วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ThaiPBS ชูธง ร่วมต้าน เฟคนิวส์ ไวรัสวารสารศาสตร์

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

มีโอกาสเป็นตัวแทน ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  (ไทยพีบีเอส) ในการลงนามในปฎิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอม ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพ เมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นี่เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่ง ในการต่อต้านเฟคนิวส์ ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรคร้ายแห่งความเท็จกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน

 นอกจากไทยพีบีเอสแล้ว ยังมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ Head of Thailand and Myanmar Office , Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์กรเหล่านี้จะร่วมกัน แสวงหาแนวทางที่จะขจัด หรือช่วยให้นิเวศสื่อมีความสะอาด ปลอดภัย จากเฟคนิวส์มากขึ้น

ก่อนร่วมลงนาม “จอกอ”ได้ร่วมเสวนาหัวข้อเดียวกัน กับผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คุณก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ โดยย้ำในประเด็นที่ว่า สื่ออาชีพต้องหนักแน่นในการทำหน้าที่ กลับสู่หลักการพื้นฐาน คือการเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ครบถ้วน รอบด้าน มีแหล่งข่าวอ้างอิง เชื่อถือได้ ไม่เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวเท็จ ของผู้สร้างเฟคนิวส์

ไทยพีบีเอส ยืนยันหลักการ การทำงานเช่นนี้มาตลอด ความถูกต้อง เที่ยงตรงในแหล่งข่าวคือหัวใจสำคัญ ผู้สื่อข่าวต้องรายงานเหตุการณ์จากที่เห็นกับตาตนเอง หาข้อมูลด้วยตนเอง ใช้แหล่งข่าวปฐมภูมิที่อยู่ในเหตุการณ์ รู้เห็นเหตุการณ์จริง

เพราะความเชื่อถือคือสมบัติที่มีค่าที่สุดของความเป็นสื่อ

การเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของเฟคนิวส์นั้น  ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจากสื่ออาชีพที่เก็บเกี่ยวข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นเท็จมาเผยแพร่ต่อ โดยละเลยหลักการพื้นฐานของความเป็นสื่อ

เชื้อโรคร้ายแห่งเฟคนิวส์ กระจายตัวอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ในแต่ละวันสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ ต่างผลิตข่าวปลอม ข่าวเท็จ นักการเมืองฉ้อฉล ปล่อยข่าว สิ่งเหล่านี้ถูกแชร์ ส่งต่อ ทั้งคนที่ใช้สื่อโดยทั่วไป และสื่ออาชีพเอง

มันส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยสังคมที่เกลื่อนไปด้วยขยะข่าว จนกระทั่งกระทบไปถึงการเมืองระดับชาติ ในมาเลเซีย ยุคนายนาจิบ ราซัค มีการตรากฎหมายต่อต้านเฟคนิวส์ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งระงับการวิพากษ์วิจารณ์ กฎหมายฉบับนั้น มุ่งที่จะควบคุมสื่อท้องถิ่นและสื่อต่างชาติ ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีกองทุนเพื่อการพัฒนา หรือวันเอ็มดีบี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีราซัค ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐไปจากกองทุน

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงปัญหาของสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียบ่อยครั้ง เขาย้ำว่าสื่อเหล่านี้มีบทบาทในการขยายและสร้างความขัดแย้ง มากกว่าที่จะมีบทบาทในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

เขาเชิญชวนให้สื่อมวลชน เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย และต้องประณามคนเหล่านั้น แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะองค์กรสื่อบางองค์กรก็เป็นผู้ที่ปล่อยข่าวลือ หรือเป็นผู้หยิบฉวยเฟคนิวส์ไปขยายความต่อเสียเอง

ความจริงอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้ไวรัสเฟคนิวส์ ยังคงแข็งแรงและมีอานุภาพทำลายล้างสูง มาจากการแข่งขันในธุรกิจสื่อ ทั้งในเชิงปริมาณคือเก็บเกี่ยวข่าวสาร ข้อมูล ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ ทั้งในเชิงคุณภาพคือไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนส่งสารออกไป

ถ้าสื่ออาชีพมั่นคงในหลักการ ตื่นรู้ในการทำหน้าที่โดยวิชาชีพ ไวรัสเฟคนิวส์ก็จะฝ่อไปในที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1233 วันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์