วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โซนนิ่งปลูกลำไย ดันตลาดแข่ง AEC


เกษตรจังหวัดลำปางจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกลำไย พร้อมดันพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นลำไยอินทรีย์ปลอดสารพร้อมรับการแข่งขันตลาด AEC ด้านผลวิจัยแม่โจ้โพลชี้รัฐควรหนุนพัฒนาความรู้ในการปลูกลำไยให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต่าง ประเทศต้องการ

นายชาตรี บุญนาค เกษตรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ลำไยเป็น 1 ในพืช 7 ชนิดที่ต้องจัดโซนนิ่งในพื้นที่จังหวัดลำปาง เนื่องจากลำไย เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของภาคเหนือตอนบน ขณะนี้ได้วางแนวทางส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ จ.ลำปาง ในปี 2556 – 2557 ซึ่งจะดำเนินการในเรื่องของเกษตรปลอดภัย โดยจะส่งเสริมการปลูกลำไยในพื้นที่ให้เหมาะสมตามนโยบายโซนนิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดโซนนิ่งของการปลูกลำไย ซึ่งเป็น 1 ในพืช 7 ชนิด ที่ต้องจัดโซนนิ่งในพื้นที่ จ.ลำปาง ดังนั้น จ.ลำปาง จึงจะได้ส่งเสริมการผลิตลำไยแบบไทยที่ปลอดภัย และได้มาตรฐานแบบครบวงจร โดยเน้นการงดใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่ป้องกันแมลง หรือการเร่งการเจริญเติบโต เพื่อให้ผลผลิตที่ได้สด เป็นธรรมชาติ และเป็นลำไยอินทรีย์มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังจะต้องส่งเสริมในเรื่องของการตลาด การบรรจุภัณฑ์ และการแปรรูปลำไยของ จ.ลำปาง เพื่อให้เป็นลำไยแปรรูปที่มีมาตรฐานได้ราคาสูงขึ้น ที่สำคัญจะต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไย ให้พร้อมรับการการค้า ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  ด้วย เนื่องจากลำไย เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของภาคเหนือตอนบน 

สำหรับ ในพื้นที่ จ.ลำปาง มีเกษตรกรในจังหวัดปลูกลำไยทั้ง 13 อำเภอ โดยมีข้อมูลเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกไว้ 22,330 ไร่ เกษตรกร 2,840 ราย ทั้งนี้ ผลผลิตในปีที่ผ่านมามีทั้งหมด 5,605 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 315 กิโลกรัมต่อไร่

ผศ.ดร.สุ รชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร หรือ “แม่โจ้โพลล์” ได้ทำการสำรวจ ความคิดเห็นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน จำนวน 370 ราย ระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-31 ส.ค.2555 ต่อความคิดเห็น เรื่อง "ชาวสวนลำไยกับการ เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

ผลสำรวจพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมีความเห็นว่า มีทั้งผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับชาวสวนลำไยเมื่อเปิดAEC โดยชาวสวนลำไย ร้อยละ 62.7 เห็นว่าจะเป็นผลดี เพราะจะทำให้เกิดการกระจายสินค้า มีการลดภาษีทางการค้าทำให้การส่งออกลำไยไปยังประเทศต่างๆ ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 33.2 บอกว่าไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปิดAEC และร้อยละ 4.1 เห็นว่าจะเป็นผลเสีย 

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อเข้าสู่ AEC พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 73.2 เห็นว่าควรพัฒนาความรู้ในการปลูกลำไยให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต่าง ประเทศต้องการ อันดับ 2 ร้อยละ 57.6 เห็นว่าควรพยายามรวมกลุ่มกันเป็นสถาบันเกษตรกร เพื่อให้มีอำนาจในการเจรจาการค้า อันดับ 3 ร้อยละ 56.8 เห็นว่าควรพัฒนา ประสิทธิภาพในการผลิต ให้มีผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 54.1 เห็นว่าควรมีการติดตามข่าวสารเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยน แปลงเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และอันดับ 5 ร้อยละ 52.2 เห็นว่าควรหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่ม ศักยภาพในการแข่งขัน 

สำหรับ ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ชาวสวนลำไย เพื่อเข้าสู่ AEC ชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.9 เห็นว่า ควรให้ความรู้แก่ชาวสวนในเรื่องระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนนโยบายที่จะรองรับเมื่อเข้าสู่การเป็นสมาคมอาเซียน รองลงมา ร้อยละ 40.7 ควรช่วยเหลือชาวสวนลำไยเรื่องการผลิต เช่น การลดต้นทุนและการผลิตลำไยอินทรีย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ แข่งได้และเป็นการพัฒนาคุณภาพลำไยให้ตรงตามความต้องการของตลาด และ ร้อยละ 5.4 เสนอว่าควรมีการหาตลาดรองรับผลผลิต ลำไย ให้มีตลาดการส่งออกที่กว้างขึ้น 

 “การเข้าสู่เออีซี อาจจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อภาคการเกษตรไทย ไม่ว่าด้านระบบการผลิต การตลาด การแปรรูป รวมทั้งกฎ ระเบียบข้อบังคับในการเข้าร่วม ซึ่งถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะได้รับทราบ ถึงขั้นตอนและกระบวนการ โดย เฉพาะภาคการเกษตรทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะชาวสวนลำไย เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตและการแข่งขัน การให้ความรู้ความ เข้าใจแก่เกษตรกรเพื่อให้เกิดผลดีและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่สินค้าเกษตร ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” ผศ.ดร.สุรชัย กล่าว

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์