วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นายกสื่อการันตี คนข่าวยังเหนียวแน่น



นายกสมาคมผู้สื่อข่าวลำปางเผยสื่อลำปางยังแน่นแฟ้น   มองเป็นเรื่องธรรมดาที่บางสื่อประกอบธุรกิจร่วมเพื่อหารายได้เลี้ยงตัว เนื่องจากวิชาชีพนี้ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างน้อย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้สื่อข่าวลำปางยังคงมีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นและรักในการทำงานด้านสื่อ

.ลำปาง ถือว่าเป็นจังหวัดต้นๆของภาคเหนือที่มีสื่อมวลชนจำนวนมาก ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ  ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่วางจำหน่ายอยู่ทั้งหมด 12 ฉบับ สื่อโทรทัศน์ที่สังกัดส่วนกลางทุกช่อง และยังมีสถานีโทรทัศน์เขลางค์นครเคเบิลทีวี  โดยมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งทำธุรกิจควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพสื่อ เช่น การเปิดโรงพิมพ์ ร้านออกแบบรับทำป้ายไวนิล รับถ่ายภาพและวีดีโอในงานสำคัญต่างๆ เพื่อที่จะหารายได้เสริมอีกทางหนึ่ง                          

..รัตนา ธะนะคำ  นายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง  กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ของสื่อมวลชนลำปางในปัจจุบันว่า  หากถามถึงสถานการณ์สื่อคงต้องแยกเป็นสถานการณ์ของการทำหน้าสื่อกับการเป็นตัวสื่อ การทำหน้าสื่อในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติและจะทวีความรุนแรงในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้นรวมถึงความแตกแยกทางความคิด การทำหน้าที่ของสื่อย่อม อยู่ในสถานะที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นเป็นพิเศษ อย่างน้อยในสังคมก็ถือว่าเราเป็นผู้ที่มีบทบาทในการชี้นำทางสังคมด้วย ส่วนที่มีคนพูดว่าการทำหน้าที่สื่อควรทำตัวให้เป็นกลางนั้นก็ใช่  ซึ่งคำว่ากลางของสื่อมวลชนวิชาชีพจริงๆที่ร่ำเรียนมา คงมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่ากลางของประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่สื่อมวลชนบางคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสายสื่อมวลชนโดยตรงก็ยังคงมีความเข้าใจผิดกับคำว่าความเป็นกลางอยู่  ซึ่งก็ต้องถามว่านิยามของ คำว่า "ความเป็นกลาง" ของคนที่พูดถึงนั้นคืออะไร เพราะคำว่า ความเป็นกลางในภาษาไทย อาจสร้างความสับสนแก่ผู้ที่กำลังทำตัวเป็นกลางอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้นั้นคือ ลักษณะอาจจะไม่สนว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว จะขออยู่ตรงกลางๆ ไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น แต่สำหรับความเป็นกลางของจริยธรรมสื่อมวลชน แล้วคำนี้มาจากคำว่า objectivity หรือคำว่า impartiality ซึ่งหมายถึงการยึดข้อเท็จจริงภายนอก โดยไม่ใส่ความเป็นตัวตนของเราเข้าไปในการทำงานวิชาชีพสื่อ นั่นคือความเป็นอคติ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นความรู้สึกชาตินิยม หรืออุดมการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ที่เรา ถูกปลูกฝังมา นี่คือความเป็นกลาง ของสื่อมวลชนที่ตนเองคิดว่าสื่อมวลชนต้องยึดมั่น และควรจะประกอบไปด้วยความเป็นธรรม นั้นคือเราจะไม่มีความลำเอียงและเปิดกว้าง ต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  รวมทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าความสมดุล หรือ balance ซึ่งเป็นการถ่วงดุลของข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายให้มีพื้นที่การนำเสนออย่างกว้างขวาง หากสื่อมวลชนสามารถทำได้ตามจริยธรรมของตนเองแบบนี้ก็จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆในสถานการณ์ปัจจุบันน้อยลงและสื่อก็จะทำหน้าที่ได้อย่างไม่ต้องถูกกดดันจาก ฝ่ายต่างๆ

ส่วนสถานการณ์ของตัวสื่อในจังหวัดลำปางซึ่งเป็นการรวมสื่อทั้งสื่อส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น เข้าด้วยกัน ปัจจุบันก็ยังคงมีความหลากหลาย เนื่องจากที่มาของสื่อ แต่ละคนไม่เหมือนกัน การเข้ามาทำหน้าที่สื่อในปัจจุบันเข้ามาได้ง่ายกว่าในอดีตมาก บางคนไม่เคยได้ผ่านการฝึกฝนหรือกล่อมเกลาในสายสื่อมาก่อน แต่ด้วยความชอบและอื่นๆประกอบ จนสามารถเข้ามาทำหน้าที่สื่อได้ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าแนวคิด มุมมอง วิสัยทัศน์ และแนวการทำหน้าสื่อของแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งก็ต้อง ให้สังคมเป็นผู้ที่สะท้อนบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อนั้นๆ

เมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของสื่อมวลชน จ.ลำปางในปัจจุบัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวฯ กล่าวว่า การทำหน้าที่สื่อมวลชน หากใครยึดเป็นวิชาชีพหลักแล้วก็ต้องทำใจและยอมรับให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นอกจากจะใจรักแล้ว ต้องขยัน ใฝ่ศึกษา เรียนรู้กระตือรือร้นและตามติดให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ได้ โดยเฉพาะสื่อส่วนกลางมุมมองต้องกว้างมากกว่าสื่อท้องถิ่น เพราะผลกระทบของข่าวจะเป็นวงกว้าง ระดับประเทศไม่ใช่อยู่แค่ระดับจังหวัดเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับผลตอบแทนที่ได้รับที่จะสูงกว่าระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนกลางอาจจะได้ค่าตอบแทนที่ไม่มากนักบางคนก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นกรอบข่าว แต่ก็ต้องมีข่าวออกถึงจะได้ค่าตอบแทนซึ่งบางครั้งข่าวแต่ละข่าวต้องเดินทางไกลแต่ข่าวกลับไม่ถูกคัดเลือกให้ลงก็ไม่ได้ค่าตอบแทน ซึ่งบางเดือนได้ค่าตอบแทนแค่หลักพันเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากสื่อท้องถิ่นที่บางรายก็อยากเพียงแค่ขอให้มีชื่อว่าเป็นสื่อยอมลงทุนลงแรงควักค่าใช้จ่ายเอง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจากต้นสังกัดก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งตรงจุดนี้เองที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่จึงต้องมีการทำธุรกิจที่ตนเองถนัดควบคู่ไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ให้มีผลกระทบกับการทำหน้าที่สื่อเช่นกัน


..รัตนา ยังได้กล่าวอีกว่า  หากเปรียบเทียบสื่อหมายถึง ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่ในจังหวัดลำปางขณะนี้ กับอีกหลายจังหวัดจะเห็นว่าจังหวัดลำปางยังคงมีความเป็นปึกแผ่นรวมกลุ่มกันได้มากทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้เราได้ขยับสถานะจากการเริ่มต้นของบรรดาคนข่าวไม่กี่คนในอดีตเข้าเป็นชมรม จนกระทั่งปัจจุบันเราก็ได้ยกสถานะขึ้นเป็นสมาคม นั่นก็หมายความว่าผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ทั้งหมดของจังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ก็ยังสามารถที่จะทำหน้าที่ร่วมกันได้แม้ในบางเรื่องก็ต่างคนต่างทำตามหน้าที่และ ความรับผิดชอบรวมถึงแนวทางของต้นสังกัดของใครของมันก็ตาม แต่ก็ยังคงช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน และการรวมกลุ่มเป็นสมาคมก็เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดย ไม่คำนึงถึงต้นสังกัดหรือความขัดแย้งส่วนตัวของบางคน ก็จะเห็นว่าสื่อของจังหวัดลำปางของเรามีความเข้มแข็งและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นอย่างมาก


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 967  ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2557)   

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์