วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

สีสันที่หายไปในสายลมร้อน



ท้องฟ้าในฤดูร้อนเป็นสีน้ำเงิน นอกจากเมฆขาวที่ล่องลอยอยู่ประปรายแล้ว ก็ไม่ปรากฏสีสันอะไรมากไปกว่านี้อีก

ในอดีต ดูเหมือนว่าสำหรับชายชราหลายคน ภาพจำของเขาคือท้องฟ้าที่ไม่ใช่แค่สีน้ำเงิน แต่มันช่างน่าตื่นเต้น เพราะเวิ้งฟ้าเดียวกันนี้เต็มแน่นไปด้วยสีสัน

เมื่อราว ๆ 50-60 ปีก่อน ช่วงหลังสงกรานต์เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ผู้ชายทั้งวัยหนุ่มและเด็กเล็กย่านท่ามะโอต่างเฝ้ารอให้ถึงเวลาเย็น เพื่อพวกเขาจะได้พากันลงไปที่หาดทรายริมแม่น้ำวังบริเวณสะพานเขลางค์นคร พร้อมกับว่าวตัวโปรด (สมัยนั้นยังไม่มีสะพาน สะพานข้ามแม่น้ำวังมีเพียงสะพานรัษฎาภิเศกและขัวแตะหลังจวนผู้ว่าฯ)

ลมที่พัดมาจากทางใต้ค่อย ๆ ประคองว่าวตัวน้อยลอยขึ้น...ลอยขึ้น...รอกที่ถืออยู่หมุนติ้ว เชือกป่านถูกปล่อยให้ยาวออกไปจนเกือบสุดสาย เสียงหินก้อนเล็ก ๆ ที่ใส่ไว้ดังกรุ๊กกริ๊ก ว่าวติดลมบนแล้ว เด็กชายแหงนมองว่าวของเขาด้วยความสุขใจ สักพักว่าวต่างถิ่นจากเด็กฝั่งโน้นก็ถูกลมใต้พัดมาใกล้ เด็กย่านท่ามะโอได้เปรียบก็ตรงนี้ ตรงที่ตนอยู่ฝั่งเหนือ ลมที่พัดมาจากทางใต้ย่อมพัดเอาว่าวของเด็กฝั่งตรงข้ามมายังฝั่งพวกเขาเสมอ ถึงตอนนี้ก็ได้เวลาประลองกันแล้วว่า ฝีมือของใครจะเยี่ยมยอดกว่ากัน

สำหรับเด็กย่านท่ามะโอ ร้านขายว่าวที่พวกเขารู้จักดี คือ บ้านลุงแดง-ป้าล้อม ซึ่งเป็นร้านขายของชำบริเวณหัวมุมแยกถนนราษฎร์วัฒนาตัดกับถนนท่ามะโอ โดยจะมีว่าวที่ทำจากกระดาษว่าวหลากสีให้เลือกมากมาย ขณะที่บางคนก็ทำเอง เพราะตัวว่าวนั้นทำแสนง่าย

ทว่าเทคนิคสำคัญอยู่ตรงการทำเชือกป่านให้คมกริบที่สุด เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เชือกป่าน หรือที่เรียกว่าด้ายกุ่ม โดยต้องใช้ตราสมอเท่านั้นจึงจะเหนียวทนดี ลุงจุมพล สืบหล้า วัย 68 ปี ผู้เติบโตในย่านท่ามะโอเล่าว่า วันไหนแดดจัด ๆ จะเป็นวันที่เด็กชายพากันไปหาหลอดไส้ หรือหลอดไฟที่ใช้แรงเทียนหลอดกลม ๆ มาโขลกให้ละเอียด โดยจะไม่ใช้หลอดนีออน เพราะเชื่อว่าหากบาดมือแล้วจะหายยาก จากนั้นนำมาล่อนเอาแต่ส่วนที่เป็นผง คลุกเคล้ากับกาวเปียกจนเข้ากันดี เสร็จแล้วหันไปขึงเชือกป่าน พร้อมกับเอาเศษผ้าชุบกาวสูตรพิเศษค่อย ๆ รูดตามความยาวของป่าน ตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้นจึงม้วนเข้ากับรอก หรือกระป๋องนม

เมื่อว่าวของเด็กชายจากคนละฝั่งแม่น้ำมาเจอกัน พวกเขาจะรีบดึงว่าวของตนเองเข้าหาคู่ต่อสู้ จากนั้นก็ต้องใช้ฝีมือในการเกี่ยวกระหวัดตัดเชือกป่าน เป็นการดูว่าเชือกของใครคมกว่ากัน ทันทีที่ว่าวของใครหลุดลอย เสียงโห่ฮาด้วยความสะใจจะดังขึ้นทั่วคุ้งน้ำ เด็กเล็ก ๆ จะวิ่งตามกันเป็นพรวนเพื่อแย่งว่าวตัวนั้น เด็ก ๆ วิ่งเร็วจี๋ เข้าบ้านนั้น ออกบ้านนี้ ปีนต้นไม้อย่างต้นละมุดที่มีมากมายในย่านท่ามะโอ เป็นที่สนุกสนาน

ส่วนเด็กย่านพิชัยอย่างลุงวิรัตน์ ธิช่างทอง วัย 70 ปี เลือกที่จะเล่นว่าวกลางทุ่งนาโล่งกว้าง เด็กชายหลายคนจากย่านนี้ทำว่าวเองจากถุงปูน หรือไม่ก็กระดาษหนังสือพิมพ์ แต่หากใช้ถุงปูนต้องต่อหางให้ยาว เพราะถุงปูนหนัก ลุงวิรัตน์เรียกว่าวที่ทำเองนี้ว่า ว่าวอีลุ้ม ลักษณะเป็นว่าวรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

ดู ๆ ไปแล้ว ว่าวของลุงจุมพลกับลุงวิรัตน์นั้นเป็นแบบเดียวกัน คือ ว่าวอีลุ้ม เชือกป่านก็ใช้ยี่ห้อเดียวกัน คือ ตราสมอ แถมยังใช้เทคนิคในการทำเชือกป่านให้คมกริบแบบเดียวกันอีก เพียงแต่ลุงจุมพลใช้หลอดไส้แบบกลม ส่วนลุงวิรัตน์เลือกใช้หลอดนีออน

นอกจากว่าวอีลุ้ม ลุงวิรัตน์บอกว่า แถวหลังค่ายยังมีคนทำว่าวชื่อแปลกอย่าง ว่าวก๋ง อีกด้วย ทั้งนี้ ว่าวก๋งที่ลุงวิรัตน์ว่า เป็นว่าวที่ใช้เชือกป่านเส้นใหญ่ โดยจะชักขึ้นในเวลากลางคืน ท่ามกลางความสงัดเงียบ เสียงของมันจะดัง ตึ่งตึง ๆ ในสายลมดึก เสียงนี้เกิดจากการขึงลวดเส้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสายก๋ง

หลายคนคงนึกถึงว่าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทยอย่างว่าวดุ๊ยดุ่ย ซึ่งมักทำเล่นกันในชนบทและชักขึ้นในเวลากลางคืนเหมือนกัน เพียงแต่เสียงดังคนละอย่าง ตัวหนึ่งดังดุ๊ยดุ่ย ตัวหนึ่งดังตึ่งตึง ว่าวก๋งจึงยังคงเป็นปริศนาว่ามีที่มาอย่างไร และก็น่าพิศวงงงงวยด้วยเหมือนกันว่า ว่าวที่เด็กชายเคยใจจดใจจ่อรอคอย หายไปจากท้องฟ้าตั้งแต่ตอนไหน

อาจเพราะเด็กสมัยนี้ไม่เคยมองท้องฟ้า พวกเขาก้มหน้าก้มตาอยู่กับจอสี่เหลี่ยม ไม่โทรทัศน์ ก็แท็บเลต สำหรับชายชราอย่างลุงจุมพลกับลุงวิรัตน์ พวกเขาคือเด็กจากเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ที่ยังคงไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามีอะไรในแท็บเลต และมันสนุกกว่าว่าวตรงไหน



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 971 ประจำวันที่ 28 มีนาคม - 3 มีนาคม 2557)            
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์