ใกล้งานประเพณีสรงน้ำเจดีย์ประจำปี
2557 ของวัดป่ารวกเข้ามาทุกขณะ
บริเวณวัดที่เคยเงียบสงบจึงคึกคักด้วยชาวบ้านละแวกใกล้
ซึ่งมาร่วมใจกันตระเตรียมงาน หยิบจับโน่นนี่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
พระเณรเดินกันขวักไขว่ เณรน้อยยกเบาะนั่งมาปัดฝุ่น ขณะพระผู้ใหญ่นั่งลงหารือถึงงานในวันพรุ่งนี้
วัดป่ารวกตั้งอยู่บริเวณปากลำห้วยแม่กระติ๊บ
ใกล้กับค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตามตำนานพระธาตุเสด็จลำปางกล่าวว่า
บริเวณนี้เป็นชัยภูมิสำคัญสมัยสร้างเมืองเขลางค์ โดยเมื่อครั้งที่พระสุพรหมฤาษีพาพระนางจามเทวีผู้ครองเมืองหริภุญไชย
พร้อมด้วยพระราชโอรส คือ พระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ มาประทับที่สะเตินดอย
หรือดอยน้อย เหนือบ้านพรานเขลางค์ ซึ่งเรียกว่า ข่วงเมง (บริเวณค่ายทหารในปัจจุบัน)
จากนั้นพระสุพรหมฤาษีได้ใช้พื้นที่ข่วงเมงนี้ เนรมิตเมืองกว้าง-ยาวด้านละ 500 วา
แล้วทำพิธีให้เจ้าอนันตยศเป็นผู้ครองเมือง
นอกจากนี้
วัดป่ารวกยังมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของค่ายสุรศักดิ์มนตรี
โดยเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเสร็จสิ้นการปราบกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่
ท่านได้เดินทางมายังเมืองลำปางเพื่อหารือกับเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย
ถึงการจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้นที่เมืองลำปาง
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงมีพระบรมราชานุญาต ก็ได้มีการจัดตั้งกองทหารขึ้นครั้งแรกบริเวณวัดป่ารวก
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2448 เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตทรงเห็นว่าค่ายทหารตั้งอยู่ในวัดป่ารวกนั้นไม่เหมาะสม
จึงอุทิศที่ดินของท่านที่อยู่ริมฝั่งห้วยแม่กระติ๊บให้เป็นที่ตั้งของค่ายทหารแทน
บางช่วงบางตอนของวัดป่ารวกที่มีความเชื่อมโยงกับพระนางจามเทวีนี้เอง
ทำให้กล่าวกันว่า เจดีย์องค์เดิมของวัดนั้นสร้างในสมัยเจ้าแม่จามเทวี
แต่คหบดีชาวพม่าผู้ร่ำรวยจากการค้าไม้ ชื่อพ่อเฒ่าวุฒิก่า
ได้มาบูรณะโดยการสร้างเจดีย์ศิลปะพม่าครอบทับเจดีย์องค์เก่าที่ทรุดโทรมองค์นั้น
คติในการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์องค์เก่าเช่นนี้
ถือเป็นธรรมเนียมโบราณในการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์
ซึ่งจะไม่มีการทุบทำลายเจดีย์องค์เดิมทิ้ง และพบทั่วไปในดินแดนล้านนา
ส่วนคำว่า
“เจดีย์” มาจากคำว่า “เจติย” (Cetiya) ในภาษาบาลี หรือ “ไจติย” (Caitiya) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง
สิ่งที่เป็นเครื่องรำลึกถึง โดยไม่ได้บ่งถึงรูปแบบของสิ่งนั้น ซึ่งอาจเป็นสถานที่
หรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักหมายถึงสถานที่ สิ่งของ
สิ่งก่อสร้าง
หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นพระธรรมคำสอนที่ใช้สำหรับแสดงความระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจดีย์วัดป่ารวกที่ตระหง่านเงื้อมในวันนี้มีสีสันอยู่ด้วยธงทิว
เจดีย์เก่าแก่ที่ปรากฏชื่อในจารึกด้านหน้าว่าเจดีย์ “ดวงงาม” แม้ดูทรุดเอียงลงเพราะกาลเวลา แต่ก็ยังคงเค้าของความงามขรึมขลัง เจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะพม่า
มีบันไดทางขึ้นผ่านซุ้มประดับลายปูนปั้นทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบโดยตลอด
ฐานกว้างด้านละ 15 เมตร นอกจากนี้ ยังมีนรสิงห์และสิงห์ประดับเจดีย์อยู่โดยรอบ
เจดีย์ดวงงามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยจะมีประเพณีสรงน้ำเจดีย์ทุกปีในวันขึ้น
15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ หรือ 4 เป็ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557
นอกจากเจดีย์แล้ว
วัดป่ารวกยังมีวิหารศิลปะพม่าที่เรียบง่าย วิหาร หรือจองในความหมายของพม่า
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนฐานชุกชี เป็นศิลปะพม่า 5 องค์
และยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่อีกหลายองค์เรียงรายอยู่ด้านหน้า
เพดานสีแดงชาดปรากฏลายคำงามน่าชม มีดาวเพดานขนาดใหญ่สวยไม่เหมือนที่อื่นใด นับเป็นวัดพม่าที่ไม่ได้งามแบบจับตา
แต่ง่ายงามแบบจับใจ