วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผู้ว่าฯดัน 3 อันซีนลำปาง ปักหมุด 12 แห่งห้ามพลาด ชี้นิคมอุตสาหกรรมเกิดยาก

           
สามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้สัมภาษณ์ ลานนาโพสต์’  ในงานผู้ว่าฯพบสื่อ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558  ในประเด็นมุมมองและนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ของจังหวัดลำปางในห้วงเวลาที่ปฏิบัติราชการที่เหลือเพียง 9 เดือน ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางในมุมมองส่วนตัวมองว่า ลำปางมีจุดเด่นและจุดแข็งที่ดีอยู่แล้วหลายเรื่อง และตั้งใจว่าจะต่อยอดงานบางส่วนที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น เช่น เรื่องของงานด้านท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของเศรษฐกิจและรายได้เข้าท้องถิ่น ซึ่งลำปางถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ตามที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คัดเลือกไว้ ถือว่าเป็นโอกาสและความได้เปรียบด้านตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในแผนการการโปรโมทระดับประเทศ และเรื่องเซรามิกของลำปาง ต้องได้รับการส่งเสริมให้เป็นจุดขายเรื่องของเมืองเซรามิก
           
โดยเรื่องท่องเที่ยวในส่วนของลำปางต้องผลักดันให้มีเส้นทางท่องเที่ยวให้น่าสนใจ เช่น อาจจะโปรโมท แหล่งเที่ยวลำปาง 12 แห่ง หรือดันแหล่งท่องเที่ยวอันซีนของลำปาง บางแห่งที่ยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดด้านการท่องเที่ยว เช่น วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง (วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์) อ.แจ้ห่ม  หล่มภูเขียว อ.งาว และ วัดถ้ำน้ำผ่าผางาม ต.พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการส่งเสริมอย่างไรให้ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ คนท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์
           
ส่วนเรื่องของนโยบายลำปางเมืองเซรามิก หรือ เซรามิกซิตี้ ก็เป็นแนวทางที่จังหวัดลำปางได้ดำเนินมาต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่อาจมีหลายปัจจัยให้เกิดความไม่ต่อเนื่องแผ่วไปบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ในปีงบประมาณ 2559 นี้ ทางจังหวัดมีแผนจะนำผู้ประกอบการเซรามิกลำปางนำสินค้าไปโรดโชว์ ที่จังหวัด  หนองคาย อุบลราชธานี จันทรบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงกับพ่อค้าแถบประเทศลาว นอกจากนั้นยังต้องวางเป้าหมายให้เซรามิกเป็นสินค้าที่สร้างภาพลักษณ์ของลำปาง โดยให้คนลำปาง ผู้ประกอบการทุกแขนงหันมาใช้เซรามิก คล้ายกับการสร้างอัตลักษณ์นิยมของลำปาง เหมือนการสร้างชาตินิยม เช่นในงานเซรามิกแฟร์จะต้องไม่มีสินค้าเซรามิกจากต่างจังหวัดหรือจากต่างประเทศ แจกชามตราไก่เป็นของที่ระลึกให้ คนต่างจังหวัดที่มาเที่ยวงานได้นำไปพูดต่อเรื่องชามตราไก่ อย่างนี้เป็นต้น
           
จากข้อซักถามเกี่ยวกับกรณีข่าวนิคมอุตสาหกรรมของลำปาง หรือ โครงการศูนย์กลางการคมนาคม แลนด์โลจีสติกส์ฮับ นั้นผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า การลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมลำปางนั้นตนยังไม่ได้ดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้จะต้องหารือกันในที่ประชุม ร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ของจังหวัด ถึงที่มาและโครงสร้างของโครงการดังกล่าวว่ามีรายละเอียดอย่างไร ความเห็นส่วนตัวมองว่า ลำปางเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางหรือเป็นจุดพักที่จะรองรับการเดินทางหรือขนส่งทางการคมนาคม มากกว่าที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม ยังเป็นเรื่องไกลตัวมาก เพราะต้องดูว่ามีศักยภาพด้านการผลิต วัตถุดิบ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมากพอหรือไม่ และการเชื่อมโยงต่างๆที่เกี่ยวข้องจะเชื่อมโยงอย่างไร ใครได้ประโยชน์  คนท้องถิ่นได้อะไร ส่วนเรื่องพื้นที่ที่อำเภอเกาะคาก็ยังเป็นจุดที่เหมาะสมถ้าเป็นจุดพัก จุดแวะของนักเดินทางนักท่องเที่ยว แต่หากเป็นอุตสาหกรรม คงต้องรอดูความเห็นจากทุกภาคส่วนว่าจะผลักดันที่ดินบริเวณนั้นให้เกิดประโยชน์อย่างไรมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคาดว่าการประชุม กรอ.นัดแรกเดือนตุลาคม นี้น่าจะได้นำประเด็นนี้เข้าในวาระการประชุมเพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ว่าจะเดินต่อหรือไม่อย่างไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1050 วันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์