วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เกาะ กระแส "แกะ"

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการแชร์แหล่งท่องเที่ยวใหม่บนดอยผาตั้ง เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยมีการตั้งชื่อว่า “ม่อนน้องแกะ” ซึ่งต่อมาที่นี่ก็กลายเป็นจุดเช็กอินยอดฮิตของเชียงใหม่ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ม่อนน้องแกะตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักดอยผาตั้ง เป็นโครงการสาธิตของสถานีเกษตรหลวงอินท นนท์ ซึ่งเลี้ยงแกะไว้ประมาณ 100 ตัว และเลี้ยงมานานหลายปีแล้ว ซึ่งทั้งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ต่างก็ใช้พื้นที่ร่วมกัน ในแต่ละวัน คนเลี้ยงแกะจะต้อนฝูงแกะผ่านพระตำหนักดอยผาตั้ง เพื่อไปยังโซนทุ่งหญ้าที่ใช้สำหรับเลี้ยงแกะ แล้วก็บังเอิญว่าในช่วงฤดูหนาว ต้นนางพญาเสือโคร่งบริเวณที่เดินผ่านจะออกดอกบานสะพรั่ง บรรยากาศสวยงามราวกับภาพฝัน นักท่องเที่ยวเห็นเข้าจึงถ่ายรูปและแชร์กันสนั่นโลกโซเชียล

นำมาซึ่งเรื่องราวดรามาเมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เขตอุทยานแห่งชาตินั้น มีข้อห้ามในการทำปศุสัตว์มิใช่หรือ ทำไมอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จึงนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าไปในเขตอุทยานฯ กันเล่า แถมยังเข้าใจว่า ทางอุทยานฯ คือฝ่ายเปิดม่อนน้องแกะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ มีการขายอาหาร และให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับแกะ

ร้อนถึงหัวหน้าอุทยานฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า การเลี้ยงแกะไม่ใช่โครงการของอุทยานฯ แต่เป็นของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงเพื่อนำความรู้เผยแพร่ให้ความรู้กับชาวบ้าน ทั้งสองหน่วยงานมีการใช้พื้นที่ร่วมกัน และเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานฯ ก็ได้สั่งห้ามต้อนแกะผ่านบริเวณพระตำหนักดอยผาตั้งแล้ว

แกะเลยต้องกลายเป็นแกะรับบาป แล้วหาเส้นทางเดินใหม่เพื่อไปยังทุ่งหญ้าที่เคยกินประจำ
เราเพิ่งเห็นหน้าค่าตาแกะตามแหล่งท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าแรกที่นำแกะมาเลี้ยงและโด่งดังสุดขีดคือรีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่เปิดให้บริการบ้านพักสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน มีทุ่งหญ้า และฝูงแกะ หลังจากนั้นแกะก็กลายเป็นสัตว์นำเข้าประจำรีสอร์ต และมีให้เห็นบ่อย ๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวแทบจะทั่วประเทศ

แกะเลี้ยงเพื่อการท่องเที่ยวเป็น 
สายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขนนุ่มสวย ดูน่ารักกว่าแกะพื้นเมืองของไทย ซึ่ง
มีขนหยาบไม่นุ่มฟู สีขาวปนดำ ดูมอมแมม แกะนำเข้าพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ซานตาอิเนสและพันธุ์เซาต์แอฟริกามัดดอนเมอริโน เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนแบบเมืองไทย แรก ๆ แกะอาจช็อกตาย หรือไม่ก็เป็นหมันชั่วคราว แต่หากมีการปรับสภาพภูมิประเทศให้เป็นทุ่งโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้ดี ก็อาจอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม รีสอร์ตหลายแห่งจะนำแกะมาผสมกับแกะพื้นเมืองของไทย ให้ได้เลือดไทย

สัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแกะรุ่นใหม่จะทนกับสภาพอากาศเมืองไทยได้ดีกว่า แต่ก็มีข้อเสีย คือ คุณภาพของขนจะต่ำลงบ้าง

ถึงอย่างนั้นที่บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยังมีการเลี้ยงแกะเพื่อทอผ้าขนแกะ แต่ชาวบ้านจะนำด้ายจากขนแกะมาทอผสมกับผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งทำให้ผ้าทอที่ได้มีความนุ่มกว่า ส่วนที่จังหวัดสระบุรีมีฟาร์มแกะเพื่อจำหน่ายเนื้อแกะให้กับโรงแรมใหญ่ ๆ ในพัทยาและภูเก็ตมานานแล้ว

ลำปางเรามีฟาร์มแกะฮักยูสำหรับท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมาก โดยเปิดให้คนเข้าชมและให้อาหารแกะ ถ่ายรูปกับแกะ แต่ไม่ได้นำขนแกะมาทอผ้าอย่างแม่ฮ่องสอน เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและของกินมากกว่า

ฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงไม่รู้ว่าจะหนักหนาสาหัสเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ อย่างไรเสียแกะที่ม่อนน้องแกะ ดอยอินทนนท์ ก็คงชิลได้อยู่ ถึงจะโดนพิษโซเชียลเล่นงานไปบ้างก็เถอะ เพราะบนนั้นอากาศเย็นสบายตลอดปี สงสารก็แต่แกะในเมืองลำปาง ซึ่งวลีสุดฮิตอย่างลำปางหนาวมากแทบจะถูกกลืนกลบลบหายไปแล้วนี่สิ เคยถามคนเลี้ยงแกะในฟาร์มลำปางเขาบอกว่า สบายมาก แกะพวกนี้เป็นแกะรุ่นใหม่ ทนความร้อนเมืองลำปางได้อยู่แล้ว แต่ทุกครั้งที่เห็นเจ้าของขนหนา ๆ เดินไปเดินมาก็อดสงสารไม่ได้จริง ๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1117 วันที่  17 - 23 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์