วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

บ่อน้ำสองพี่น้องวัดเจดีย์ซาว ตาน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

นอกจากเพียรนับเจดีย์ให้ครบ 20 องค์แล้ว คนที่มาชมวัดเจดีย์ซาวหลังในตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง ส่วนหนึ่งจะเดินต่อไปทางทิศเหนือของวัด ผ่านร่มเงาของพรรณไม้และหมู่กุฏิไปยังบ่อน้ำสองพี่น้อง ตามประวัติที่ปรากฏในป้ายบอกไว้ว่า บ่อน้ำนี้มีอายุถึง 2,000 กว่าปี ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2464 เมื่อต้องการนำน้ำไปใช้ ให้ตั้งจิตอธิษฐานแล้วตักเอาน้ำด้วยสัจจะคารวะ...

บ่อน้ำสองพี่น้องที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลาก่อด้วยอิฐถือปูน ปากบ่อกว้างราว 80 เซนติเมตร ลึก 3 เมตร บริเวณนี้มีรูปปั้นของชายอนาถาสองพี่น้อง ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า กำลังปรึกษาหารือกันว่าจะขุดบ่อน้ำคนละบ่อ เพื่อถวายแด่พระอรหันต์ 2 รูปที่จาริกจากประเทศอินเดียมาพักที่นี่ ทั้งนี้ มีประวัติความเป็นมาอยู่ว่า

“ในกาลครั้งหนึ่งมีชายกำพร้าอนาถา 2 คนพี่น้องมีความยากจนมาก คิดที่สร้างกุศล จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า ในชาติปางก่อนหนหลังเราทั้งสองเห็นจะไม่ได้ทำบุญอะไร คงจะเป็นคนใจคอคับแคบ ไม่ได้สละสิ่งของให้แก่คนอื่น ไม่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่น ดูถูกเหยียดหยามคนจนอนาถาเป็นแน่ เกิดมาชาตินี้จึงเป็นคนถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เป็นคนจนไร้สมบัติ ไม่มีที่พึ่งอาศัย

“เมื่อชายคนพี่พูดจบแล้ว ได้ชักชวนน้องว่า นับเป็นบุญญาโชควาสนาของเราแล้ว ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีก ได้มาพบพระอรหันต์เถระเจ้า ในที่สุดก็ตกลงจะสร้างบ่อน้ำถวายคนละ 1 บ่อ จึงพากันไปถึงสถานที่จะขุดบ่อน้ำ ทั้งสองพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นคนจนเข็ญใจ ไร้ทรัพย์สมบัติ ทั้งเป็นคนกำพร้า ไม่มีที่พึ่งพิงอาศัย มีจิตใจเลื่อมใสใคร่ที่จะสร้างบ่อน้ำถวายพระอรหันต์เถระเจ้า ณ ที่นี้ เมื่อขุดขออย่าให้ลึกเกินไป ขอให้ลึกเพียง 1 วาเถิด

“อธิษฐานแล้วก็พากันลงมือขุดลึกไปได้ 1 วาก็มีน้ำใสสะอาดไหลซึมออกมา เมื่อเห็นเช่นนั้นทั้งสองพี่น้องก็นำเอาก้อนอิฐมาก่อเป็นรูปบ่อน้ำ เมื่อเสร็จแล้วจึงกล่าวมอบถวายแด่พระอรหันต์เจ้าทั้งสองรูป เพื่อจะได้ใช้ ได้ดื่ม ได้สรง (อาบ) ต่อไป จากนั้นสองพี่น้องก็เอาต้นมะม่วงมาปลูกไว้คนละต้น...”

ต้นมะม่วงที่กล่าวถึงปัจจุบันเหลือเพียง 1 ต้น แต่บ่อน้ำทั้งสองบ่อยังคงมีน้ำอยู่ปีแล้วปีเล่า ทุกวันนี้กว่าจะค้นเจอตาน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนบอกให้นำจานสังกะสีไปคว่ำไว้ตามจุดต่าง ๆ กระจายกันไปให้ทั่วพื้นที่แล้วทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าก่อนแดดแรงก็ไปเปิดจานดูว่าใบไหนมีน้ำเกาะมากกว่าจานอื่น ๆ สันนิษฐานว่าตรงนั้นน่าจะมีตาน้ำ บ้างก็ให้หาจอมปลวก เพราะปลวกต้องกินน้ำ บ้างให้หาต้นมะเดื่อ หรือต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ตายเวลาหน้าแล้ง

นอกจากนี้ ยังมีสูตรหาตาน้ำอีกสูตรหนึ่งเรียกว่าลวดดาวซิง (Dowsing Rod) วิธีการมีอยู่ว่า ให้ใช้เหล็กทองแดงขนาดประมาณเส้นลวด (เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5มิลลิเมตร) ยาว 60 เซนติเมตรจำนวน 2 เส้น จากนั้นดัดให้เป็นรูปตัว L แล้วถอดรองเท้าเดินช้า ๆ โดยเหยียดแขนยื่นเหล็กทั้งสองเส้นออกไปด้านหน้า ตรงไหนมีตาน้ำ เหล็กทั้งคู่จะหันเข้าหากันเหมือนเจอแม่เหล็กดูดเลยทีเดียว
           
ดาวซิงเป็นเทคนิคของการค้นหาข้าวของต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการหาน้ำ ซึ่งยังไม่มีหลักวิชาการมารองรับ คนที่ทำแบบนี้เรียกกันว่า ดาวเซอร์ (Dowser) ซึ่งจะใช้เครื่องมือที่อาจเป็นแค่กิ่งไม้ แท่งโลหะ หรือลูกตุ้ม ว่ากันว่า การดาวซิงมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ไม่ต่ำกว่า 8,000 ปีแล้ว เพราะมีการค้นพบภาพวาดบนผนังถ้ำในแอฟริกาเหนือที่มีรูปกลุ่มคนกำลังห้อมล้อมชายคนหนึ่ง ซึ่งถือไม้ง่ามอยู่ในมือ ทำท่าทางเหมือนกำลังหาน้ำด้วยวิธีดาวซิง
           
สองพี่น้องรู้ได้อย่างไรว่าบริเวณนี้มีตาน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง การอธิษฐานเป็นเรื่องเล่าในตำนาน แต่เรื่องจริงก็คือ ศาสตร์ในการหาน้ำนั้น อยู่คู่กับคนโบราณมานานแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1114 วันที่  27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์