วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จ.ลำปาง ยื่นข้อเรียกร้องให้จัดการระบบส่งออกโคเนื้อ หลังถูกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอย่างหนักเหลือกิโลละ 60 บาท รวมทั้งขอช่วยการแปรรูปสินค้าเข้าสู่โมเดิร์นเทรด

 


          วันที่ 13 พ.ค.68 เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จ.ลำปาง จาก 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เกาะคา เถิน แม่ทะ และห้างฉัตร  นำโดย นายนพปฎล เจสัน จีรสันติ์ พร้อมด้วยเกษตรกรประมาณ 30 คน รวมตัวกันเดินทางมายังศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  เพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการเสนอนโยบายในการปฏิรูประบบโคเนื้อไทย ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อทั่วประเทศ โดยมีนายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสาวเยาวเรศ แซ่โค้ว พาณิชย์จังหวัดลำปาง  นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังปัญหา



          นายนพปฎล เจสัน จีรสันติ์  ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ  กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทย คือระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมโคเนื้อในประเทศไทย เกษตรกรเลี้ยงโคแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน ไม่มีรองรับเหมือนหมู ไก่ หรือไข่ไก่  รวมถึงเรื่องการเปิดตลาดไปประเทศจีน เนื่องจากไทยไม่มีชายแดนติดต่อกับจีน การส่งออกโคเนื้อจึงต้องผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการเลี้ยงโคเนื้อของเพื่อนบ้านยังคงล้าหลังไทยอยู่ ทำให้เป็นคอขวดไม่สามารถส่งออกโคเนื้อผ่านเพื่อนบ้านไปจีนได้  ทางรัฐบาลจึงต้องหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกรในการส่งออกโคเนื้อมีชีวิตไปจีนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางทะเล หรือรถไฟไทย-จีน   


            อีกประเด็นหลักคือการแปรรูปโคเนื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไปถึงโรงเชือดโรงตัดแต่ง จะเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าได้อย่างไร ซึ่งทางเกษตรกรไม่สามารถทำเองได้  ทางเกษตรกรได้มีการพูดคุยปรึกษากันว่า หากมีการตั้งบริษัทมหาชนทำโรงเชือด โรงตัดแต่ง จะสามารถระบายโคเนื้อในประเทศไทยได้ประมาณ 7 แสนตัวต่อปี ถ้าสำเร็จจริงใน 4 ภาค จะทำให้ไทยขายเนื้อกล่อง และเครื่องในต่างๆไปยังต่างประเทศได้   ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าส่งโคเนื้อมีชีวิตไปต่างประเทศ  จึงอยากให้ทำทั้งสองแนวทางไปควบคู่กันไป ให้เกษตรกรโคเนื้อของไทยอยู่ได้และมีรายได้ที่มั่นคง


          นายนพปฎล กล่าวอีกว่า ในส่วนของ จ.ลำปาง ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคสายพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์  เลือดผสมชาร์โรเล่ส์ ลูกผสมอเมริกันบราห์มัน  มีการส่งออกโคเนื้อมีชีวิตไปทางประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถูกกดราคาลงอย่างมาก จากที่เคยขายราคากิโลกรัมละ 75-80 บาท ถูกกดเหลือกิโลกรัมละ 60 บาทเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาทแล้ว ทั้งหญ้า ข้าวโพด อาหารเม็ด ฯลฯ ทำให้เกษตรกรต้องรวมตัวกันขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม  

           

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์