แล้วจำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31.8 ล้านบาท กลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับโอนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป

         ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงาน รวมไปถึงการกรอกข้อมูลยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถดำเนินการยื่นคำร้องได้อย่างถูกต้องและได้รับเงินช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ได้ที่กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปภ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2637-3508 – 10,12 หรือ 089-600-6777 และ 084-874-7387 และหากต้องการสอบถามเรื่องการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์ https://flood67.disaster.go.th หรือพบปัญหาในการใช้งานสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปภ. ได้ที่หมายเลข 0-2637-3604-06 และ 089-968-1232

Share:

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง ประกาศรับสมัครจ้างเหมาบริการรายบุคคล เพื่อปฏิบัติหน้าที่ “บัณฑิตแรงงาน”


ด้วยจังหวัดลำปาง โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปางมีความประสงค์จะรับสมัครจ้างเหมา บริการรายบุคคล เพื่อปฏิบัติหน้าที่ “บัณฑิตแรงงาน” จำนวน 3 อัตรา อัตราค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน ให้สนองตอบต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน และของประเทศตลอดจนภารกิจของจังหวัดลำปาง ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในพื้นที่ โดยบัณฑิตแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีรายละเอียดดังนี้ 

ตำแหน่ง 

- ตำแหน่งบัณฑิตแรงงานประจำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง (1 อัตรา) 

- ตำแหน่งบัณฑิตแรงงานประจำอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (1 อัตรา)

- ตำแหน่งบัณฑิตแรงงานประจำอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง (1 อัตรา) 

ค่าจ้าง 

อัตราเงินเดือน 15,000 บาท 

การรับสมัคร วัน เวลา และสถำนที่รับสมัคร 

ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกสรรให้ขอรับใบสมัครได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง หรือทางเว็บไซต์ https://lampang.mol.go.th/ หัวข้อ ประกาศ “การรับสมัครจ้างเหมาบริการรายบุคคล เพื่อปฏิบัติหน้าที่ “บัณฑิตแรงงาน” และยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง ศาลากลาง จังหวัดลำปาง ชั้น 2 โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมสมัคร ตั้งแต่วันที่ 9 - 16 ตุลาคม 2567 ช่วงเช้าเวลา 08.30 - 12.00 น. ช่วงบ่ายเวลา 13.00 - 16.30 น. (เว้นวันหยุดราชการ) หรือยื่นใบสมัครผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] 

รายละเอียดเพิ่มเติม/ใบสมัคร คลิก!! https://bit.ly/3U0VZgD

Share:

ส่งดวงวิญญาณ “ตำรวจกล้า” ปูนบำเหน็จ 5 ชั้นยศ เป็น พล.ต.ต.


พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ รรท.ผบ.ตร.เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ “ร.ต.อ.กล้าหาญ ปาโกวงศ์ รอง สวป.สภ.เมืองลำปาง” ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ถูกรถจักรยานยนต์ฝ่าด่านพุ่งชน กำชับดูแลสิทธิสวัสดิการ ให้กำลังใจครอบครัว


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ต.อ.กล้าหาญ ปาโกวงศ์ รอง สวป.สภ.เมืองลำปาง ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ณ วัดร่องกอก ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง โดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมข้าราชการตำรวจในสังกัด เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ร.ต.อ.กล้าหาญ ปาโกวงศ์ ร่วมกับพวกตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บริเวณ ถ.รอบเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง ถูกผู้ต้องหาขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าจุดตรวจและเฉี่ยวชน ร.ต.อ.กล้าหาญฯ ได้รับบาดเจ็บ และได้เสียชีวิตระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลลำปาง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567

รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ ร.ต.อ.กล้าหาญฯ และได้กำชับให้ผู้บังคับบัญชาดูแลสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ครบถ้วน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อทายาทของ ร.ต.อ.กล้าหาญฯ โดยเบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบเงินช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ จำนวน 2,383,700 บาท พร้อมปูนบำเหน็จความชอบเลื่อนเงินเดือนและชั้นยศ 5 ขั้น 4 ชั้นยศ เป็น พล.ต.ต.
Share:

กฟผ.เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ผสานกายใจร่วมภารกิจฟื้นฟูคืนพื้นที่ให้ชุมชน เร่งเคลียร์ดินโคลน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

            การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง พร้อมเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ได้สนับสนุนส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัย ล่าสุด บริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 มวลน้ำขนาดใหญ่ได้หอบดินโคลนปริมาณมหาศาล มาพร้อมกับสิ่งปฏิกูลพัดพาถาโถมเข้าใส่บ้านเรือนประชาชนหลายร้อยหลังคาเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และแม้ว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายลดระดับลงแต่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับดินโคลนที่หนาเตอะและเศษซากปรักหักพังทับถมภายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งยากที่ชาวบ้านจะทำความสะอาดได้เพียงลำพัง

โดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ร่วมเข้าทำความสะอาดพื้นที่ห้วงระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา , ศูนย์อาสาล้างบ้าน , มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขณะเดียวกัน    ยังได้ส่งถุงยังชีพไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยภารกิจดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแล้วยังเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย

            นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ได้กำชับและสั่งการให้แต่ละพื้นที่เร่งระดมส่งความช่วยเหลือทั้งเครื่องจักรกลและกำลังคน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ภายใต้โครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ทั้งรถตักหน้าขุดหลัง , รถขุดล้อยาง , รถบรรทุกเทท้าย 6 ล้อ และ 10 ล้อ , รถบรรทุกน้ำ และรถเทรลเลอร์ รวมจำนวน 9 คัน ไปสมทบกับผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรกลของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ , ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.), เขื่อนภูมิพล (อขภ.), เขื่อนสิริกิติ์ (อขส.), สำนักงานใหญ่ กฟผ. และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เกือบ 20 คัน

โดยมีภารกิจหลักขนดินโคลน เก็บกวาดขยะ สิ่งของ และฉีดล้างทำความสะอาดคราบโคลน เร่งรัดเปิดเส้นทางสัญจร คืนความสะอาดให้กับชุมชน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาชน ที่ต่างระดมสรรพกำลังฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

            สำหรับภารกิจที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายจะมีการประชุมกันวันต่อวัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามสภาพหน้างาน อุปสรรคใหญ่ของการฟื้นฟูนำดินโคลนออกคือเรื่องสภาพพื้นที่ที่คับแคบและเป็นพื้นที่ชุมชน เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ทำงานค่อนข้างลำบาก การทำงานต้องใช้เวลา แต่เราเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคืนพื้นที่ให้ชุมชนโดยเร็วที่สุด

“ภารกิจนี้เราไม่ได้ทำงานคนเดียว ร่วมกับหลายหน่วยงาน การประสานงานที่ดี คุยงานกันทำให้การทำงานไม่ขลุกขลัก ราบรื่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ด้วยดี ต้องขอบคุณผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทุกๆ คน ทั้งคนที่ลงพื้นที่หน้างาน และผู้สนับสนุนต่างๆ ในพื้นที่ กฟผ. ขอบคุณมากที่เสียสละเวลาตัวเอง การลงพื้นที่ทำงานไม่ได้ไปด้วยความสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัย และทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และการทำงานครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือชุมชน กฟผ. อยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต” นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) กล่าว  

            ขณะที่ นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) ในฐานะตัวแทนผู้ปฏิบัติงานที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 กล่าวว่า ภารกิจวันแรกของทีมได้เข้าฟื้นฟูบริเวณชุมชนถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถือเป็นพื้นที่สีแดงด่านแรกรองรับน้ำจากแม่น้ำสาย สภาพแรกที่เห็นต้องยอมรับว่าหนักมาก ดินโคลนปิดทับเส้นทางสัญจร บ้านเรือนหลายหลังบริเวณชั้น 1 ถูกดินโคลนปิดทับ 100% ข้าวของภายในบ้านเสียหายเกือบหมด บางหลังถูกกระแสน้ำพัดพังเสียหาย ซึ่งชาวบ้านเองก็พยายามช่วยเหลือตัวเองแต่ด้วยปริมาณโคลนที่มหาศาลก็เกินความสามารถที่จะกำจัดได้

            ในแต่ละวันแต่ละทีมที่ร่วมภารกิจฟื้นฟูชุมชนถ้ำผาจม จะมีการประชุมวางแผนการทำงานบูรณาการความร่วมมือทั้งกำลังคน เครื่องจักรกล แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลเวียงพางคำ และเทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย ภารกิจมีทั้งการล้างโคลนที่ปิดทับเส้นทางสัญจร ทำความสะอาดบ้านเรือน และวางบิ๊กแบคทำแนวคันดินเสริมตลิ่งแม่น้ำสาย


            ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่คับแคบ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยการบริหารจัดการเครื่องจักรกล และการสื่อสารกันระหว่างกันทั้งทีม กฟผ. และทีมอื่นที่บูรณาการร่วมกัน จัดการทำงานให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้การทำงานราบรื่น เป็นไปตามเป้าหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทุกทีมเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงหัวค่ำทุกวัน เพื่อคืนพื้นที่ให้กับชุมชนโดยเร็วที่สุด

            ไม่เพียงแต่ ปริมาณดินโคลนที่มีมหาศาลแล้ว อุปสรรคสำคัญระหว่างการทำงานก็คือ เศษซากปรักหักพังเศษเหล็ก ตะปู และของมีคม ที่ชาวบ้านเริ่มกวาดกองทำความสะอาด ทำให้เครื่องจักรล้อยางที่ทำงานเหยียบย่ำ  เกิดการฉีกขาด ต้องปะและซ่อมแซมตลอด 

            “ในฐานะตัวแทนของผู้ปฏิบัติงานที่ได้ร่วมภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รู้สึกดีใจภูมิใจ ถือเป็นความทรงจำที่ดี นับเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ แสดงให้เห็นว่าในทุกวิกฤต มีโอกาสให้เราได้แสดงบทบาท แสดงพลังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กฟผ. หน่วยงานของเราอยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต EGAT for all พร้อมดูแลช่วยเหลือกันไปตลอด ในส่วนของชาวบ้านเองเค้าก็รู้สึกดีใจที่เห็นหลายความช่วยเหลือ บางคนถึงกับน้ำตาไหล กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หลายครอบครัวไม่เหลืออะไรเลย ไม่รู้ว่าจะกลับมาตั้งตัวยังไง ทุกๆ เย็นเวลาเลิกงาน นำเครื่องจักรกลไปจอดยังจุดจอด ชาวบ้านจะมาให้กำลังใจ ยืนรอปรบมือ ส่งกำลังใจให้ทีมงาน ทำให้เราตื้นตันใจ มีกำลังใจปฏิบัติงานต่อ อยากให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้ชาวบ้านได้กลับเข้าสู่บ้านพักโดยเร็ว” นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) กล่าว

            แม้ว่าภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของทีม กฟผ. จะสิ้นสุดลง มีการส่งมอบพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้กับเทศบาลตำบลเวียงพางคำ และถอนกำลังออกจากพื้นที่แล้ว แต่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงดำเนินต่อไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็วที่สุด 

 

เรื่อง : แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ

ภาพ : แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ และ แผนกการภาพ

 

 

 

 

 

Share:

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567

กฟภ.ลำปาง แจ้งแผนปฏิบัติงานดับไฟฟ้า วันที่ 7-13 ตุลาคม 67

 

วันพุธที่  9  ตุลาคม 2567

-      ปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงสูง เปลี่ยนชนิดสายตัวนำเป็นสายหุ้มฉนวน  โดยมีไฟฟ้าดับ เวลา 08.30 - 17.00 น. พื้นที่ บ้านบ่อหินบางส่วน  EA Solar   และฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู รอบๆ EA Solar



วันพฤหัสบดีที่  10  ตุลาคม 2567

-      ปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงสูง ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและแก้ไขจุดเสี่ยงในระบบจำหน่าย  โดยมีไฟฟ้าดับ  เวลา 09.00 - 16.00 น.  พื้นที่ บ้านธนวรรณ ซอย 1 และ 2



วันศุกร์ที่  11  ตุลาคม 2567

-      ปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงต่ำ เปลี่ยนขนาดสายตัวนำเป็น ขนาด 95 ตร.มม. แก้ไขแรงดันไฟฟ้าตก  โดยมีไฟฟ้าดับเวลา 09.00 - 16.00 น พื้นที่  บ้านพิชัย ตั้งแต่ แยกบ้านหลุยส์โฮมสเตย์ ถึง หน้าวัดพิชัย  และร้าน 188 Cousin Café


วันเสาร์ที่  12  ตุลาคม 2567

-      ปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงสูง เปลี่ยนชนิดสายตัวนำเป็นสายหุ้มฉนวน โดยมีไฟฟ้าดับ  เวลา 08.30 - 17.00 น.พื้นที่ บ้านบ่อหินบางส่วน  EA Solar  และ ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู รอบๆ EA Solar



-      ปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงสูง เปลี่ยนขนาดเสาและเปลี่ยนชนิดสายตัวนำเป็นสายหุ้มฉนวน  ดยมีไฟฟ้าดับ  เวลา 09.00 - 17.00 น. พื้นที่ ถนน ลำปาง - ห้างฉัตร (สายเก่า) ตั้งแต่ สะพาน บ้านท่าล้อ ถึง บ้านป่าเหียง


ทั้งนี้ หากพื้นที่บริเวณที่ดับกระแสไฟฟ้าปฏิบัติงาน มีผู้ป่วยติดเตียงต้องการใช้กระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องมือทางการแพทย์ โปรดแจ้ง PEA ลำปาง ก่อนล่วงหน้า เพื่อติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์ 054-251102  

Share:

หนุ่มเสพยาจนเพี้ยนถืออาวุธมีดเดินข่มขู่ชาวบ้าน สุดทนแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว

          เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 7 ต.ค.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แจ้ห่ม รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแจ้ห้มขอกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนร่วมระงับเหตุชายคลุ้มคลั่ง พื้นที่ ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม  จ.ลำปาง  หลังรับแจ้งจึงจัดเตรียมอุปกรณ์ ไม้ค้ำยัน หรือไม้ง่าม สำหรับจับตัวผู้คุ้มคลั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไปตรวจสอบตามรับแจ้ง

          ที่เกิดเหตุพบชายอายุระหว่าง 35-40 ปี ที่กำลังอยู่ในอาหารคุ้มคลั่งถือมีดอีโต้ยาวกว่า 1 ฟุต สวมใส่กางเกงหม้อฮ่อม เสื้อไม่ใส่ ออกท้าทายผู้คนที่ผ่านไปมาหน้าบ้านหลังหนึ่ง รวมทั้งตะโกนท้าทายเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครองอำเภอแจ้ห่ม  เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.แจ้ห่ม  ที่พยายามเข้าระงับเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่ ต้องถอยไปตั้งหลัก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมและกระชับพื้นที่ ก่อนที่จะใช้อุปกรณ์ไม้ค้ำยันในการควบคุม และสามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้ในเวลาต่อมา โดยไม่มีใครได้รับอันตราย 

            สำหรับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เนื่องจากนายชาญ จูดคง นายอำเภอแจ้ห่ม ได้มอบหมายให้นายกิตติศักดิ์ กำแพงทิพย์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอแจ้ห่ม เจ้าหน้าที่ปกครอง และสมาชิก อส.อ.แจ้ห่ม สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แจ้ห่ม ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น จับกุม กลุ่มเป้าหมายยาเสพติดในพื้นที่ ต.แจ้ห่ม และต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

          และในเวลาต่อมาได้รับแจ้งจากราษฎร ต.วิเชตนคร อ.แจห่ม ว่าได้มีชายไม่ทราบชื่อ มีอาการคลุ้มคลั่งอาละวาด จึงได้เข้าตรวจสอบ ระงับเหตุ พบชายคนดังกล่าวได้เสพยาเสพติดเกินขนาด ก่อนที่จะควบคุมตัวได้ และเบื้องต้นตรวจค้นพบมียาเสพติดประเภทที่ 1 เมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า)รวม 2 เม็ด จึงได้ควบคุมตัว ส่งพนักงานสอบสวน สภ.แจ้ห่ม ดำเนินคดีต่อไป

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์