วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อหังการ์คนทำสื่อ นกกระจอก หรือพญาอินทรี

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ปร่วมงานสำคัญ ประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก 100 ปี ชาตกาลกำพล วัชรพล และงานเปิดพิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันก่อน แม้ได้เคยรู้จักป๊ะกำพล ของคนไทยรัฐมาแล้วหลายแง่มุม แต่งานนี้ทั้งบรรยากาศการพูดคุย ภาพถ่าย เครื่องพิมพ์ ตัวเรียงพิมพ์ตะกั่ว เครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสงเครื่องแรก รวมทั้งหนังสือชุดกำพล วัชรพล บุคคลคนสำคัญของโลก

ก็ได้พบว่า มีความรู้อีกมากมายมหาศาลเสมือนฟองอากาศในมหาสมุทร ที่ “จอกอ” ยังไม่เคยรู้ เกี่ยวกับคนหนังสือพิมพ์ที่ชื่อกำพล วัชรพล

แม้ในช่วงชีวิตการเป็นสื่อของ “จอกอ” จะเป็นช่วงเดียวกับที่ป๊ะกำพล ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับวงการหนังสือพิมพ์ ทั้งในแง่การผลิตเนื้อหา และการบริหารจัดการธุรกิจสื่อ การวางระบบจัดจำหน่าย ที่สามารถกุมหัวใจเอเยนต์และสายส่ง

แต่ก็ได้แต่ซึมซับบรรยากาศความใกล้ชิดกับป๊ะกำพล เพียงได้ไปนั่งทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์เก่าไทยรัฐ ที่ซอยวรพงษ์ บางลำภู ก่อนจะย้ายมาเป็นไทยรัฐ บ้านเลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต ในตอนที่ยังไม่มีถนนเส้นนี้

ในมหาสมุทรข้อมูล ข่าวสาร ที่บอกถึงพัฒนาการการเติบโตของไทยรัฐ จากหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ เสียงอ่างทอง ไทยรัฐ จนมาเป็นไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์ นั้น บทบันทึกกำพล วัชรพล บุคคลสำคัญของโลก ฉบับการ์ตูน ด้วยฝีมือลายเส้นชัย ราชวัตร อธิบายตอนหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น

ซึ่งน่าจะหมายถึงการไม่ละเมิดสิทธิในงานของคนอื่นด้วย

หลายเดือนมานี้ มีเรื่องสะกิดใจ และชวนให้ตั้งคำถามว่า เหตุใดความเป็นนกน้อยในไร่ส้มของคนข่าว จึงเป็นได้ดีที่สุดในความรู้สึกของสังคม ก็คือนกกระจอก ไม่มีสิทธิคิดฝันจะเป็นพญาอินทรี เหมือนที่ป๊ะกำพลเป็นได้

ก็คงเพราะนักข่าว ทำตัวกระจอก ไม่มีสมอง ไม่มีความคิด ที่จะทำมาหากินเอง ไปลอกข่าวชาวบ้านแล้วทึกทักว่าเป็นข่าวของตัวเอง ได้ผลประโยชน์ของตัวเอง และก็ไปหลอกคนจ่ายค่าข่าวให้สำคัญผิดว่า เป็นข่าวที่เขาทำมาเอง

ครั้นมีปัญหา เจ้าของข่าวที่เขาทำมาด้วยความเหนื่อยยาก ด้วยสมองของเขาเอง ลุกขึ้นทวงสิทธิ ทวงทรัพย์สินทางปัญญาของเขา ซึ่งเป็นเรื่องแสนธรรมดามาก เพราะเมื่อนักข่าวเรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม เขาก็ควรจะเข้าใจว่าเขาก็มีสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมของเขาได้เช่นกัน

เรื่องแบบนี้คนปกติ ที่มีสติสัมปชัญญะปกติย่อมเข้าใจได้

แต่แทนที่จะสำนึกเสียใจ กลับใช้วิชามาร มาปกป้องความผิดของตัวเอง วิ่งไปฟ้องแม่ เหมือนเด็กเล็กๆที่ยังไม่รู้ความ

 จอกอ” เป็นนักข่าวมา 40 ปี เป็นบรรณาธิการมา 16 ปี ถูกฟ้องทั้งคดีหมิ่นประมาท คดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีลิขสิทธิ์ มานับร้อยเรื่อง ซึ่งแน่นอนในฐานะบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดเหล่านั้นแม้เพียงเล็กน้อย

ไม่มีแม้สักเรื่องหนึ่งที่จะวิ่งไปร้องหาให้คนช่วย เพราะลูกผู้ชายทำผิด ก็ต้องยอมรับผิด ถ้าสอบสวนทวนความแล้ว พบว่าเราเป็นฝ่ายผิด  “จอกอ” ไม่เคยรีรอที่จะยอมรับผิด แต่ถ้าไม่ผิดก็ต้องสู้กันหัวชนฝา เพื่อพิสูจน์ว่าได้ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามหลักการแล้ว

วิถีลูกผู้ชาย เขาเป็นกันเช่นนี้

ความเป็นนักข่าวนั้น อาจแตกต่างจากคนทั่วไป เพราะนักข่าวไม่ได้ทำมาหากินเพียงให้ได้เงินมายังชีพเท่านั้น หากคนเป็นนักข่าวยังต้องมีความรับผิดชอบ มีศักดิ์ศรี ที่ผู้คนจะให้ความเชื่อถือ และวางใจด้วย

ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมข้อหนึ่งของ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เขียนชัดว่า “เมื่อคัดลอกข้อความใดจากหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆต้องบอกที่มาของข้อความนั้น” นั่นเป็นความหมายที่ชี้ความผิดในแง่ของจริยธรรม  โดยนัยเดียวกัน ก็เป็นความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ในบางสถานการณ์ เราอาจยืนยันหลักการในการทำงานสื่อที่สุจริต ตรงไปตรงมาไม่ได้ อาจมี “ตัวแปร”อื่นๆ เข้ามารบกวน ตามธรรมดา ธรรมชาติ ของสังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ แต่อย่างน้อย “ลานนาโพสต์”ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆฉบับหนึ่ง ซึ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั้งระบบด้วย คือหลักการ คือจิตวิญญาณที่ยังต้องรักษาไว้

แพ้ชนะไม่สำคัญ สำคัญว่าเราจะยืนอยู่อย่างผู้ใหญ่ที่ผู้คนเคารพ มีศักดิ์ศรี ไว้วางใจได้ หรือเราจะเป็นเพียงเด็กน้อย ที่ไปขโมยของคนอื่นเขา พอถูกจับได้ก็วิ่งไปฟ้องแม่เท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1243 วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์