วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

จิตวิญญาณธุรกิจ ไทยพีบีเอสยุคหมอฟัน

จำนวนผู้เข้าชม good hits

ต้องเรียกว่า ไทยพีบีเอส ซึ่งมีพัฒนาการมาจากไอทีวี เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการปฏิรูปสื่อยุคแรกที่ยังหลงเหลืออยู่  ถึงแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ไทยพีบีเอส โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรือธงขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  แต่ผู้คนก็ยังเชื่อในความเป็นองค์กรอิสระที่น่าจะวางใจได้ บวกกับในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสขับเคลื่อนโดยคนสื่ออาชีพอันเป็นที่ยอมรับกันพอสมควร
แต่เมื่อเกิดการผลัดใบกะทันหัน กรรมการนโยบายปลดผู้อำนวยการออก แล้วไทยพีบีเอส ก็ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ด้วยการเลือก ทต.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ คุณหมอฟันที่เคยเป็นอดีต ผู้จัดการ สสส.มาเป็นผู้อำนวยการ โลกก็ดูเหมือนเปลี่ยนไป
และเปลี่ยนชัดขึ้น เมื่อคุณหมอกฤษดา เอาเงินไทยพีบีเอสไปซื้อหุ้นกู้โดยคุณหมออ้างความใน มาตรา 11 (7) กฎหมายไทยพีบีเอส ว่าทุน ทรัพย์สิน รายได้ขององค์การ หมายความรวมทั้งดอกผลที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สินขององค์การด้วย
เถียงกันว่า ดอกผลนั้นหมายถึงอะไร ถ้าดูตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดอกผลนั้นย่อมหมายถึงดอกผลปกติ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ค่าเช่าระบบโครงข่าย มิใช่ดอกผลที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจ และขัดต่อวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7
ผมอ่านกฎหมายหลายตลบก็ยังไม่พบว่า ผู้อำนวยการ คณะกรรมการบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีอำนาจทำให้สื่อสาธารณะ แปรรูปเป็นองค์กรแสวงหากำไร รับเงินปันผลจากบริษัทเอกชนตรงไหน นอกจากข้อความนี้
วัตถุประสงค์ขององค์การ ตามมาตรา 7(2) ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
อำนาจตามกฎหมายของผู้อำนวยการมาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจ(1) ออกระเบียบในการบริหารกิจการขององค์การ รวมทั้งระเบียบและวิธีปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การ ทั้งนี้โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกลางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด(2) ทำสัญญาจ้าง เลิกจ้าง เลื่อน ลด หรือตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้างขององค์การตามระเบียบ ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด (3) แต่งตั้งนายสถานีและคณะกรรมการบริหารสถานี
อำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการมีเท่านี้ การเอาเงินขององค์การไปซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือการลงทุนในตราสารหนี้ ซีพีเอฟ เป็นการจัดการงานเกินอำนาจ หน้าที่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันอย่างชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมา
เมื่อมีข้อสงสัยในตัวผู้อำนวยการ เป็นหน้าที่ตามกฏหมายของคณะกรรมการนโยบาย ที่เป็นผู้กำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ มีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ จะต้องดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเร่งด่วน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นสื่อสาธารณะ ที่ต้องโปร่งใส ชัดเจน และวางใจได้
นี่อาจเป็นบทเรียนที่ย้อนไปในตอนต้น ครั้งแต่งตั้งผู้อำนวยการ สสท.เราอาจมองข้ามคุณสมบัติสำคัญ คือ ผู้อำนวยการต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน แต่จนถึงนาทีนี้เราอาจเริ่มคิดได้ว่าคนที่ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีประสบการณ์ตรงด้านสื่อสารมวลชน จะก่อความเสียหายร้ายแรงให้กับองค์การ ภาพลักษณ์ขององค์การได้อย่างไร
น่ายินดีที่ ผู้อำนวยการ สสท.ยังรับฟังเสียงข้างนอก และยอมยุติซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟในที่สุด
แต่ครั้งนี้ อย่างน้อยก็ได้ตอกย้ำว่า การเลือกข้าวนอกนา มาเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรสื่อนั้น เป็นเรื่องการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างปฏิเสธไม่ได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1121 วันที่ 17-23 มีนาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์