วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ปั้นแบรนด์ ‘ปางมะโอ’ ตีตราเห็ดหอม กาแฟ ผลไม้

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์เด่น ของดีลำปาง มีสินค้าใหม่ๆหลายอย่างที่มีคุณภาพ แต่ยังขาดการพัฒนา สร้างแบรนด์ และสิ่งที่ แต่ก็ยังมีบางส่วนเข้าใจผิดเรื่องของการสร้างแบรนด์ว่า แค่โลโก้คือ การสร้างแบรนด์ 

แท้ที่จริงแล้ว โลโก้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างการจดจำ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการนั้นๆ  ที่เรียกกันว่า แบรนด์ DNA คือ การสร้างชื่อเสียงและกลยุทธ์ในการทำตลาด ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงแล้วรู้ถึงตัวตนและที่มา ว่าสินค้านั้นมากกว่าแค่ชื่อ ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของ จุดเด่น คุณค่าที่คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ เพราะ แหล่งสินค้าที่ สร้างความอยากให้ไป ให้ชิม ชม เที่ยวคือ อารมณ์ (Emotional) ที่อยู่ ในแบรนด์ อย่างเช่นการสร้างความอยากให้คนเข้าไปชิม ผลไม้กันถึงถิ่น สามารถยกระดับให้เป็นสินค้าที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน หรือท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น ที่หมู่บ้านปางมะโอ ซึ่งทางจังหวัดจะผลักดันให้เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อ เห็ดหอม กาแฟและ ผลไม้ โดยหนุนให้เกษตรกรเพาะเชื้อเห็ดหอมได้เอง ต่อยอดการควบคุมคุณภาพและผลิตแบบครบวงจร พร้อมแจกต้นพันธุ์สะตอ-ทุเรียนหมอนทอง ปลูกทั่วหมู่บ้าน เชื่อมโยงตลาดท่องเที่ยวเชิงเกษตรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

หากดูข้อมูลทั่วไปนั้น หมู่บ้าน ปางมะโอ ต.วังเงิน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ตั้งอยู่ในพื้นที่แนวเขาติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ติดกับถนนสายลำปาง-แพร่ หากมุ่งหน้าจากลำปางไปแพร่ จะอยู่ทางขวามือ ชาวบ้านที่นี่ จึงอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ มีสภาพอากาศเย็นสบายตลอดปี แม้จะมีการเพาะเห็ดหอม กันแทบทุกหลังคาเรือนเป็นอาชีพหลักมานานกว่า 30 ปี แต่ถ้าจะให้ดีต้องเป็นที่รู้จักกันทั่วในระดับประเทศ

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า หมู่บ้าน ปางมะโอ มีความโดดเด่นด้านเกษตรทางเลือก ทั้งเห็ดหอม ผลไม้ กาแฟ และยังเป็นพื้นที่เชิงเขา มีน้ำลำธาร อุดมสมบูรณ์สวยงามของธรรมชาติ เมื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เกษตรในชุมชนให้เต็มศักยภาพก็ควรทำควบคู่ไปกับการตลาดแนวใหม่ โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสนับสนุนการผลักดันแบรนด์ ปางมะโอ ให้ขึ้นชื่อเรื่องเห็ดหอม กาแฟและผลไม้ ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจนถึงคนในหมู่บ้าน ต้องร่วมมือกันมุ่งเป้าหมายทิศทางเพื่อ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มเติมจากแนวทางเดิมที่นำออกไปขายหน้าหมู่บ้านแก่ผู้สัญจรผ่านเส้นทางลำปาง แพร่ กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งคนลำปางและนักท่องเที่ยวอยากมาแวะชมเพิ่มช่องทางรายได้จากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

บุญธรรม สุขพี้ ผู้ใหญ่บ้านปางมะโอ เผยว่าเนื่องจากสภาพดินและอากาศที่ดีในเขตหมู่บ้านปางมะโอ ซึ่งปลูกกาแฟได้ผลดี เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทดลองปลูกผลไม้อื่นๆ บ้าง เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง รวมทั้งสะตอสายพันธุ์ต่างๆจากภาคใต้ ผลปรากฏว่าได้ผลผลิตดี ล่าสุดทางจังหวัดได้สนับสนุนงบพัฒนาจังหวัดปี 2561 จัดซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จำนวน 590 ต้น สะตอ 1,180 ต้น เพื่อให้ชาวบ้านปลูกในที่ดินของตนเองทั่วทั้งหมู่บ้าน สามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากอาชีพเพาะเห็ดหอม และสวนกาแฟ ขณะเดียวกันมองว่า หมู่บ้านแห่งนี้จะกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีทุเรียนหมอนทองคุณภาพดีเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวในอนาคต

ชลธิชา กิ่งพุ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจเห็ดหอม บ้านปางมะโอ เล่าว่า ที่ผ่านมาการเพาะเห็ดหอมที่หมู่บ้านปางมะโอได้ผลผลิตคุณภาพดี แต่กระบวนการผลิตยังไม่สามรถทำแบบครบวงจร เพราะแม้ชาวบ้านจะทำก้อนเพาะเห็ดได้เอง มีโรงเรือนที่เหมาะสม แต่ยังต้องซื้อหัวเชื้อเห็ดหอมมาจากต่างจังหวัด ซึ่งมีราคาสูง บางครั้งประสบภาวะหัวชื้อไม่สมบูรณ์ หรือบางทีขาดตลาด ต้องใช้เวลานานสั่งซื้อนาน ส่งผลให้รอบการผลิตไม่เต็มศักยภาพ  ให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน จากปัญหาดังกล่าว ตนและกลุ่มเพื่อนเกษตรกรผู้เพาะเห็ดจึงรวมตัวกันได้ 17 คน  เพื่อทำเชื้อเห็ดหอมขายให้กับกลุ่มสมาชิกและ ผู้เพาะเห็ดในหมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนสำนักงานเกษตรจังหวัด ของบประมาณพัฒนาจังหวัด ประจำปี 2561 จำนวน 98,000 บาทจัดซื้อวัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการเพาะเลี้ยงและผลิตหัวเชื้อเห็ดหอม  และได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง จัดส่งเจ้าหน้าที่มาถ่ายทอดให้ความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำหัวเชื้อเห็ดหอมที่มีคุณภาพดี มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 สามารถขายหัวเชื้อเห็ดให้กับเกษตรกรภายในหมู่บ้านในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยขายให้เกษตรกรในหมู่บ้าน ขวดละ 7 บาท และขายให้กับเกษตรกรภายนอก ขวดละ 10 บาท ทำรายได้แล้วกว่า 10,000 บาท ซึ่งการสนับสนุนจากราชการครั้งนี้เป็นการช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิตทั้งทุนการซื้อเชื้อเห็ดจากภายนอกให้สามารถผลิตได้เองภายในหมู่บ้าน เติมเต็มและต่อยอดให้เห็ดหอมของหมู่บ้านปางมะโอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพสูงออกสู่ท้องตลาด สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนต่อเนื่องและยั่งยืน

การสร้างแบรนด์ เป็นเรื่องที่ต้องสร้างกันตั้งแต่ฐานรากเชิงแนวคิดไปสู่การวางฐานการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางตลาด หมู่บ้าน ปางมะโอจะเป็นอีกหนึ่งประตูแห่งการต้อนรับแขกบ้านเมืองในเส้นทางลำปาง-แพร่ ใครผ่านต้องแวะ และเป็นดินแดนที่ใครๆก็อยากไปเยือน ตอบโจทย์ลำปางปลายทางฝัน เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ต้องไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1190 วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์