วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แกลเลอรีลำปาง ธุรกิจด้วยใจรัก

      
ภายในตึกแถวย่านพระบาทของ อัญชลี แกลอรี่ หญิงสูงวัยสวมหมวกสักหลาด แต่งตัวเก๋ไก๋นั่งอยู่ตรงมุมห้อง งานศิลปะที่รายล้อมเธออยู่ขณะนี้มีมูลค่ามหาศาล
           
อัญชลี  อินทร์อุดม ศิลปินมากความสามารถชาวลำปาง คือเจ้าของห้องแสดงผลงานศิลปะที่รู้จักกันดีในหมู่ศิลปินทั่วประเทศ เธอเป็นเจ้าของผลงานทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ในแกลเลอรีแห่งนี้ โดยแต่ละชิ้นเป็นของศิลปินในเครือข่ายกว่า 50 คนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย อัญชลีบอกว่า เธอก็เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆที่ชอบของสะสม  เพียงแต่เธอไม่ได้สนใจกระเป๋า รองเท้า หรือเครื่องประดับ แต่กลับหลงใหลงานศิลปะชนิดถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งแน่นอน ผลงานทุกชิ้นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากทุ่มเทเพื่อให้ได้มา โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เมื่อไรจะขายได้ หรือวันไหนจะคืนทุน
           
ธุรกิจแกลเลอรีอาศัยใจรักอย่างมาก แต่รักอย่างเดียวไม่พอ ไม่มีเงินก็ทำไม่ได้เหมือนกัน อัญชลียิ้มพลางกล่าวต่อไปว่า ภาพทุกภาพในแกลเลอรี ไม่ได้เช่า หรือเชื่อศิลปินมา แต่ใช้วิธีซื้อทีละรูปสองรูป สะสมเรื่อยๆวันแล้วันเล่าจนเต็มแกลเลอรี ราคาขายอยู่ที่หลักพันถึงหลักล้าน
           
งานศิลปะไม่ใช่ขนม หรือกาแฟ ที่จะซื้อง่าย ขายคล่อง ถามว่าได้ขายไหม ก็ได้ขายนะคะ เพียงแต่ลูกค้าไม่ได้เดินดุ่มๆ เข้ามา แล้วชี้เอาภาพนั้นภาพนี้ ส่วนใหญ่จะได้ขายช่วงจัดนิทรรศการ หรือจัดแสดงงานศิลปะเนื่องในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะงานการกุศลนี่ คนลำปางจะสนใจมาก
           
ความเป็นศิลปินของอัญชลีทำให้เธอไม่สนใจที่จะโฆษณาตนเองมากนัก คนเข้ามาหาเรา เพราะสิ่งที่เราทำไว้หลายสิบปีมากกว่า ทั้งนี้ อัญชลีเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานออกแบบโลหะและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นนักแต่งเพลงและนักเขียนอีกด้วย โดยเธอยอมรับว่า ลำพังธุรกิจแกลเลอรีคงยากที่จะเลี้ยงตนเองได้ ต้องอาศัยธุรกิจอื่นๆมาช่วยประคับประคอง
           
คนลำปางสนใจงานศิลปะน้อยมาก ศิลปินรุ่นใหญ่โคลงศีรษะ ผู้คนสนใจอะไรที่ราคาถูกมากกว่า
           
อย่างไรก็ตาม อัญชลีเชื่อมั่นเสมอว่า งานศิลปะสามารถกล่อมเกลาจิตใจผู้คนได้ การเข้าไปในแกลเลอรีที่ไหนก็ตามเพื่อชื่นชมงานศิลปะสักชิ้น ต้องอาศัยใจรักล้วนๆ และเพื่อให้งานศิลปะได้รับใช้สังคมบ้าง อัญชลีจึงมีแนวคิดที่จะเปิดแกลเลอรีให้เด็กและเยาวชนที่เรียนด้านศิลปะ ได้เข้ามาใช้พื้นที่เรียนรู้ พร้อมกับซึมซับความงามจากผลงานศิลปะ ซึ่งส่วนใหญ่สื่อสารผ่านอิริยาบถต่างๆของผู้หญิง ทั้งยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็นล้านนา
           
จากย่านพระบาทและความเป็นอาร์ติสต์แบบสุดขั้วของศิลปินหญิง เรามายังย่านกาดกองต้า ในอาคารหม่องโง่ยซิ่นมีแกลเลอรีของ MELANN อยู่ด้านใน ลวดลายมงคลหลากหลายรูปแบบ ปรากฏอยู่บนแผ่นหินทรายขนาดใหญ่ เรียงรายเต็มพื้นที่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ผมไม่ได้ขายหินทราย ผมขายสุนทรียศิลป์ ดูเหมือนว่า จำรัค จีรปัญญาทิพ ผู้เป็นเจ้าของ MELANN จะให้คำจำกัดความงานศิลปะหินทรายในรูปแบบของตนเองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเขาได้ทิ้งอาชีพวิศวกรในบริษัทยักษ์ใหญ่ไว้เบื้องหลัง แล้วหันมาทุ่มเทให้กับงานศิลปะที่เกิดจากเม็ดทราย มีลานจึงไม่ได้มุ่งประกาศตนเป็นงานอาร์ตเพียวๆ แต่คือส่วนผสมอันลงตัวระหว่าง สิ่ง อันได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้ด้านวิศวกรรม และงานดีไซน์

งานศิลปะที่ทำขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว กว่าจะผ่านการตกผลึกของศิลปิน กว่าจะลงมือสร้างสรรค์อาจต้องใช้เวลายาวนาน จึงทำให้งานชิ้นนั้นๆ ขายถูกไม่ได้ นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปเข้าไม่ถึงงานศิลปะ ซึ่งมักจะแพงระยับจนจับต้องไม่ได้

ศิลปินไส้แห้งคงมาจากเหตุนี้ด้วยกระมังครับ จำรัคกล่าวว่า มีลานให้ความสำคัญกับการสร้าง Story ให้ตัวสินค้า โดยเขาจะเป็นคนคิดลวดลายใหม่ๆซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ ก่อนจะส่งต่อให้ดีไซเนอร์รังสรรค์ความคิดนั้นขึ้นมาเป็นลวดลาย มิติ แล้วจึงมาสู่ขั้นตอนการผลิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น จากเดิมที่แผ่นหินทรายต้องใช้วิธีนำมาต่อกันจึงจะได้ภาพขนาดใหญ่ ปัจจุบันจำรัคใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ทลายข้อจำกัดเหล่านั้น จนสามารถใช้แผ่นหินทรายขนาดใหญ่ได้แผ่นเดียวแบบไร้รอยต่อ และสุดท้ายก็อุดช่องโหว่เรื่องราคาให้มีความหลากหลาย ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน จำรัคบอกว่า ความสุขซื้อได้ นี่ไง งานศิลปะ!”

ทว่าในความเป็นจริง จำรัคยอมรับว่า คนลำปางยังมองศิลปะไม่ออก การไปออกบูธในงานเซรามิกแฟร์ทำให้รู้ว่า สินค้าเกรด เท่านั้นจึงจะขายได้ นั่นจึงทำให้มีลานต้องออกไปโลดแล่นในเมืองหลวง เพื่อเจาะตลาดคนกรุงเทพฯ กลุ่ม B+ และกลุ่ม โดยอาศัยเมืองลำปางเป็นฐานการผลิตเท่านั้น


แกลเลอรีที่อาคารหม่องโง่ยซิ่นก็มีคนมาดูเหมือนกันครับ นานๆ จึงจะขายได้สักชิ้น ผมบอกได้เลยว่าขาดทุน แต่ที่ยังเปิดอยู่ก็เพื่อเป็นสีสันอย่างหนึ่งให้ย่านกาดกองต้าและเมืองลำปาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แกลเลอรีก็คือช่องทางการตลาดอย่างหนึ่งของศิลปิน สำหรับจำรัค เขามองว่า ความเป็นศิลปินต้องผนวกกับคำว่านักธุรกิจด้วยจึงจะอยู่รอด

สำหรับผม งานศิลปะไม่ใช่เอาใจตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียว ผมมีมุมที่ทำให้คนอื่นชอบด้วย งานของผมจึงขายได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายคนนี้ หาเงินไปด้วย มีความสุขไปด้วย ขณะเดียวกันก็ดูช่างห่างไกลจากคำว่าศิลปินไส้แห้งอย่างลิบลับ

อัญชลี แกลอรี่ เปิดให้เด็กและเยาวชนที่สนใจงานศิลปะเข้าชม โทร. 08-1883-6842

MELANN ในส่วนของโรงงานที่ตำบลบ่อแฮ้วกำลังจะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะจากหินทราย โทร. 0-5423-0472

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1037 วันที่ 17 - 23  กรกฏาคม 2558)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์