วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สื่อขยะ ตอกย้ำความขัดแย้ง ยานเกราะยุค 4.0

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

คำบรรยายเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แม้จะจินตนาการไปไกลโพ้นไปถึงคอมมิวนิสต์ที่ตายแล้ว แม้จะกล่าวถ้อยคำให้เห็นภาพ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ซึ่งตั้งพรรคการเมือง แล้วรับแผนมาจาก “มาสเตอร์มายด์” ใช้โซเชียลมีเดีย หลอกลวงเด็กรุ่นใหม่ให้หลงเชื่อ คำเหล่านี้ จะไม่ลุกลามใหญ่โตเลย หากสื่อไม่ไปขยายความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับข่าวนี้จนเกินควร

ข่าวเลอะเทอะข่าวนี้ ก็จะเป็นเพียงข่าวที่สะท้อนความหลงยุคของผู้นำกองทัพ ที่หาสาระอะไรไม่ได้ แต่เมื่อมันถูกประกอบสร้างให้ดูเป็นเรื่องจริงจัง มีการทำซ้ำ โดยสื่อที่เลือกข้างฝ่ายอำนาจ ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็ไม่แตกต่างไปจาก วิทยุยานเกราะ ยุค พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ที่ใช้คลื่นวิทยุยานเกราะ เป็นเครื่องมือยั่วยุ ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา

สถานีวิทยุยานเกราะ ได้ร่วมกับผู้บริหารสถานีวิทยุต่างๆ 260 สถานี และผู้จัดรายการจำนวนมาก ในนามชมรมวิทยุเสรี ส่งกระจายเสียงข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ โจมตีนักศึกษา ซึ่งพวกเขาเรียกว่าเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ และใช้บทเพลง “หนักแผ่นดิน” ตอกย้ำความเกลียดชัง ไม่ผิดแผกไปจากบรรยากาศวันบรรยายของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในวันนี้

“…นี่ก็เรียกว่ามีข่าวที่น่า…เรียกว่าน่าคิดก็แล้วกันนะครับว่าที่โรงพักจักรวรรดิได้รับแจ้งว่ามีรถบัสใหญ่บรรทุกปืนเต็มเลยนะครับ แล้วก็มีธงแดงติดอยู่ที่ข้างรถมาทางถนนอรุณอัมรินทร์ไปทางสี่แยกบ้านแขกได้มีการยิงปืนขึ้นฟ้าด้วยนะครับ…”

“…ท่านผู้ฟังครับ ขณะนี้มีข่าวยืนยันที่แน่นอนมาแล้วครับ เมื่อเวลา 9 นาฬิกา 18 นาที ได้มีนักศึกษาสี่ถึงห้าคนนำถังน้ำมันประมาณสิบถังไปอยู่ที่บริเวณวัดบวรฯ ครับ โปรดฟังอีกครั้งครับ ข่าวยืนยันที่แน่นอน มีนักศึกษาประมาณสี่ห้าคนนำถังน้ำมันประมาณสิบถังไปอยู่ที่บริเวณวัดบวรฯ ครับ…”

นี่คือ สิ่งที่ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ อธิบายว่าเป็นความพยายาม เพื่อ “ผ่อนคลายความกราดเกรี้ยวของประชาชน” ที่มีต่อนักศึกษาหลังภาพข่าวการแสดงล้อเลียนการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าเผยแพร่ออกไป

แน่นอนสื่อมวลชน สามารถทำงานได้อย่างอิสระ วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ วิพากษ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐ หรืออิทธิพลใดๆ แต่การทำหน้าที่เช่นนั้น ต้องมีความรับผิดชอบ ทั้งความรับผิดชอบด้านกฎหมาย และความรับผิดชอบในกรอบจริยธรรม

สื่อก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป มีทัศนคติ มีความคิดทางการเมือง มีอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ มากกว่าเหตุผล แต่การทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ ทำหน้าที่หน้าจอ ต้องแยกแยะอคติส่วนตัวออกจากรายงานข่าวให้ได้ นี่มิใช่ความเป็นกลาง แต่เรียกว่าความไม่ลำเอียง

ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อ ที่จะเป็นเช่นเดียวกับวิทยุยานเกราะในอดีตยุค 6 ตุลา ที่ยั่วยุ ทำซ้ำ วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง ถ่ายทอดวาทกรรมแห่งความเกลียดชังของผู้นำกองทัพ ที่มีแต่จะตอกย้ำความขัดแย้งในสังคมให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น

สื่อพึงเคารพความคิดเห็นที่หลากหลาย ความเห็นของผู้นำกองทัพก็เป็นความเห็นหนึ่งที่ควรให้ความเคารพ แต่ควรให้เกิดความสมดุลกับความเห็นอื่นๆ เปิดพื้นที่ความเห็นที่แตกต่าง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องให้สังคมรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการ หากเป็นเพียงลิ่มที่ตอกย้ำความขัดแย้ง เพื่อวาระแอบแฝงบางอย่างเท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1247 วันที่ 18 - 31 ตุลาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์