วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เปิดเส้นทางเมียวดีเขตเศรษฐกิจพิเศษ - รุก AEC



จากกิจกรรมจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า จัดโดยหอการค้าจังหวัดตาก ร่วมกับหอการค้าเมียววดี พม่า เมื่อ 22 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่พม่า เปิดเส้นทางใหม่ให้คนไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้กว่า 1,000 คน ได้ขี่จักรยานผ่านเส้นทางเขตเศรษฐกิจพิเศษทะลุไปถึงบ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นเขตชุมชนคนไทยพลัดถิ่นอยู่รวมกัน 7 หมู่บ้าน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกจุดหนึ่ง ในเส้นทางการท่องเที่ยวของเมียวดี 

ผู้สื่อข่าวลานนา Bizweek รายงานจากการสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีครั้งนี้ พบว่า เส้นทางคมนาคมในช่วงแม่สอด-เมียวดี ไปยังเชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง 45 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุน 1.14 พันล้านบาท พัฒนาเสร็จแล้ว ทำให้สามารถเดินทางจากเมืองเมียวดี ผ่านเมืองเมาะละแหม่ง ไปยังเมืองย่างกุ้ง (ระยะทาง450 กิโลเมตร) โดยสะดวก รวดเร็ว ส่งผลให้เจ้าของที่ดินสองข้างทาง กั้นแนวรั้วปักปันเขตที่ดินกันค่อนข้างชัดเจน ส่วนตัวเมืองเมียวดีกำลังพัฒนากระจายไปทุกจุด โครงการก่อสร้างโรงแรมน้อยใหญ่ผุดขึ้นมากมาย

ตินเย วิน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เปิดเผยว่า ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีประกอบด้วยศูนย์บริการด้านศุลกากรแบบ One Stop Service ขณะนี้มีอาคารศุลกากรขาเข้าและขาออกพร้อมเปิดบริการ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับพม่าเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และโดยรอบมีพื้นที่รองรับคลังสินค้า และอาคารพาณิชย์ รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี โดยกำลังเตรียมพื้นที่รองรับระบบการขนส่งที่ทันสมัย (Logistic Park) และเกรดพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อรองรับการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ ส่งออกและนำเข้า  จำนวน 15 ราย มีสินค้าไหลเวียนในระบบกว่า 80,000 ชนิด และยังมีสินค้า อีก เกือบ 2,000 รายการที่ไม่ต้องขออนุญาต เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง กาเมนท์ และอุปกรณ์ และสินค้าเกษตร ในปีที่แล้วรวมมูลค่านำเข้าและส่งออกปีละประมาณ 248 ล้านบาท และคาดว่าปีหน้าจะมีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นเป็น 8 เท่า และขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนประกอบการเพิ่มประมาณ 1,800 ราย" ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมียวดีกล่าว

มะติ่น ติน ประธานหอการค้าเมียวดี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของเมียวดีขณะนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีนักธุรกิจพ่อค้า เดินทางเข้ามาที่เมียวดีมากขึ้น โครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมแห่งใหม่ เกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ในปีหน้าจะมีโรงแรม 4-5 ดาวทัดเทียวกับมาตรฐานสากล ก่อสร้างใหม่และเปิดบริการ

ขณะเดียวกันกล่าวว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ กว่า 1,ไร่ ขณะนี้ได้รับการพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักลงทุน โดยในทางนโยบายการบริการด้านธุรกิจ ทางหอการค้าและรัฐบาลพม่า ได้วางระบบการขอนุญาติจดทะเบียนพาณิชย์ เสร็จสิ้นในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ จากเดิมที่มีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน ส่วนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการเตรียมแผนการจัดการ ด้านการนำเข้าและส่งออกอย่างชัดเจน และกำลังเตรียมติดตั้งระบบสแกนตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะนำสินค้าเข้าออกด่านศุลกากร เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการขนส่ง อย่างไรก็ตามคาดหวังว่า จะมีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเมียวดีและแม่สอดแห่งที่ 2 เนื่องจากขณะนี้สะพานมีความแออัด และรับน้ำหนักบรรทุกจำกัด ต้องเสียเวลา แบ่งและขนถ่ายสินค้า สิ้นเปลืองค่าแรงและค่าขนส่ง  การเปิดประตู AEC จำเป็นต้องมีสะพานไทย-พม่า เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

การสำรวจ พื้นที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน จากเมียวดี พม่า คราวนี้ เห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมและล้ำหน้าไทยไปหลายก้าว ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างความวุ่นวายและไม่ชัดเจนในการเตรียมพร้อม

หากมองกลับมายังเศรษฐกิจจุลภาค ระดับท้องถิ่นอย่าลำปาง อยู่ห่างจากชายแดนแม่สอดแค่เอื้อม โอกาสทางการค้าและหาจุดการเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจะแผ่กระจายมาในไม่ช้า กรอบฝันที่ภาครัฐและเอกชนวาดไว้ให้เป็น ศูนย์กลางการขนส่งและคมนาคมทางบก และศูนย์พักและกระจายสินค้าของโซนภาคเหนือ คงต้องเร่งแผนและแนวทางประกอบฝันให้เป็นรูปร่างโดยเร็ว

                                                                                                ศชากานท์ แก้วแพร่ /เรื่อง-ภาพ

ล้อมกรอบ

เมียวดี  ประตูการค้าเชื่อมคาบสมุทรอินโดจีนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ ติดกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ของประเทศไทย มีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้นดินแดน เชื่อมด้วยสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ส่งผลให้เมืองนี้เป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกทางรถยนต์ ทางหลักจากประเทศไทย และอินโดจีน และเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมจากชายแดนไทยเข้าสู่ เมืองย่างกุ้ง และเมืองเมาะละแหม่ง นอกจากนี้ยังอยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ซึ่งเชื่อมต่อไปจนจรดชายฝั่งเวียดนามที่เมืองดานัง


รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าร่วมมือกันในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนบริเวณดังกล่าวให้เป็นเมืองคู่แฝดเพื่อกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน ขณะที่ รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีขึ้น นับเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 19 แห่ง ซึ่งรัฐบาลพม่ามีแผนจะจัดตั้งให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2558  พร้อมกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 967  ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์