วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คอนเสิร์ต ไฟต์บังคับ



ต่ละครั้ง ที่ตำรวจบ้านนอกถูกเกณฑ์มาปราบจลาจลในเมือง ว่ากันว่างบประมาณเป็นร้อยล้าน แน่นอนว่าตำรวจชั้นผู้น้อยนี้เหนื่อยยาก เพราะจะทำรุนแรงก็ไม่ได้ ย่อหย่อนก็ไม่ได้ ตึงไป หรือหย่อนไปไม่ได้ทั้งสิ้น เสร็จภารกิจแล้วก็กลับบ้าน พกเบี้ยเลี้ยงที่ถูกหักหัวคิวจากนายเหลือเพียงนิดหน่อยมาอวดลูก อวดเมีย เงินเป็นร้อยล้านละลายหายไปในพริบตา

รัฐมีงบประมาณให้เสมอสำหรับภารกิจดูแล ป้องกันรัฐบาล หรือเรียกให้หรูว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ยามที่ตำรวจบ้านนอก ขาดสนามฝึก ขาดที่พัก แม้กระทั่งรั้วกั้นพื้นที่ ก็ต้องเรี่ยไร หาเงินจากชาวบ้านมาจัดการ สร้างถาวรวัตถุเหล่านั้นเอง แม้จะต้องการเงินทุนไม่กี่แสนบาท

นั่นเป็นการมองในโลกของความจริง แต่หากการหาเงิน หาทองเพื่อเป็นสวัสดิการ หรือประโยชน์แก่ราชการตำรวจเอง มิใช่การฉ้อฉล หรือเปิดช่องให้คนบางกลุ่ม มาทำมาหากิน ตัดหัวคิวอย่างเช่นการจัดคอนเสิร์ต คำนวณรายได้แล้ว น่าจะคุ้มงบประมาณก่อสร้าง แล้วเหลือเงินทอนอีกมหาศาล

คำถามคือ เงินทอนนั้นไปตกอยู่ในมือใคร ผู้จัด หรือนายหน้าที่ใช้สถานะ กต.ตร. ต่อยอดไปแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

ที่สำคัญ ตำรวจหรือผู้จัด มักอ้างเสมอว่า ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ให้ซื้อบัตรด้วยความสมัครใจ ซึ่งหากถอดเครื่องแบบตำรวจออก แล้วขายบัตรแบบชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง นั่นอาจจะพูดได้เต็มคำมากกว่า

ใครจะกล้าปฏิเสธตำรวจ ดีชั่วอย่างไรไม่รู้ได้ แต่ภาพลักษณ์ของตำรวจในบริบทของสังคมไทย คือผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล สามารถเสกเป่าคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในพริบตา ถ้าพวกเขาไม่พอใจ

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถานีตำรวจภูธรสบปราบก็ได้จัด คอนเสิร์ตการกุศล จ๊ะ คันหู นักร้องสาวที่มีภาพลักษณ์เซ็กซี่ วัตถุประสงค์การจัดงานระบุว่าเป็นการต้านภัยยาเสพติด และจัดหางบประมาณทำรั้วพื้นที่ซื้อเพิ่มด้านหลังแฟลตตำรวจ .ในราคาบัตรละ 2,000 บาท มีผู้เข้าชมความเซ็กซี่ราว500-600 คน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จังหวัดลำปางจัดคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อเป็นสวัสดิการ ช่วยเหลือตำรวจที่มีรับหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ย้อนไปก่อนหน้านี้ราวเดือนพฤษภาคม กต.ตร.สถานีตำรวจภูธรงาว จังหวัดลำปาง ก็ได้จัดคอนเสิร์ตการกุศล ข้าวทิพย์ ธิดาดิน ปะทะ วิฑูรย์ ใจพรหม ระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อปรับปรุงสถานที่บริการประชาชน อย่างเช่น ลานจอดรถยนต์ จัดซื้อเก้าอี้ประจำห้องประชุม ฯลฯ

 “แร็ค ลานนา” เคยจับเข่าคุยกับผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจร้านค้าหลายราย ถึงประเด็นเรื่องการจัดงานของหน่วยงานสีกากีว่าหากเราไม่สะดวกซื้อบัตรคอนเสิร์ตการกุศลก็ไม่ต้องซื้อ เพราะในใบปะหน้าก็ระบุชัดเจน ว่า ไม่มีการเรี่ยไรและรับบริจาคอย่างอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากการจำหน่ายบัตรเท่านั้น ก็ได้รับคำตอบว่าไม่กล้าปฏิเสธ พูดไม่ออก กลัวว่าเวลามีปัญหาจะไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล บ้างก็บอกว่าคนที่มาขายพูดจาขู่ นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะบัตรที่มาขอให้ช่วยซื้อนั้นราคาแพงถึงบัตรละ 2,000 บาท ซึ่งในยุคที่ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกสะเก็ด ถือว่าแพงมาก

ล่าสุด กต.ตร.ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ได้จัดกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศลปลายปีนี้ โดยนำศิลปิน และกายกรรมโชว์มาแสดง เพื่อหารายได้ในการปรับปรุงซ่อมแซมสีอาคารที่ทำการและแฟลตตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ซึ่งลักษณะการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ต่างจากที่ สภ.งาว และ สภ.สบปราบ เจอมา เพราะมีกลุ่มมืออาชีพมารับดำเนินการให้

ปรากฏการณ์ร่วมลักษณะนี้เกิดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และตำรวจผู้ที่ลงลายเซ็นต่างก็ตอบอย่างเดียวกันราวกับเป็นบทละครว่า “มีทีมงานมืออาชีพเกี่ยวกับการจัดโชว์การกุศล  เข้ามาติดต่อว่าจะขอจัดโดยใช้ชื่อของ กต.ตร. สภ.ฯลฯ โดยจะนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้”

เช่นเดียวกับที่ สภ.หัวหิน เมื่อเดือนธันวาคม 2552 มีนักธุรกิจ ชาวบ้านพร้อมใจตบเท้าเข้าแจ้งความ เหตุเพราะซื้อบัตรชมการแสดงทอล์คโชว์การกุศล “ร่วมใจ ต้นภัยยาเสพติดโดยศิลปินและโชว์กายกรรม (คณะเดียวกับที่จะมาโชว์ที่ลำปางปลายปีนี้) บัตรใบละ 1,000 บาท จัดโดยคณะกรรมการ กต.ตร.สภ.ปราณบุรี ผู้เสียหายที่จ่ายค่าบัตรไม่มีที่นั่งรู้สึกถูกหลอกให้ซื้อบัตร เพราะบัตรน่าจะมีการพิมพ์มาเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าผู้กำกับที่ลงนามก็ชี้แจงด้วยคำพูดเดิมๆ เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความเอือมระอาให้กับผู้ประกอบการมาก มีการประเมินว่ามีรายได้จากขายบัตรไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ได้สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเสื่อมเสียชื่อเสียงของตำรวจ และ กต.ตร.เป็นอย่างมาก

และนั่นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ทำให้ตำรวจเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะลักษณะการจัด “อีเวนท์การกุศล” ยังคงมีการเดินสายจัดงานทั่วประเทศ ในรูปแบบเดิมๆโดยมีทีมงานฯเดินทางมาขายบัตรให้กับหน่วยงาน ร้านค้า ในพื้นที่ ชนิดแบบปูพรหมว่าให้ช่วยซื้อหน่อยเพื่อช่วยการกุศลของหน่วยงาน  พร้อมทั้งเอาหนังสือที่มีลายเซ็นของนายตำรวจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาแสดง  

ไม่ต้องพูดถึงการบังคับ หรือไม่บังคับ เพียงบอกว่าเป็นงานของตำรวจ มันก็เป็นสภาพบังคับโดยปริยายแล้ว


รัฐบาลแม่หญิง จะต้องให้ความสำคัญเรื่องงบประมาณ สำหรับงานของตำรวจบ้านนอก ให้ตำรวจได้ทำงานอย่างโปร่งใส สง่างาม โดยไม่ต้องแลกศักดิ์ศรีเครื่องแบบสีกากี กับเงินเล็กๆน้อยๆ ที่น่าสงสัยว่ามีขบวนการแบ่งสัน ปันส่วน จนกลายเป็นธุรกิจทำเงินแบบมืออาชีพที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศยามนี้


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 953 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2556) 

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์