วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ความรู้สำหรับแหล่งข่าว ว่าด้วยชนชั้นสื่อ ฐานันดรสี่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

งมีความสำคัญผิดทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายนักข่าวที่สำคัญว่าตนเองเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นฐานันดรสี่ ที่ทุกคนต้องเกรงใจ และอาจเป็นความสำคัญผิดของแหล่งข่าวบางสำนัก ที่เชื่อว่าสื่อจะดลบันดาลความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ หรือมีพื้นที่ให้กับการประชาสัมพันธ์งาน จนต้องพินอบพิเทา ทำตัวต่ำเตี้ยเรี่ยดิน คล้ายถ้าขัดใจสื่อ งานการก็อาจมีปัญหา

เรื่องฐานันดรสี่ เป็นความหลงผิดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งน่าแปลกอย่างยิ่ง ที่ไม่มีใครจะสืบค้นต้นสายปลายเหตุว่า คำว่าฐานันดรสี่ ภาพที่ทำให้สื่อบางคนหลงลำพองถึงความสำคัญและยิ่งใหญ่ ขณะที่แหล่งข่าวก็อาจถลำลึกลงไปในหล่มโคลนแห่งความเท็จนี้ด้วย มีที่ไปที่มาอย่างไร

ความหลงผิด เรื่องฐานันดรสี่ เกิดขึ้นในวันประชุมรัฐสภาอังกฤษคราวหนึ่ง นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายและกล่าวตอนหนึ่งระหว่างนั้นว่า

“ในขณะที่เราทั้งหลายเป็นฐานันดรใด ฐานันดรหนึ่งทั้งสาม กำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรสี่เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย”

เขาพูดพลางชี้ไปยังกลุ่มคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งมานั่งฟังการประชุมอยู่ด้วย  

ในรัฐสภาอังกฤษ ประกอบด้วยคนสามฐานันดร คือ ขุนนาง บรรพชิต พระราชาคณะ และสภาผู้แทนราษฎร ความหมายที่เอ็ดมันด์ เบิร์ก พูดถึงสื่อมวลชนซึ่งหมายถึงคนหนังสือพิมพ์ มิใช่การยกย่องเชิดชู แต่เป็นการประชดประเทียด คล้ายกับว่าสื่อมวลชน มีฐานะเสมอฐานันดรทั้งสาม ซึ่งในความเป็นจริงสังคมอังกฤษ  ไม่ได้ให้ค่ากับสื่อมวลชนมากกว่าคนอาชีพอื่นๆเลย

ความเป็นจริง สื่อมวลชนก็เป็นเพียงอาชีพๆหนึ่ง ไม่ได้แตกต่าง ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ หรือสำคัญกว่าคนอาชีพอื่น อาจจะยังมีคนข่าวรุ่นเก่าไม่มากนัก ที่ยังเชื่อว่า มีปากกาอยู่ในมือ จะสร้างสรรค์หรือทำลายใครก็ได้ ความคิดเช่นนี้คร่ำครึตกยุคสมัยไปนานแล้ว วันนี้ คนทั่วไป ก็เป็นสื่อได้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร อำนาจการสื่อสารที่แต่เดิมเป็นอำนาจผูกขาดของคนในอาชีพสื่อลดลง จนแทบไม่มีความหมายเลย

แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีคนอาชีพสื่อ ที่เข้าใจหลักการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ มิฉะนั้นสังคมก็ท่วมท้นไปด้วยข่าวขยะ เรื่องราวที่ไม่ผ่านการบรรณาธิกรณ์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด  และอาจสร้างความเสียหายให้กับสังคมได้ แต่ก็มิใช่คนสื่อที่จะอวดอ้างสถานะ ความเหนือกว่าสื่อคนอื่นๆ หรือมีสำนึกความเป็นชนชั้นในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน

การช่วงชิงการนำ การยอมรับของคนข่าว 2 กลุ่มในลำปาง อาจเป็นปรากฎการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็แยกตัวมาจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่มีมากกว่า 1 สมาคม ก็มาจากความต้องการความเป็นหนึ่ง การยอมรับจากแหล่งข่าวเช่นเดียวกัน

สำคัญคือแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ต้องเข้าใจว่า ไม่มีสมาคมนักข่าวสมาคมใดในประเทศนี้ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้ใครสักคนสามารถสั่งการให้นักข่าวไปทำข่าวตามต้องการได้ ในทำนองเดียวกันก็ไม่มีนักข่าวกลุ่มใด สังกัดใด จะสถาปนาตัวเอง เป็นนักข่าวสังกัดใหญ่ นักข่าวส่วนกลาง ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากกว่านักข่าวบ้านนอกกลุ่มอื่นที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับสื่อส่วนกลางและจะต้องติดต่อพวกฉันเท่านั้นถึงจะถูกต้อง

ความเป็นนักข่าว ไม่ว่าบ้านนอกหรือเมืองกรุง สังกัดใหญ่เล็ก ย่อมมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คนที่คิดเหยียดเพื่อนร่วมวิชาชีพ มองนักข่าวอื่นต่ำต้อยน้อยค่า คือคนที่น่าสงสาร สำหรับแหล่งข่าว ต้องเรียนรู้และเข้าใจเสียใหม่ว่า การจะติดต่อสื่อสารกับสำนักข่าวใด เป็นเรื่องที่จะต้องติดต่อต้นสังกัดของเขาโดยตรง จะด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือด้วยความเชื่อถือในสื่อนั้นๆ ก็แล้วแต่จะพิจารณา

คนข่าวทุกคน ย่อมมีฐานะเสมอกัน ความแตกต่างอยู่ที่เขาเหล่านั้น จะมีความสำนึก มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มีความรับผิดชอบ และมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลลานนาโพสต์ฉบับที่ 1215 วันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์