วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

สนช.เอาด้วย เข็นกม.คมสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม website counter

คณะกรรมาธิการสื่อ สนช. ประสานเสียง กรรมาธิการสื่อ สปท. เสนอกฎหมายคู่ขนาน  หนุนสุดตัว ตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ให้อำนาจออกใบรับรองสื่อเสนอตัวแทนภาครัฐนั่งในสภา อดีตประธานสภา นสพ.เสนอ นายกฯใช้มาตรา 44 ลัดขั้นตอน ตรากฎหมาย คุมเบ็ดเสร็จ

 ภายหลังที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เข้าพบชี้แจงและเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทบทวน ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาคุมเข้มการทำงานของสื่อ ผ่านใบอนุญาตและตัวแทนรัฐในสภาวิชาชีพ เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เสนอกฎหมายที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกัน

นายจักร์กฤษ  เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับเดิมที่เป็น “สารตั้งต้น” ด้วยแนวคิดว่า การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากขาดสภาพบังคับ ดังนั้น เพื่อให้มีกลไกในการบังคับให้กระบวนการกำกับดูแลกันเองทำงาน จึงน่าจะใช้หลักในการกำกับร่วม ในกรณีที่สภาวิชาชีพได้ทำงานจนครบกระบวนการแล้ว ยังไม่เป็นผล หรือองค์กรวิชาชีพไม่กล้าที่จะใช้มาตรการทางสังคม ประกาศชื่อสื่อมวลชนที่ละเมิดต่อสาธารณะ

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า หลักการกำกับ ดูแลกันเอง โดยใช้มาตรการทางสังคมเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริง ยังไม่สามารถทำได้ด้วยปัจจัยหลายประการ

“กำกับดูแลกันเอง เป็นหลักการที่ดี เพราะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจะเข้าใจสภาพ วิธีการทำงานของสื่อ แต่ด้วยโครงสร้างของความเป็นเจ้าของทุน ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทำผิดจริยธรรม และละเมิดหลักการบ่อยครั้ง เพราะนายจ้างคือผู้กำหนดนโยบาย เป้าหมายคือผลประกอบการที่ดี ข่าวที่ขายได้ ภาพที่คนสนใจดู จึงเป็นเป้าหมายหลักมากกว่าความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรม นอกจากนั้น กรรมการในองค์กรวิชาชีพยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัท ซึ่งหากกรรมการไม่เข้มแข็งและยืนยันความเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง สภาพการกำกับ ดูแลกันเองก็แทบจะไม่มีความหมาย และเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่ให้ความเชื่อถือในองค์กรวิชาชีพ” นายจักร์กฤษ กล่าว
             
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวด้วยว่า หลักการของกฎหมายที่เขาเสนอให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ก็เพื่อเป็นกลไกเสริมให้กระบวนการทำงานได้ โดยที่องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ยังสามารถตรวจสอบ วินิจฉัยข้อร้องเรียนได้ตามขั้นตอนปกติ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะไม่ก้าวล่วงองค์กรวิชาชีพ หากกระบวนการยังเดินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเพิ่มบทบัญญัติให้สภามีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาต และมีตัวแทนภาครัฐโดยตำแหน่งเข้าไปอยู่ในสภาวิชาชีพ ทั้งในร่างของ สปท.และสนช.จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และขัดกับเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายเดิม ที่ต้องการให้มีสภาพบังคับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
           
นายจักร์กฤษ ย้ำว่า ผู้ร่างกฎหมายที่ให้มีใบอนุญาต และตัวแทนภาครัฐ อ้างว่า เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตราเป็นกฎหมายกำกับ ดูแลสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเสียในคราวเดียว ไม่ต้องมาโต้แย้งเรื่องหลักการให้ยาวความ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อคงรับสภาพได้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว

(อ่านรายละเอียด เนื้อหากฎหมาย จอกอ)

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1112 วันที่  13 -  19 มกราคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์