วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

งานสำคัญ ที่ไม่สำคัญ วีรกรรมพระนเรศวร

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

ระสา “ข้าวนอกนา” ม้าสีหมอก ไม่ค่อยชัดเจนมากนักในประวัติศาสตร์ ช่วงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยาตราทัพผ่านหัวเมืองทางภาคเหนือ หรือมีบทบาทในแถบจังหวัดตอนเหนือ โดยเฉพาะที่ลำปาง ซึ่งมีพระบรมอนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอเกาะคา

ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนเรศวร หลายฉากตอนก็กล่าวเฉพาะ พระนเรศวรกับจังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระสุริโยทัย เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก พระองค์มีพระเชษฐภคินีคือพระสุพรรณกัลยา และพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)

ขณะที่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกในสงครามช้างเผือก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลก ยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดีจึงทำให้เมืองพิษณุโลกต้องเป็นเมืองประเทศราชของกรุงหงสาวดีและไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระสุพรรณกัลยาและพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีใน พ.ศ. 2107 ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ประทับอยู่กรุงหงสาวดี 8 ปี และเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา พ.ศ. 2115

ครั้งที่อยู่ในเมืองหงสาวดีก็ได้แสดงความปรีชาสามารถให้ปรากฏหลายต่อหลายครั้ง

ส่วนนครลำปางนั้น มีบันทึกว่า เป็นเส้นทางเดินทัพเพื่อไปตีกรุงอังวะ และเป็นสถานที่พักและอัญเชิญพระบรมศพของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ในทุกปี เมื่อถึงวันกองทัพไทย คือวันที่ 18 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี เอาชนะพระมหาอุปราชาได้ จังหวัดลำปางจึงจัดงานใหญ่เพื่อเทิดพระเกียรติของพระองค์ ในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้วีระ อาจหาญของคนไทยทั้งชาติ แม้ในแง่ประวัติศาสตร์ ลำปางจะไม่ได้มีเรื่องราวกล่าวขานที่เกี่ยวข้องกับพระองค์มากก็ตาม

งานแสดงวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกอบ แสง สี เสียง จัดมามากกว่า 3 ปีแล้ว ณ บริเวณเกาะคา ที่ตั้งพระบรมอนุสาวรีย์ ปีนี้ก็เช่นเดียวกับทุกปี บริษัทออแกไนซ์ มหานครเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ขายส่ง,ขายปลีก,ให้บริการ,ผู้ผลิต) เป็นผู้ประมูลงานได้ ด้วยราคาเสนอที่ 2,493,100,000 บาท สู้กันจนถึงราคา 100 บาท แปลว่า อาจหักเหลี่ยม เฉือนคมกันบาทต่อบาททีเดียว

แต่ที่เป็นประเด็นก็คือ มีคัดค้านการประมูล โดยบริษัทคู่แข่ง นัยว่า มีผู้เสนอราคาต่ำกว่านี้ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก นั่นก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องไปพิสูจน์กัน แต่การมีผู้คัดค้านนั้น ก็ส่งผลไปถึงไทม์ไลน์ ของการจัดงาน ที่ต้องประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ก่อนและหลังการจัดงาน ระยะเวลา 5 วัน ซึ่งในความจริงทำได้เพียง 3 วันเท่านั้น

แปลว่า นี่ผิดสัญญาเงื่อนไขการประชาสัมพันธ์ตาม ทีโออาร์หรือไม่ และถ้าไม่ถูกต้องตามทีโออาร์ มหานครบริษัทผู้ประมูลได้ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร หรือไม่

ที่สำคัญ เมื่อการประชาสัมพันธ์ได้ทำขึ้นในระยะเวลาใกล้ชิดกับวันงาน ไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไป แม้แต่คนลำปางก็ยังไม่รู้เลยว่า งานแสดงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรจะมีขึ้นเมื่อไหร่ มีกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นงานจัดกันเอง เที่ยวกันเอง สำหรับคนที่บังเอิญเปิดรับสื่อไม่กี่วันก่อนวันงานหรือไร

ใครจะรับผิดชอบ ใครจะตอบคำถามนี้ ท่านผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม จะใช้ศักยภาพของท่าน ความเอาจริงเอาจัง ความปรารถนาที่จะทำให้ “ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุข” ตอบคำถามนี้ได้หรือไม่

เมื่องานสำคัญ ถูกทำให้ไม่สำคัญ จะปล่อยให้งานมันผ่านๆไป หรือจะสรุปบทเรียนอย่างไร ก็ต้องว่ากันให้ชัดเจน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1163 วันที่ 19 - 25 มกราคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์