วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เรื่องเล่าชวนเวียนหัว หน่ายครู เหนื่อยตำรวจ

           
นเมืองเล็กๆ อย่างลำปาง อาจมีเรื่องแปลกๆ ที่คาดไม่ถึงให้ได้อึ้งกันบ้าง เช่น วิธีการล่อหลอกผู้ปกครองไปเป็นจำนวนนับ แลกกับการให้คะแนนเด็ก หรือตำรวจที่อ่อนกฎหมาย จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้
           
ว่าไปก็อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรม คือความรู้สึกสำนึกที่ดีของคน ไม่ว่าอยู่ในอาชีพใด
           
หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.ค.58) ได้มีโอกาสไปรับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น ประจำปี 2557 หนังสือพิมพ์ภูมิภาค จากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ แล้วที่หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ จากนั้นได้มีโอกาสร่วมเวทีสนทนากลุ่ม ความอยู่รอดและความท้าทายของสื่อไทย ร่วมกับ คุณสมนึก กยาวัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บ.หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว จำกัด คุณศุภกรณ์ เวชชาชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บ.โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และคุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดำเนินรายการโดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย โดย แร็ค ลานนา ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมของคนหนังสือพิมพ์บ้านนอก แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อส่วนกลางหรือสื่อภูมิภาคล้วนแต่ทำหน้าที่อยู่ที่พื้นฐานจรรยาบรรณของสื่อทั้งสิ้น
           
การประกอบสัมมาอาชีพใดๆ ควรมีจริยธรรม จรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เทศกิจ พยาบาล แพทย์ คนขับแท็กซี่ ทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่ครู
           
นอกจากเรื่องรับรางวัลแล้ว แร็ค ลานนา มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เรื่อง
           
เมื่อไม่นานมานี้ ได้ยินมาจากนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง บอกว่าที่โรงเรียนมีงานกิจกรรม และมีการบรรยายของคุณหมอนักพูดชื่อดัง ซึ่งก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนลำปางอาจเพราะเป็นงานภายใน แต่ได้ยินเสียงจากนักเรียน บางคน บางห้อง” ว่าคุณครูบอกว่าถ้านักเรียนมาเข้าฟังบรรยายพร้อมผู้ปกครองตั้งแต่ 9โมงเช้าถึงเที่ยง นักเรียนคนนั้นจะได้คะแนน 10 คะแนน เป็นคะแนนดิบไม่ต้องไปหารใช้รวมกับคะแนนเก็บ ตัดเกรดได้เลย ส่วนนักเรียนระดับชั้นม.ต้น ก็กระซิบให้ฟังว่า ครูบอกว่าถ้าอยากจะเรียนต่อที่เดิมให้พาผู้ปกครองมาฟังด้วย มิเช่นนั้นจะไม่มีสิทธิ์สอบ
           
พอได้ฟังดังนั้นก็คิดตามว่า แล้วห้องประชุมจะพอรองรับผู้ปกครองได้เหรอ เพราะไม่ว่าผู้ปกครองจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนั้น ส่วนใหญ่ก็พร้อมที่ไปเข้าร่วม เพื่อให้ลูกได้คะแนนเพิ่ม
           
โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าวิธีการนี้มันไม่ควรนำมาใช้ เพราะหากครูให้คะแนนเพิ่มจริงก็จะเป็นการไม่ยุติธรรมกับนักเรียนคนอื่นๆที่ครูไม่ได้แจ้ง หรือหากครูไม่ให้คะแนนแต่เอาคะแนนมาอ้างเพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมฟังบรรยายของคุณหมอนักพูดหลังจากที่คุณหมอบรรยายให้นักเรียนฟังแล้ว โดยมีผู้ปกครองราวร้อยกว่าคนเห็นจะได้ ผู้ปกครองหลายคนต้องลางานครึ่งวัน บ้างก็ต้องหยุดขายของ หยุดเตรียมของเพื่อขายตอนเย็นทำให้วันนั้นก็ไม่มีรายได้ แต่ก็ยอมเพื่อหวังให้ลูกได้คะแนนเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลายคนจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ก็ตาม
           
โดยส่วนตัวคิดว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่คนเป็นครูไม่ควรนำมาใช้กับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ความคิด ทัศนคติในวัยนี้ควรได้เห็นตัวอย่างที่ดี เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกันแบบนี้
           
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากเล่าสู่กันฟัง นอกจากเรื่องครู นักเรียนแล้ว ก็มีเรื่องตำรวจ ที่น่าเป็นห่วงผู้รักษากฏหมายที่ไม่แม่นกฏหมาย แล้วประชาจะอุ่นใจได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลง
           
คนไทยมีอัตราเติบโตของการใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับโลก ในขณะที่ความรู้เท่าทันกฎหมายที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การหมิ่นประมาท การละเมิดลิขสิทธิ์การนำวรรณกรรม ภาพถ่าย บทความ ฯลฯ มาใช้บนเว็บไซด์ของตัวเองโดยไม่เคยขออนุญาตเจ้าของผลงานแต่นำเว็บไซด์ไปหากินทางธุรกิจโดยที่ไม่ต้องลงทุนในการผลิตเนื้อหาสาระ แต่มักง่ายโดยการก๊อปปี้และแปะบนเว็บไซด์ แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับขโมย
           
การขโมยผลงานทางอินเทอร์เนตนี่อาจจะเลวร้ายกว่าโจรปล้นเสียอีก เพราะโจรปล้น ยังมาปล้นซึ่งๆหน้า แต่การปล้นลิขสิทธิ์มาใช้ในเว็บไซด์นี่เจ้าของผลงานอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้   แต่ที่น่าเจ็บปวดกว่านั้นคือ เมื่อเจ้าของผลงานไปแจ้งความกับตำรวจในท้องที่เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซด์ที่ภายในเว็บมีรายละเอียดว่าใครเป็นเจ้าของ เบอร์ติดต่อเพื่อลงโฆษณาชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับถามเจ้าของผลงานว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์แล้วเจ้าของผลงานเสียหายอะไร?!?!
           
จริงอยู่ว่ากฏหมายมีมากมาย ตำรวจอาจไม่รู้ทุกตัวบทกฎหมายแต่ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ เพราะทุกวันนี้แนวโน้มการหมิ่นประมาททางคอมพิวเตอร์ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางเว็บไซด์เพิ่มขึ้น อย่างกรณีโอ้โหซ่าเว็บไซด์ที่ตอนนี้ปิดเว็บไปเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี น่าแปลกที่กรุงเทพฯถึงสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ แต่ที่จังหวัดอื่นกลับไม่สามารถทำอะไร ทั้งที่ก็เป็นตำรวจเหมือนกัน
           
บางทีอาจต้องใช้ยาแรง เพื่อกระตุ้มต่อมสำนึกความรับผิดชอบกันบ้าง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1036 วันที่ 10-16  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์