วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

ตำนานพระธาตุปีเกิดล้านนา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ได้เห็นถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงความรู้ การแสดงออก ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านการดนตรี การละคร ความรู้เชิงช่าง การเล่นและกีฬาพื้นบ้าน ประเพณี งานเทศกาล วรรณกรรม ภาษา และความรู้ของธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างกำลังเสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก อันจะส่งผลให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบางอย่างถูกครอบงำจนสูญเสียอัตลักษณ์ไป ดังนั้น จึงได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองและเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศในการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองในเบื้องต้น ประจำปี พ.ศ. 2558 มีจำนวน 7 สาขา 32 รายการ คือ

สาขาศิลปะการแสดงได้แก่ กลองยาว ขับลื้อ บานอ เพลงปรบไก่ ฟ้อนเงี้ยว และละครพันทาง

สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ เครื่องเงินไทย เครื่องบูชาอย่างไทย งานช่างสนะ ปราสาทผึ้ง และโอ่งมังกรราชบุรี

สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ นิทานท้าวปาจิต-อรพิมพ์ นิทานพระรถ-เมรี ตำนานพระธาตุประจำปีเกิดล้านนา ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ และตำนานสงกรานต์

สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ได้แก่ โคมลอยลอดห่วง ชักเย่อเกวียนพระบาท ตาเขย่ง หรือตั้งเต และลูกข่าง

สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล ได้แก่ ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในเทศกาลวันมาฆบูชา สวดโอ้เอ้วิหารราย เหยา และประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ ภูมิปัญญาการทำปลาดุกร้า ภูมิปัญญาการทำเส้นไหมไทย ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย ภูมิปัญญาการเลี้ยงควายไทย และภูมิปัญญาการอยู่ไฟ

สาขาภาษา ได้แก่ ภาษากูย / กวย และภาษาพวน

จะเห็นได้ว่า ตำนานพระธาตุประจำปีเกิดล้านนานั้น ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านด้วย ซึ่งตำนานพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง พระธาตุประจำปีฉลู ก็เป็นหนึ่งในตำนานของพระธาตุสำคัญในล้านนาเช่นกัน

การบูชาพระธาตุประจำปีเกิดมีชื่อเรียกในท้องถิ่นล้านนาว่า ชุธาตุ หรือพระธาตุตั๋วเปิ้ง (ตัวพึ่ง) มีที่มาจากคติความเชื่อที่ถือเอาพระธาตุเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในแต่ละท้องถิ่น มาเป็นที่พึ่งประจำตัว เพื่อสักการบูชาสำหรับคนที่เกิดในปีนักษัตรนั้น ๆ แนวคิดดังกล่าวเกิดจากคติการบูชาพระธาตุเจดีย์ตามอิทธิพลแบบลังกาคติ ผสมผสานกับความคิดความเชื่อบนรากฐานจักรวาลวิทยาด้านการพยากรณ์โชคชะตาราศี ที่ผูกพันอยู่กับสัตว์สัญลักษณ์ประจำปีเกิดนั้น ๆ ส่วนองค์พระธาตุในดินแดนล้านนาก็มักมีตำนานอธิบายที่มา ซึ่งสัมพันธ์กับการเสด็จมาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดินแดนล้านนา

หากจะมองในเรื่องคุณค่าและบทบาทของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตำนานพระธาตุประจำปีเกิดที่มีต่อวิถีชุมชน อาจมองได้ว่า พระธาตุถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของสังคมพุทธศาสนาในล้านนา แต่หากอธิบายจากมุมมองเรื่องอำนาจทางการเมืองการปกครองของฝ่ายล้านนา อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระธาตุประจำปีเกิดเป็นเครื่องมือสัญลักษณ์ของการสร้างพื้นที่ทางสังคมและอำนาจของหัวเมืองในล้านนา เพื่อตอบโต้อิทธิพลและอำนาจทางการปกครองจากรัฐสยาม

หากมองในแง่คุณค่าทางจิตใจ ถือว่าพระธาตุประจำปีเกิดได้กลายมาเป็นพระธาตุประจำเมือง หรือประจำท้องถิ่นไปด้วย เพราะเหตุที่มีตำนานกล่าวถึงการเสด็จมาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การประทานพระเกศาธาตุ และการพยากรณ์ถึงความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตของบ้านเมืองนั้น ๆ ตลอดจนถึงเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เพื่อรองรับความชอบธรรมและศักดิ์ศรีความมีตัวตนของคนในท้องถิ่น และยังมองได้ว่า พระธาตุมีบทบาทในการเป็นเสาหลัก หรือใจบ้านใจเมืองอันศักดิ์สิทธิ์อีกสถานะหนึ่ง โดยได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากพระมหากษัตริย์และชนชั้นสูง พระธาตุกลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นหมุดหมาย หรือศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ความเป็นคนมีหลักแหล่งแห่งที่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไปด้วย

ที่สำคัญ ทุกวันนี้พระธาตุประจำปีเกิดล้านนาทุกแห่ง ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปชมไปทำบุญกันไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดพระธาตุลำปางหลวงของเมืองลำปางนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นวัดที่ยังคงรักษาแบบแผนของศิลปกรรมล้านนาในยุครุ่งเรืองไว้ได้ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันเลยทีเดียว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1075 วันที่ 22 - 28 เมษายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์