วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปักหมุดลำปาง รถไฟเร็วสูง ซื้ออนาคตเชื่อมโยงพม่า




วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก - เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอความสำคัญ ขอบเขตการดำเนินงาน และรูปแบบแนวเส้นทางเลือกพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมี นายศุภชัย  เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้แทนจากหน่ายงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น 

การสัมมนาดังกล่าวได้กล่าวถึงภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) เกือบเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการฯ ระยะที่ 2 (พิษณุโลกฯ- เชียงใหม่) ซึ่งจะตัดผ่านจังหวัดลำปางด้วยเช่นกัน โดยการสัมมนาดังกล่าวได้ เสนอแนวทางเลือกของการพัฒนาเส้นทาง ระยะที่ 2 ดังกล่าว 3 เส้นทาง ซึ่งจะเป็นเส้นทางจากอำเภอเมือง อำเภอพรมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เข้าสู่ เส้นทางเลือก 3 ทาง คือ 
          ทางเลือกที่ 1 ระยะทาง 299 กม.เป็นเส้นทางตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมเป็นหลัก และปรับระยะรัศมีทางโค้งให้ รถไฟความเร็วสูงวิ่งด้วยความเร็วได้  โดยมีสถานี 5 แห่ง คือ อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ 
          ทางเลือกที่ 2 ระยะทาง 315 กม. เป็นเส้นทางตัดเข้าใกล้ตัวเมืองจังหวัดแพร่ และตัดเข้าเส้นทางรถไฟเดิม ที่ .แม่ทะ .ลำปาง มีสถานี 5 แห่ง คือ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ 
          ทางเลือกที่ 3 ระยะทาง 293 กม. จากพิษณุโลก ไป สุโขทัย สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย เข้าเมืองลำปาง  เชื่อมเส้นทางรถไฟเดิม ยกเว้นช่วงภูเขา ดอยขุนตาล จะตัดเส้นทางใหม่   ให้สามารถทำความเร็วได้ 

ซึ่งแต่ละเส้นทางจะต้องศึกษาผลกระทบทุกด้าน และการเวนคืนที่ดิน และการเอื้อประโยชน์ให้มากที่สุด บางส่วนมีความเห็นว่าการเลือกเส้นทางที่ 3 จะมีความเป็นไปได้สูงเนื่องจากไม่ต้องผ่านเส้นทางป่าสงวน และเอื้อประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงเส้นทางไปอำเภอแม่สอด .ตาก ถึงพม่า ในอนาคต 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้สัมภาษณ์ ว่า โครงการศึกษาระยะ 2 ดังกล่าว เป็นช่วงเริ่มต้น หลังจากดำเนินการมาได้ 3 เดือนแล้ว จากระยะเวลาศึกษาออกแบบทั้งหมด 14 เดือน ในส่วนของเส้นทางระยะที่ 2 ไม่น่าหนักใจเนื่องจากบางทางเลือกมีทางรถไฟเดิมเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะมีการตัดเส้นทางใหม่ผสมกับเส้นทางรถไฟเดิม ในส่วนของเส้นทางช่วงลำปาง-ลำพูน ที่มีภูเขา ดอยขุนตาลนั้น มองว่าอาจจะมีการตัดเส้นทางใหม่เป็นทางยกระดับข้ามภูเขา แต่ต้องทำให้สวยงามไม่ขัดต่อทัศนียภาพและธรรมชาติ นอกจากนี้ยังต้องศึกษา ละเอียดถึงเส้นทางเพื่อระวังไม่ให้ตัดผ่านจุดต้นน้ำใดๆ

"ในส่วนของสถานีรถไฟนครลำปาง  มองว่าสถานีรถไฟเดิมมีศักยภาพและความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นสถานีรถไฟฟ้าแทนการเลือกพื้นที่ใหม่เพื่อก่อสร้างสถานีซึ่งอาจมีข้อจำกัดหลายอย่าง หากทำที่สถานีเดิมนอกจากจะง่ายต่อการพัฒนาแล้วยัง มีผลทางการท่องเที่ยวด้วย เพราะรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ผู้โดยสารอาจลงแวะระหว่างทาง แล้วขึ้นต่อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะจะมีรถไฟทุกๆชั่วโมงอยู่แล้ว ทั้งนี้จะเป็นโอกาสด้านรายได้เข้าท้องถิ่นตามจุดที่มีสถานีต่างๆ ในอนาคตลำปางจะเป็นจุดตัดและเชื่อมโยงการขนส่งทางบกที่มีศักยภาพแน่นอน

อย่างไรก็ตามกล่าวว่า เส้นทางที่ 3 อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาในอนาคต เพื่อรองรับการค้าชายแดน .แม่สอด .ตาก ทั้งนี้ต้องรอดูข้อมูลและผลการศึกษาออกแบบที่สมบูรณ์อีกครั้ง 

รายงานข่าวล่าสุดว่า เร็วๆนี้มีโครงการรถไฟสายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ"  จะเปิดพื้นที่ใหม่ 4 จังหวัดคือ เชียงราย แพร่ ลำปาง พะเยา 326 กิโลเมตร วงเงิน 77,485 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูลในปี 2557 มี 26 สถานี อาทิ สถานีเด่นชัย งาว ปงเตา มหาวิทยาลัยพะเยา ป่าแดด ฯลฯ ก่อสร้างบนแนวเขตทาง 50 เมตร เวนคืนที่ดิน 10,000 ไร่
ถนนเชื่อมAEC

ด้าน "ถนน" ภาคเหนือตอนบน มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 4 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา เชียงราย ตาก ได้แก่ ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอด รวมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงิน 1,750 ล้านบาท, ถนน 1021 สายดอกคำใต้-เทิง ตอน 1-2 วงเงิน 4,350 ล้านบาท และสาย 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ตอน 4 วงเงิน 720 ล้านบาท

อีกทั้งมีโครงการ "บูรณะทางสายหลักระหว่างภาค" อีก 24 โครงการใน 9 จังหวัด วงเงิน 10,950 ล้านบาท อาทิ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ช่วงเถิน-ลำปาง วงเงิน 900 ล้านบาท, ช่วงลำปาง-งาว วงเงิน 1,350 ล้านบาท, ช่วงแม่คำ-แม่สายตอน 1-2 วงเงิน 136 ล้านบาท, ช่วงตาก-พะเยา ตอน 1-2 วงเงิน 1,681 ล้านบาท, ช่วงนครสวรรค์-ตาก ตอน 1-2 วงเงิน 2,850 ล้านบาท ฯลฯ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 965  ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2557) 

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์