วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สล่า-คนฝึก "ไร้สืบทอด" ทางตันรถม้าลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เมื่อเอ่ยถึงลำปางสิ่งหนึ่งที่แว๊บขึ้นมาในหัวคงเป็นรถม้าอย่างแน่นอน เพราะเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่มีรถม้าวิ่งสัญจรบนท้องถนน ภาพและเสียงรถม้าวิ่งดังกุบกับๆบนถนนคอนกรีตจึงเป็นภาพที่คนลำปางชินชา แต่เป็นที่ตื่นตาของผู้มาเยือน

ด้วยความชินชาของคนลำปางที่มีต่อรถม้า อาจทำให้อาชีพรถม้าเริ่มหายไม่มีคนสืบสานต่อ เพราะที่นี่เป็นทั้งที่ต่อรถม้าและฝึกม้าเทียมรถส่งขายอันดับต้นๆของเมืองไทย แต่สล่าฝีมือและคนฝึกม้าเทียมรถมืออาชีพต่างโรยราไปตามกาลเวลา

คนฝึกม้าเทียมรถ ทุกวันนี้เหลือน้อยเต็มที
คมกริช แก้วนวล เกิดและเติบโตในครอบครัวคนเลี้ยงม้าแห่งบ้านวังหม้อ จึงรักและผูกพันกับม้ามาตั้งแต่เด็กกริชขี่ม้าเป็นตอนอายุ 10 ขวบ หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้ที่จะขับรถม้า รวมถึงเทคนิคการฝึกม้าเทียมรถจากผู้เป็นพ่อ ปัจจุบันบ้านวังหม้อมีรถม้าเหลืออยู่ราว 35 คัน ทว่าคนฝึกม้าเทียมรถได้นั้น มีอยู่ไม่ถึง 10 คน

เขาบอกว่าม้าจะเริ่มฝึกได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 10 กว่าปี ถ้าเด็กเกินไปหรือแก่เกินไป ม้าจะบาดเจ็บได้ง่าย ในการฝึกม้าเทียมรถหนึ่งคอร์ส ใช้เวลาประมาณ 10วัน ถึง 3 สัปดาห์ โดยหากเป็นม้าเล็กอย่างม้าพื้นบ้าน หรือม้าแกลบ ราคาตัวละ 8,000 บาท ม้าใหญ่อย่างม้าลูกผสม ราคา 10,000-12,000 บาท เนื่องจากตัวใหญ่และมีนิสัยชอบเตะ พวกนี้ฝึกขี่ง่ายก็จริงแต่ฝึกเทียมรถยาก ซึ่งระหว่างการฝึกหากจะฝากม้าไว้ที่คอกก็จะคิดค่าฝึกแยกจากคอร์สฝึกโดยเงินค่าฝากก็จะนำไปซื้อข้าวเปลือก รำ และหญ้าแพงโกลาให้ม้า และต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับม้าก่อนฝึกใส่อุปกรณ์เทียมรถม้า

เมื่อถึงเวลาหัดเทียมรถ คมกริชและลูกทีมอีก 4 คน จะช่วยกันคุมม้า คมกริชทำหน้าที่บังคับม้าอยู่บนรถ คนหนึ่งลงไปวิ่งขนาบข้าง ถ้าเหนื่อยก็เปลี่ยนเอาคนที่เหลือ ซึ่งนั่งรออยู่บนรถลงมาแทน ทั้งนี้ หากเป็นม้าใหญ่อย่างม้าลูกผสม อาจต้องใช้คนถึง 6-7 คนเลยทีเดียว โดยจะวิ่งบนถนนรอบนอกก่อนสัก 3-4 วัน เมื่อม้าเริ่มคุ้นเคยกับเครื่องเครารุงรังบนตัวแล้ว ค่อยพาเข้าไปวิ่งในเมือง นอกจากนี้ ยังต้องฝึกให้ม้าเหยียบไปบนฝาท่อระบายน้ำบนถนนให้ได้ เนื่องจากม้าทุกตัวจะมีสัญชาตญาณหลบสิ่งแปลกปลอมบนเส้นทาง จึงต้องให้เขาเคยชินกับการเหยียบไปบนฝาท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุแวววาวและเกิดเสียงดัง

 “บอกตามตรงเลยว่า อาชีพฝึกม้านี่ไม่คุ้มหรอกครับ เงินที่ได้แบ่งกันในทีมก็เหลือไม่เท่าไร อาศัยใจรัก จะเลิกก็ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เหลือคนทำน้อยลงทุกทีคมกริช กล่าว
รถม้าหนึ่งคันงานศิลป์งานฝีมือ

กว่าจะเป็นรถม้าหนึ่งคัน ต้องอาศัยสล่าอย่างน้อย 5 คน ต่างตำบล ต่างอำเภอ สล่าคนหนึ่งทำล้อ คนหนึ่งทำตัวถัง อีกคนเชี่ยวชาญงานเหล็กก็รับงานประกอบไป ส่วนอีกคนทำสี อีกคนทำหลังคากับเบาะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมาประกอบกันที่นี่ ที่บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง

เมื่อมีออเดอร์ประกอบรถม้านคร วงค์คำ หรือที่  รู้จักกันในนาม ‘ช่างหมี วังหม้อ’   จะกระจาย ออเดอร์ ไปยังบรรดาสล่าที่ทำงานร่วม  กันมานาน หากลูกค้าต้องการวงล้อที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต ไม่ใช่วงล้อเหล็กทั่วๆไป ช่างหมีจะติดต่อ  ‘ลุงจันทร์ขัตตินนท์ แห่งบ้านลำปางหลวง อำเภอเกาะคา
ล้อรถม้าไม้แบบโบราณ

สล่าจันทร์ สล่าอาวุโสวัย 83 เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำเกวียนมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเกวียนกลายเป็นพาหนะที่ล้าไม่สมัยทำได้แค่เพียงตกแต่งสถานที่เท่านั้น เมื่อมีลูกค้าสั่งทำล้อไม้จึงความประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำล้อเกวียนเป็นล้อรถม้าที่ทำจากไม้  ความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้วงล้อกลมเท่านั้นเอง

ความพิถีพิถันในการทำวงล้อไม้ด้วยการยึดต่อไม้แบบโบราณ หรือการตอกสลัก เข้าเดือย คือสิ่งที่สล่าจันทร์เชื่อมาตลอดว่าจะทำให้วงล้อไม้แข็งแรงคงทนมากขึ้น เหตุนี้เอง ฝีมือของสล่าจันทร์จึงเป็นที่เลื่องลือในแวดวงช่างไม้และคนขับรถม้าเมืองลำปาง เพราะวงล้อไม้ไม่ใช่แค่สวย แต่ยังใช้งานได้ดีเยี่ยม หากเป็นเมื่อก่อนดุมล้อยังทำจากไม้ประดู่ เรียกได้ว่าใช้ไม้ทุกส่วนเลยทีเดียว น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เรี่ยวแรงของสล่าจันทร์เริ่มถดถอยและยังถูกรุมเร้าด้วยอาการกระดูกทับเส้นประสาท ดุมล้อไม้จึงเปลี่ยนมาเป็นดุมล้อเหล็กเพื่อช่วยผ่อนแรงและลดทอนขั้นตอนที่ยุ่งยากออกบ้าง

ใช่เพียงประกอบวงล้อไม้เข้าด้วยกันแล้วจะเสร็จสมบูรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายคือการรัดเหล็ก โดยการก่อไฟกลางลานบ้านเพื่อเผาเหล็กเส้นแบน จากนั้นนำมารัดรอบวงล้อไม้ให้พร้อมสำหรับการใส่ยางรถม้าต่อไป ทั้งนี้ สล่าจันทร์จะเว้นช่องว่างระหว่างฝักไว้เล็กน้อย เวลารัดเหล็กส่วนของฝัก หรือขอบล้อจะได้ชิดกันพอดี ไม่เบียดแน่นจนทำให้ไม้ชิ้นหนึ่งชิ้นใดแอ่น หรือโก่งขึ้นมา

 “รถม้าที่ใช้ล้อเหล็กกับล้อไม้เสียงจะดังต่างกันสล่าจันทร์ว่าล้อไม้วิ่งนิ่มกว่า เสียงไม่ดัง มันจะดังกรึกๆๆ เท่านั้น

สล่าจันทร์จะทำเฉพาะวงล้อไม้ส่งให้ลูกค้าประจำอย่างช่างหมี วังหม้อ ทั้งนี้ ช่างหมีก็ต้องรอตัวถังรถม้าจาก สล่าเสริมบุญเสริม แก้วธรรมไชย ด้วยเช่นกัน ซึ่งสล่าเสริมจะใช้เวลาในการทำตัวถังไม้ราว 7 วัน พอดีกับที่สล่าจันทร์จะทำวงล้อไม้เสร็จ

สล่าเสริม ช่างไม้เก่าแก่มากฝีมือ วัย 70 ปีแห่งบ้านวังหม้อ  ทำตัวถังรถม้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คัน ทั้งรถม้าที่วิ่งในเมืองลำปางเอง รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยวต่างๆก็ล้วนมีต้นทางจากที่นี่ทั้งสิ้น สล่าเสริมบอกว่า งานไม้ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ หากทำพลาดไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สล่าเสริมใช้เวลาทำตัวถังรถม้าแบบง่ายที่สุด ราว 5 วัน แต่หากเป็นรถม้าแบบรถตู้จะยากหน่อย ต้องใช้เวลา สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำตัวถังรถม้า คือการทำส่วนที่เรียกว่าแก้มเพราะต้องโค้ง ได้สัดส่วนพอดิบพอดี

 “งานไม้ต้องละเอียด รอบคอบ ผิดแล้วผิดเลยสล่าเสริมบอก

ตัวถังรถม้าที่สล่าเสริมกำลังประกอบอยู่นั้น กำลังรอวงล้อไม้จากสล่าจันทร์ ด้วยเพราะเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน ประกอบกับสล่าผู้เฒ่าทั้งสองก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสล่าจันทร์นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละวันทำงานได้น้อยลง ลูกค้าที่มาสั่งบางคนก็เข้าใจ ขณะที่บางคนไม่อาจรอได้ ต้องหันไปหาช่างเหล็กแทน รถม้าเมืองลำปางทุกวันนี้จึงมีทั้งล้อเหล็กและล้อไม้ หากแต่ความนิยมในงานไม้กลับเพิ่มขึ้น บ่อยครั้งสล่าจันทร์จำต้องปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ช่างหมี วังหม้อได้วงล้อไม้จากสล่าจันทร์ ตัวถังไม้จากสล่าเสริม ก็จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบที่บ้าน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนงานเหล็ก งานเชื่อม ต่อด้วยการทำสี ระหว่างนั้นก็สั่งการไปยังช่างทำเบาะ-หลังคาด้วย รถม้าขนาดกว้าง 90 เมตรตามออเดอร์นี้ ต้องใช้เวลาประกอบ 7 วัน หากนับรวมในทุกขั้นตอน รถม้าคันหนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกำลังดี ไม่เร่งจนเกินไป

ฃทุกวันนี้รถม้าลำปางมีออเดอร์มาเรื่อยๆจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม รีสอร์ตในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่าง พัทยา ภูเก็ต และประเทศมาเลเซีย บางแห่งนำไปวิ่งรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ก็ต้องสั่งม้าของเราไปด้วย บางแห่งไม่เอาม้า เพราะนำไปตั้งประดับตกแต่งสถานที่เฉยๆ ขณะที่บางแห่งสั่งทั้งรถม้า ม้า และคนขับ ไปถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทันที

จะมีที่ไหนจัดหาให้ได้เพียบพร้อมเท่านี้ หากไม่ใช่ที่บ้านวังหม้อ เมืองลำปางของเรา แต่หากคนรุ่นใหม่ไม่คิดที่ตะสืบทอดงานช่างทำรถม้าในอนาคตเราอาจต้องสั่งรถม้าจากต่างถิ่นมาก็เป็นได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1117 วันที่  17 - 23 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์