วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปรากฏการณ์มวลเมฆกำลังมา


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

แนวคิด เมฆาบำบัด คือ การใช้เมฆ รวมถึงแสงสีและปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เป็นเครื่องมือเยียวยาความเครียด ความไม่สบายใจ ให้หันเหไปเพลิดเพลินกับท้องฟ้าตรงหน้าแทน แม้ทางการแพทย์จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าเมฆาบำบัดนั้น มีอยู่จริง แต่หลายคนเชื่อว่า เมฆและท้องฟ้าสามารถทำให้จิตใจสงบ แถมยังสร้างรอยยิ้มได้อีกด้วย
           
ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ชมรมที่มีอายุยืนยาวมากว่า ปี และมีสมาชิกกว่า 45,000 คน ซึ่งสมาชิกหลายคนในชุมชนที่อบอุ่นชุมชนนี้ มีความรู้เรื่องดินฟ้าอากาศไม่แพ้นักวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. บัญชานั้น ห้วงเวลาใดมีปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นบนท้องฟ้า สื่อหลายสำนักมักพาต่อสายขอสัมภาษณ์ท่านอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมฆกันชน เมฆม้วน หรือกระแสที่กำลังมาแรงอย่างปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง

โดยเมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เห็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่น่าตื่นเต้นอย่างหนึ่ง ซึ่ง ดร. บัญชาได้อธิบายผ่านเฟซบุกของชมรมฯ ว่า ในภาพรวมอาจเรียกสั้น ๆ ว่า เมฆสีรุ้ง (iridescent cloud) หรือปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง (cloud iridescence)

ทั้งนี้ มักมีผู้แปลผิดเป็น “rainbow cloud” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีทางอุตุนิยมวิทยาและทัศนศาสตร์เชิงบรรยากาศ นอกจากนี้ บางคนยังวิตกกังวลว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกี่ยวโยงอย่างไรหรือไม่กับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่ง ดร. บัญชาก็ได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวแต่อย่างใด
           
ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่จะเกิดปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง ลำปางบ้านเราก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพียงแต่จะมีใครเห็นไหม หรืออาจจะเห็น แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมาแชร์ผ่านสังคมออนไลน์เท่านั้นเอง

ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้งเกิดจากองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งนี้ ดร. บัญชาได้อธิบายปรากฏการณ์ท้องฟ้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ มิถุนายน โดยแยกทีละส่วนดังนี้

1. เมฆก้อนใหญ่ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆก้อนชนิดอวบระยะสุดท้าย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองในอีกไม่ช้า

2. หมวกเมฆ คือ เมฆบาง ๆ ที่เกิดขึ้นเหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า pileus (ไพลีอัส-แปลตรงตัวว่า หมวก) หมวกเมฆเกิดเพราะมีกระแสลมหอบความชื้น (ไอน้ำ) ให้เคลื่อนที่ผ่านเหนือยอดเมฆก้อน

- ในกรณีที่ยอดเมฆอยู่ต่ำ อุณหภูมิยอดเมฆจะค่อนข้างสูง ความชื้นนี้จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

- ในกรณีที่ยอดเมฆอยู่สูง อุณหภูมิยอดเมฆต่ำติดลบ ความชื้นนี้จะกลายเป็นผลึกน้ำแข็งและหากหมวกเมฆมีสีเทา เป็นเพราะมีแสงมาตกกระทบน้อย

3. เมฆสีรุ้งและเป็นลอนคลื่น

เมฆระดับสูง มีลักษณะเป็นแผ่นและเป็นลอนคลื่น ดร. บัญชาระบุว่า คือเมฆ Cirrostratus ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือผลึกน้ำแข็ง ทั้งนี้ ปรากฏการณ์สีรุ้งเกิดจากการที่ผลึกน้ำแข็งในเมฆดังกล่าว ทำให้แสงสีขาวของดวงอาทิตย์แตกออกเป็นสีรุ้ง โดยกลไกการเกิดสีรุ้งมี แบบหลัก แบบแรก คือ การเลี้ยวเบน-หากตำแหน่งที่เกิดสีรุ้งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ คือ ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 10 องศา ส่วนแบบที่สอง คือ การแทรกสอด-หากตำแหน่งที่เกิดสีรุ้งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ คือ ห่างจากดวงอาทิตย์เกิน 10 องศา สูงสุดอาจถึง 40 องศา

แจ้งข่าวกันอีกนิดว่า ในวันที่ 19-21 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา ณ ท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีปรากฏการณ์ ดาวเคียงเดือน คือ ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว แต่ที่พลาดไม่ได้ คือวันที่ 20 มิถุนายน เราจะได้เห็น ดวงจันทร์ยิ้ม โดยดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะอยู่ห่างกันเพียง องศา มองดูคล้ายดวงตาคู่หนึ่ง ส่วนดวงจันทร์ขึ้น ค่ำปรากฏเป็นเสี้ยวตะแคงอยู่ด้านล่างของดาวเคราะห์ทั้งสอง ซึ่งดาวศุกร์จะสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี และอยู่เยื้องต่ำกว่าเล็กน้อย ปรากฎการณ์นี้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วฟ้าเมืองไทย (หากฟ้าใส ไม่มีเมฆ)

ขอให้มีความสุขกับการมองท้องฟ้า เพราะความสุขนั้นเรียบง่าย บางครั้งก็รายรอบเราอยู่แค่นี้เอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1032 วันที่  12 - 18 มิถุนายน 2558) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์