วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นกปากห่าง ศัตรู หรือมิตรแท้

           
หลัง ๆ มานี้ คนลำปางคงเริ่มเห็นนกปากห่าง (Asian Openbill) มากขึ้น ล่าสุดมีข่าวพบแถวสะพานดำหลายร้อยตัว นกขนาดใหญ่เดินท่อม ๆ อยู่ในทุ่งนา หรือบางทีเราก็เห็นพวกมันบินร่อนวนเวียนอยู่บนท้องฟ้าเป็นกลุ่มใหญ่

นกปากห่างมีขนบนลำตัวสีเทาอ่อน ส่วนปลายปีกและหางสีดำ ขาสีชมพู แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์พวกมันจะดูขาวสะอาดมากกว่าช่วงอื่น ๆ ส่วนนกวัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลอมเทา ช่องว่างระหว่างจะงอยปากจะแคบจนแทบมองไม่เห็นความห่างของปาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดานกน้ำขนาดใหญ่ที่เคยมีดาษดื่นในประเทศไทยอย่างนกกระเรียนพันธุ์ไทย นกกระทุง นกกาบบัว นกตะกรุม นกตะกราม ฯลฯ ทุกวันนี้กลับถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ไปแล้ว มีเพียงนกปากห่างเท่านั้นที่ยังพบได้บ่อย และดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

เดิมทีนกปากห่างมีแหล่งหากินในช่วงฤดูฝนอยู่ตามที่ราบลุ่มของประเทศอินเดียและบังคลาเทศ โดยเฉพาะบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคา พอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ฝูงนกปากห่างจะพากันย้ายถิ่นมายังประเทศไทย เพื่อมองหาแหล่งเหมาะสมสำหรับการสร้างรังวางไข่ และก็ได้แหล่งใหญ่อยู่ที่ที่ราบลุ่มภาคกลาง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินไทย ข้อมูลการติดวิทยุติดตามตัวสัตว์ระบบดาวเทียมและการสำรวจประชากรบอกให้เรารู้ว่า นกปากห่างจำนวนมากไม่อพยพกลับ เพียงแต่เปลี่ยนที่หากินตามฤดูกาลเท่านั้น กลายเป็นนกประจำถิ่นไปเสียเลย โดยเราจะพบพวกมันได้ตลอดปีตามนาข้าว หนองน้ำ และทะเลสาบเกือบทั่วประเทศ

ว่ากันว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งอาศัยและทำรังวางไข่ที่รองรับประชากรมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนกปากห่างทั่วโลก จากการศึกษาวิจัยโดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าประชากรนกปากห่างในประเทศไทยมีประมาณ 400,000 ตัว (ปี พ.ศ. 2552) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จุดเด่นของนกปากห่างก็คือ ปากที่ยามหุบจะเหลือช่องว่างตรงกลาง ทำให้มันคาบเปลือกหอยโข่งและหอยเชอรี่ที่ทั้งกลมและลื่นได้ เมื่อจับหอยมาแล้ว มันจะคาบไปหาทำเลเหมาะ ๆ เพื่อใช้จะงอยปากทำหน้าที่เหมือนแหนบจิกเนื้อหอยออกมากินอย่างเชี่ยวชาญ

ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งธรรมชาติมอบให้มาอย่างเหมาะสมเช่นนี้ นกปากห่างจึงเป็นนักกำจัดหอยที่ทรงพลังมาก โดยเฉพาะหอยเชอรี่ที่ถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น หรือพวกเอเลี่ยนสปีชีย์ ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจ ยากต่อการกำจัดให้สิ้นซาก แต่น่าเสียดายที่ในบางพื้นที่หันไปใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้นกปากห่างและนกชนิดอื่น ๆ พลอยได้รับผลกระทบเจ็บป่วยล้มตายไปด้วย

จากการศึกษาวิจัยพบว่า นกปากห่างจะจับหอยเชอรี่กินเฉลี่ย 123 ตัว ต่อวัน นั่นแสดงว่า นกปากห่างที่คาดว่าน่าจะมีมากกว่า 400,000 ตัวในประเทศไทย ณ ตอนนี้ จะสามารถควบคุมปริมาณหอยเชอรี่ได้วันละไม่น้อยกว่า 49,200,000 ตัว

ทว่าอีกด้านหนึ่งของนกปากห่าง พวกมันเป็นนกที่ไม่น่าพึงประสงค์สักเท่าไร เพราะเมื่อไปเกาะรวมนอนกันบนต้นไม้ต้นไหน นอกจากกลิ่นแล้ว มูลที่ถ่ายออกมาทับถมกันยังทำให้ดินเสียและต้นไม้ตาย นอกจากนี้ ยังสร้างปัญหาให้กับอากาศยานทุกประเภท โดยมักเกิดอุบัติเหตุชนนกและถูกเครื่องยนต์ดูดเข้าไปจนส่งผลให้เที่ยวบินล่าช้า

นกปากห่างจึงต้องระหกระเหินย้ายที่อยู่ใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะพอทำความเดือดร้อนให้ใครแล้ว เขาก็ไม่ต้องการ ทั้งที่มันเป็นนักกำจัดหอยในท้องทุ่งที่ทำงานให้เกษตรกรทุกวัน ไม่มีวันหยุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1035 วันที่ 3 - 9  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์