วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ


านฉลอง ก้าวสู่ปีที่ 18 ของ “ลานนาโพสต์” ผ่านไปด้วยความอบอุ่น คับคั่ง เป็นความอบอุ่นที่ทำให้มั่นใจว่า หนังสือพิมพ์บ้านนอกยังคงมีอนาคต และเป็นสื่อที่รับใช้ท้องถิ่นได้ไปอีกแสนนาน แต่หากมองไปที่หนังสือพิมพ์ระดับชาติ ไม่เว้นแม้แต่ไทยรัฐ เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ยอดขายอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ ที่หันหัวเรือมุ่งไปสู่ ทีวีดิจิทัล ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสื่อระดับชาติ ไม่เพียงการดิ้นรนไปยังสื่อใหม่ๆเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น หากแต่ในแวดวงสื่อระดับชาติยังเกิดความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย

ข้อถกเถียงเรื่องสื่อที่มีความแตกแยกทางความคิดกันอย่างสุดขั้ว จนกระทั่งมองเห็นสิ่งมีชีวิตอันเดียวกัน เป็นทั้ง “คุณดอกไม้” อันมีนัยสำคัญที่เข้าใจได้และเห็นเป็นทั้ง “นารีขี่ม้าขาว”ในเวลาเดียวกัน  เป็นเรื่องที่นักอุดมคติยอมรับไม่ค่อยได้ เพราะคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ   และเห็นว่าหากสื่อมองเห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคม  ไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยลดทอนความบาดหมางของคนในสังคมไทยไปได้บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงหรือ ในบริบทของสังคมใหม่ที่ไม่ได้มีเพียงสื่อที่ทำมาหากินขายข่าวเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

มีคนถามว่า หากเราค้นหาคำตอบจากกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารว่า พวกเขามองสื่อปัจจุบันอย่างไร เพื่อที่สื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคม และสถานการณ์ที่เป็นจริง ผมแย้งว่าไม่ต้องไปไกลถึงผู้บริโภคข่าวก็ได้ เพียงคนในวงการสื่อมวลชนเองก็ยังมองต่างกัน  ถ้าเรายังปรับความคิดพื้นฐานให้เหมือนกันไม่ได้ เราก็จะมองภาพเดียวกัน ในความหมายและความเข้าใจที่แตกต่างกันร่ำไป ถ้าจะพูดว่าภูมิทัศน์ของสื่อหรือ Media Landscape เปลี่ยนไป ก็น่าจะใกล้เคียง และเป็นชุดคำอธิบายที่ทำให้มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแยกแยะ ไม่วิตกจริตจนเกินไป   

ทุกวันนี้ เราเหมารวมสื่อการเมือง เช่น บลูสกาย เอเชียอัพเดท และสื่อการเมืองในทีวีดาวเทียมหลายช่อง เป็นสื่อในความหมายทั่วไป คือต้องนำเสนอข่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน ในขณะเดียวกันเราก็คาดหวังว่า สื่อรัฐ เช่น ช่อง 11 อสมท.หรือกระทั่งช่อง 3 ภายใต้สัมปทาน อสมท. ต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับสื่ออาชีพทั้งหลาย ซึ่งในโลกของความเป็นจริงนั้น  สื่อเหล่านี้รับใช้รัฐบาล ให้พื้นที่เกือบทั้งหมดในการโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล เป็นกระบอกเสียงแก้ต่างให้รัฐบาล เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ที่จะให้คุณให้โทษได้  

แน่นอนว่า เราไม่อาจปฏิเสธบทบาทของสื่อบางประเภท เช่น เครือข่ายสื่อภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ หน้าที่คือประชาสัมพันธ์งานของรัฐ แต่ความเป็นจริงสื่อเหล่านั้นกลับทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล เปิดพื้นที่ให้กับคนของรัฐบาล หรือกลุ่มคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล มองในแง่นี้ เครือข่ายสื่อภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ก็นับเป็นสื่อการเมืองชนิดหนึ่ง

ประเด็นเรื่องสื่อการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พวกเขาเป็นสื่อที่มุ่งตอบสนองผู้รับสารในฐานะสาธารณชน กลุ่มสังคม หรือ The audience as a public or social group  กล่าวคือ กลุ่มการเมืองที่รวมตัวกันอยู่แล้วในฐานะของสมาชิกพรรคการเมือง หรือมีความสนใจในแนวทางการเมืองคล้ายกัน มีทัศนคติและอุดมการณ์คล้ายๆกัน ดังนั้น เมื่อเรามองพวกเขาในฐานะของคนที่อยู่ตรงกลาง เราอาจพบว่าสื่อเหล่านี้มีอคติต่อบุคคล ต่อแนวทางที่ตรงกันข้าม แม้บางถ้อยคำเขาจะใช้เหมือนกัน เช่น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เข้าใจและคิดถึงความหมายของประชาธิปไตยต่างกัน

และไม่มีทางที่พวกเขาจะติดตรงกัน หรือเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะอิทธิพลของผู้นำทางความคิดของทั้งสองฝ่ายนั้น มีสูงอย่างยิ่ง

ดูภาพผู้ชุมนุมปีกทักษิณ ชินวัตร ทำร้ายร่างกายพระสงฆ์ หน้าที่ทำการ ป.ป.ช.ก็คงพอเข้าใจได้ว่าอิทธิพลของผู้นำทางความคิดนั้นมีสูงเพียงใด

ถ้าเรามองสื่อการเมืองเป็นสื่อเฉพาะทาง ที่มีเป้าหมาย มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน การเท่าทันและไม่หลงไปตามสื่อเหล่านั้น โดยมองเป็นเพียงปรากฎการณ์หนึ่งของสังคม เป็นเสมือนแม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ ที่ย่อมมีวิวัฒนาการไปตามสภาพแวดล้อม ก็อาจจะลดทอนความเครียด จากการฟัง และดูภาพ เสียงที่เราไม่พึงพอใจได้

และถ้าเราเข้าใจ นี่ก็เป็นนานาสังวาส แบบหนึ่ง ซึ่งเป็นภาษาในพระวินัย คือความต่างกันของศีล ความเห็น ข้อปฏิบัติ ต่างมีทิฐิอยู่ร่วมกันไม่ได้ ก็ให้มันเป็นไป     

สื่อนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย เริ่มจากสื่อดั้งเดิม คือหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ในห้วงระยะเวลาการช่วงชิงอำนาจระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลสฤษดิ์มี หนังสือพิมพ์ ไทรายวัน และสารเสรี เป็นสื่อในสังกัด พล.ต.อ.เผ่า ใช้หนังสือพิมพ์ 2500 และชาวไทย ต่อสู้ ในขณะที่ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวตรงไปตรงมา ตามวิชาชีพ เช่น พิมพ์ไทย และสยามนิกร 

เรื่องราวเหล่านี้ เปลี่ยนไปในรูปแบบ แต่เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนมากนัก อำนาจรัฐยังมีอิทธิพลเหนือสื่อเอกชน โดยการถือครองหุ้นผ่านตัวแทน การให้เงินสนับสนุนผ่านงบโฆษณา และกิจกรรมทางการตลาด

การทำงานที่มุ่งต่อเป้าหมายเชิงอุดมการณ์นั้น กลายเป็นมายาคติ ที่ผู้คนเข้าใจผิด และยังหลงคาดหวังว่า สื่อต้องทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา แม้ความจริงนี้จะยังมีอยู่ แต่ก็มีอยู่อย่างบางเบามาก

คิด เป็น เห็น ต่าง เป็นเรื่องนานาสังวาส

คิดได้อย่างเท่าทันสื่อแล้วจะเป็นสุข


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 971 ประจำวันที่ 28 มีนาคม - 3 มีนาคม 2557)    
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์