วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

จากบทเรียนในโครงการไฟป่าหมอกควัน สนับสนุนโดยกองทุนฯแม่เมาะ สู่เครือข่าย “รักษ์ดอยพระบาท” คู่เมืองลำปาง…

จำนวนผู้เข้าชม .

จากปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดลำปางของทุกปีที่ผ่านมา ค่าความร้อนและค่าฝุ่นละอองที่สูงอันดับต้นๆของประเทศ ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของจังหวัดลำปางเรา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบินไม่สามารถลงที่สนามบินพระบาทได้  โรคระบบทางเดินหายใจ  เป็นต้น ซึ่งพบว่าการลักลอบเผาป่าเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าหมอกควันขึ้นมา โดยเฉพาะในพื้นที่รอบๆดอยพระบาท ซึ่งถือว่าอยู่ใกล้ตัวเมืองเป็นเขตชุมชนและแหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจังหวัดลำปาง  มีอาณาเขตตั้งแต่พื้นที่ตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ ผ่าน ตำบลแม่เมาะ  อ. แม่เมาะ ตำบลเสด็จ ตำบลพิชัย  ตำบลพระบาท และตำบลกล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง กว้างนับแสนไร่

ดังนั้นทาง กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  จึงร่วมกับสื่อมวลชนจังหวัดลำปาง จัดโครงการ รณรงค์ไม่เผาป่า ลดหมอกควัน จังหวัดลำปางขึ้นมาในรูปแบบของการเสวนาปัญหาไฟป่าหมอกควัน  ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา บริเวณบ้านผาลาด (ชุมชนอิ่วเมี่ยน) หมู่ที่ 4 ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้ดอยพระบาท โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับปัญหานี้มาร่วมด้วย คือ ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง   สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 13 ลำปาง นายอำเภอเมืองลำปาง หน.อุทยานแห่งชาติ เขลางค์บรรพต(เตรียมการ)  ผู้แทน สจป.3 ลำปาง  ประธานชุมชนรอบๆดอยพระบาท คือชุมชนผาลาด ชุมชนบุญเกิด ชุมชนโทกหัวช้าง ตำบลพระบาท ชุมชนบ้านหัวฝาย ตำบลกล้วยแพะ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ต.พิชัย  นายก อบต.พิชัย นายก อบต.บ้านดง ตัวแทน เทศบาลเมืองเขลางค์นคร  เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองลำปาง  ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเหมืองแม่เมาะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง พร้อมคณะ  และชาวบ้านในพื้นที่รอบๆดอยพระบาทจำนวนหนึ่ง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป.13 ท่าสี  หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าดอยพระบาท รองประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตัวแทนชุมชนอำเภอแม่เมาะจากการร่วมกันเสวนาปัญหา ในที่ประชุมผู้ที่เข้ามาร่วมประชุมต่างก็แชร์ประสบการณ์ในการทำงานทั้งปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง  พอเป็นสังเขปคือ ดอยพระบาทแห่งนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง ดังนั้นจะเป็นการดีอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจุดนี้ เป็นโมเดล ซึ่งในครั้งนี้ทางนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ได้ให้แนวทางว่า ปัจจุบันตามทฤษฎีที่เคยเรียนมาสมัยเด็กๆว่า ไฟป่าเกิดจากการเสียดสีของต้นไม้นั้นมันไม่มีแล้ว ปัญหาเกิดจากคน ดังนั้นต้องบริหารเรื่องคนกับป่า ต้องร่วมมือกันเข้ามาดูแลแก้ไข ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือกันทุกภาคส่วน หวังว่าจะต่อเนื่องกันต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย

นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีการพูดถึงปัญหาการเผาป่า โดยตัวแทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 13 ลำปาง  กล่าวว่าบางครั้งเกิดจากพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าทั้งอุทยานและป่าสงวน  จึงมีการลักลอบเผาจึงดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ละเลย  ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องมีโมเดลควบคุมพื้นที่การเผาอย่างชัดเจน แก้ไขให้ถูกทาง การห้ามเผาก็เหมือนแมวไล่จับหนูปัญหาไม่จบ จะต้องบริหารการเผา โดยเผาคนละช่วงเวลามีการควบคุมการเผา  ส่วนการใช้มาตรการด้านอื่นๆ เช่นที่ชุมชนอิ่วเมี่ยน ต.พระบาท ประธานชุมชนกล่าวว่า จะมีการตั้งจุดสกัด การตั้งชุดอาสาดับไฟ รวมถึงตัวแทนจากชุมชนต่างๆที่เข้ามาร่วม ต่างเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมในการดูแลดอยพระบาท ทั้งการทำป่าชุมชน การทำฝาย ปลูกป่า  แต่ทั้งนี้ขอให้ได้รับการสนับสนุนปัจจัยต่างๆบ้าง เพราะลำพังชาวบ้านก็ต้องทำมาหากินในชีวิตประจำวัน แต่ก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่  และพบว่าเครือข่ายดับไฟที่ตั้งไว้ในชุมชน ช่วยเหลือเกี่ยวกับการดูแลเรื่องนี้ได้มาก

ในส่วนของตัวแทนจาก กฟผ.เหมืองแม่เมาะนายมาโนช ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ-ปฏิบัติการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเหมืองแม่เมาะ มีการสร้างป่าชุมชนมาหลายจุดและพร้อมจะให้ความร่วมมือในการดูแลแก้ไขปัญหารอบดอยพระบาทแห่งนี้  ด้านนายมานิต อุ่นเครือ นายก อบต.พิชัย กล่าวช่วงหนึ่งว่า ชุมชนเป็นฐาน ราชการต้องหนุนเสริม เกิดวิสัยทัศน์ของตนเอง ลุกขึ้นมาดูแลพื้นที่ตนเองมีกิจกรรมไม่ให้เกิดไฟป่า ราชการหนุนเสริมจะหนุนเสริมอย่างไร เมื่อวันนี้มีงบประมาณ ก็จัดสรรงบตามที่จำเป็น เพียงแต่ว่าแต่ละหน่วยต้องคุยกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนให้ชัดเจนไปเลยว่าจะทำอะไร ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทำแล้วซ้ำซ้อนกัน  ส่วนนายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง อ.แม่เมาะกล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างที่พบคืออำนาจของ อปท. ในการดูแลพื้นที่ป่ายังไม่มี ดังนั้นงบประมาณต่างๆในการทำงานเชิงรุกไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะติดพื้นที่ดำเนินการที่อยู่ในเขตป่าไม้

จากแนวทางหลายๆส่วนที่นำมาพูดนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและเห็นต้องกันคือ การมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆเข้าด้วยกัน การทำงานป้องกันปัญหาในเชิงรุก เช่นการสร้างปราการป้องกันไฟป่า  การสร้างความชุ่มชื้นในป่าบนดอย  และการสนับสนุนงบประมาณช่องทางที่ดีที่สุดคือ สนับสนุนให้กับฝ่ายปกครองหรืออำเภอ เพราะมีเครือข่ายประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน /  อปท.

ซึ่งในการทำงานมีสองทางใหญ่ๆคือ เชิงรุกและเชิงรับ และในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการสร้างเครือข่ายดูแลดอยพระบาทลูกนี้อย่างชัดเจน โดยจะมีการนมัสการเรียนเชิญอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง คือพระราชจินดานายก ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเจดีย์ซาวหลัง และ เป็นพระนักอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียง มาเป็นองค์ประธาน เพื่อการดูแลและ  รักษ์ดอยพระบาทแห่งนี้อย่างจริงจังและยั่งยืนต่อไป.

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1173 วันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์